คลองบางแก้ว (จังหวัดนครปฐม)

คลองในจังหวัดนครปฐม

คลองบางแก้ว เป็นคลองธรรมชาติ เป็นคลองสาขาที่แยกออกจากแม่น้ำนครชัยศรี มีคลองสาขาต่าง ๆ เช่นห้วยจรเข้ คลองบางแขม และคลองหนองดินแดง คลองบางแก้วที่บริเวณธรรมศาลา ได้แยกออกเป็นสองสาย สายหนึ่งไปบรรจบกับคลองเจดีย์บูชา อีกสายหนึ่งแยกขึ้นไปเป็นคลองบ้านภูมิ ต่อไปเป็นห้วยจรเข้ผ่านบ้านหนองขาหยั่งเรียกว่า คลองบางแขม ผ่านบ้านหนองดินแดงเรียกว่า คลองหนองดินแดง ต่อขึ้นไปเป็นคลองบางตาลและคลองยาง ส่วนหนึ่งของคลองของเส้นแบ่งเขตจังหวัดนครปฐมกับจังหวัดราชบุรี แล้วไปบรรจบแม่น้ำแม่กลองที่บ้านท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี[1]

คลองบางแก้วไหลผ่านพื้นที่ทางทิศใต้เมืองนครปฐมโบราณ โดยแยกออกเป็นทางน้ำ 2 สาย ทางน้ำสายแรกไหลเข้าสู่ทิศใต้ของเมืองเป็นคลองเมืองทางด้านใต้และรวมกับห้วยจระเข้ซึ่งเป็นคลองทางทิศตะวันตกของเมืองนครปฐมโบราณ มีชื่อเรียกคลองเมืองทางทิศใต้ในระยะนี้ว่า คลองพญากง และไหลออกไปทางทิศตะวันออกไปรวมกับลำน้ำบางแก้วทางวัดธรรมศาลา ส่วนทางน้ำอีกสายหนึ่งไหลผ่านพื้นที่ใต้เมืองนครปฐมโบราณ เรียกลำน้ำนี้ว่า คลองพญาพาน[2]

คลองบางแก้วเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสำรวจองค์พระปฐมเจดีย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สถานที่ริมคลอง แก้

วัดที่ตั้งอยู่ริมคลองได้แก่ วัดธรรมศาลา วัดโคกพระเจดีย์ วัดบางแก้ว วัดไทร วัดท่าตำหนัก วัดตุ๊กตา และวัดกลางบางแก้วซึ่งอยู่ตรงปากคลองที่บรรจบกับแม่น้ำนครชัยศรี ส่วนใหญ่เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าวัดกลางบางแก้วน่าจะเป็นวัดประจำเมืองนครชัยศรีสมัยอยุธยา[3] ส่วนวัดธรรมศาลาปรากฏเจดีย์สมัยทวารวดี คาดว่าสร้างขึ้นราว 1,000 ปีมาแล้ว[4]

การปรากฏหลักฐานในนิราศ แก้

ใน นิราศพระแท่นดงรัง ที่แต่งเมื่อ พ.ศ. 2379 หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) ได้เดินทางจากพระนครไปนมัสการพระแท่นดงรัง ได้ขึ้นบกที่ท่าริมคลองบางแก้ว ตำบลท่าพระยา อำเภอนครชัยศรี จากนั้นได้โดยสารต่อด้วยเกวียนเทียมควาย ผ่านบ้านธรรมศาลา แวะนมัสการพระปฐมเจดีย์แล้วเดินทางต่อไปพระแท่นดงรัง[5]

นอกจากนั้นยังมีวรรณคดีนิราศที่แต่งขึ้นในโอกาสที่กวีเดินทางไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ เท่าที่พบในปัจจุบันมีอยู่ 3 เรื่อง คือ นิราศพระประธมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท แต่งเมื่อ พ.ศ. 2377 นิราศพระประธม ของสุนทรภู่ แต่งเมื่อ พ.ศ. 2375 และ นิราศพระปฐม ของหลวงจักรปาณี (ฤกษ์) แต่งเมื่อ พ.ศ. 2417 ล้วนใช้เส้นทางเดินทางเดียวกันจากคลองบางกอกน้อย แล้วมาขึ้นบกที่วัดท่าตำหนัก ก่อนเดินทางต่อด้วยเกวียนหรือช้างสู่จุดหมายปลายทางที่วัดพระปฐมเจดีย์[6]

อ้างอิง แก้

  1. "มรดกทางธรรมชาติ".
  2. พนมกร นวเสลา. "นครปฐมเมืองท่าแห่งสหพันธรัฐทวารวดี". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-14. สืบค้นเมื่อ 2022-07-31.
  3. "ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๒๖ จังหวัดนครปฐม". กรมศิลปากร.
  4. "ขุด เจดีย์วัดธรรมศาลา สมัยทวารวดี - ปัญหาเจดีย์ทวาฯ มีรูปลักษณ์อย่างไร". สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส.
  5. "นิราศพระแท่นดงรัง 1". นามานุกรมวรรณคดีไทย.
  6. "นครปฐมและพระปฐมเจดีย์ในวรรณคดีนิราศ". สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย.