ครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

ครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เป็นเครื่องแต่งกายสำหรับใช้ประกอบวิทยฐานะของนักศึกษาปัจจุบัน นักศึกษาเก่า คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร

ผู้ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สวมครุยวิทยฐานะ

ประชาคมมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดซึ่งเข้าร่วมพิธีต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย จะต้องสวมเครื่องแบบสับฟัสก์ (subfusc) ซึ่งประกอบด้วย กางเกงหรือกระโปรงดำ เสื้อเชิ้ตคอปกสีขาว ผ้าผูกคอสีขาวหรือแถบผูกคอสีดำ ถ้าจำเป็นอาจใส่เสื้อสูทหรือเสื้อกั๊ก[1][2] ก่อนสวมครุยวิทยฐานะ

ครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ทำจากผ้าหรือแพรสีดำเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นครุยปริญญาเอกอย่างเต็มยศซึ่งใช้สีแดงชาดเป็นพื้น หลักการใช้สีนี้ยังยึดถือในมหาวิทยาลัยสหราชอาณาจักรตั้งแต่รุ่นกลางไปจนถึงอายุมาก รวมถึงเป็นที่มาของสีของสำรดของครุยวิทยฐานะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสีพื้นของครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ครุยนักศึกษา แก้

นักศึกษาปัจจุบันของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เมื่อมีพิธีการหรือการสอบ (รวมถึงสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก) จะสวมครุยวิทยฐานะซึ่งเป็นเสื้อกั๊กสีดำ ตอนหน้าอกเปิดกว้าง มีแถบผ้ายาวห้อยที่ไหล่ทั้งสองข้าง สาบหน้าพับเป็นครีบประมาณสองนิ้วครึ่ง ความยาวของเสื้อประมาณบั้นท้ายสำหรับปริญญาตรี และประมาณเหนือเข่าสำหรับปริญญาโทและเอก สำหรับนักศึกษาปริญญาตรีที่มีผลการเรียนดี จะสวมครุยวิทยฐานะซึ่งเป็นเสื้อคลุมสีดำ ตอนหน้าอกเปิดกว้าง แขนเสื้อยาวเสมอข้อมือ ด้านหลังยาวกว่าด้านหน้าเล็กน้อย สาบหน้าพับเป็นครีบประมาณสองนิ้วครึ่ง ครุยวิทยฐานะนี้จะต้องสวมทับสับฟัสก์เสมอ[1]

ครุยบัณฑิต แก้

บัณฑิตปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด จะสวมครุยวิทยฐานะซึ่งเป็นเสื้อคลุมทรงบาทหลวงอังกฤษ ยาวจากบ่าลงไปครึ่งน่อง หลังและไหล่ทำเป็นจีบ ตอนหน้าอกเปิดกว้าง สาบหน้าพับเป็นครีบกว้างประมาณสองนิ้วครึ่ง แขนเสื่้อยาวเสมอข้อมือ ด้านหลังแหลมยาวกว่าด้านหน้าเล็กน้อย บางร้านอาจให้ยาวเสมอชายเสื้อ แล้วสวมผ้าคล้องคอตามวิทยฐานะ

บัณฑิตปริญญาโท จะสวมเสื้อคลุมคล้ายปริญญาตรี ต่างแต่แขนเสื้อยาวถึงชายเสื้อ เย็บปิดเป็นถุง มีรอยตัดรูปวงเดือนปลายแขนหันไปด้านนอกตัว กลางแขนมีช่องเจาะสำหรับสอดมือ มีลวดลายประดับที่ช่องเจาะแขน เว้นแต่บัณฑิตปริญญาตรีที่ปรับสถานะเป็นศิลปศาสตรมหาบัณฑิต จะไม่มีลายประดับ อนึ่ง ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตจะให้แก่บัณฑิตปริญญาตรีหลังจากที่ลงทะเบียนเรียนครั้งแรก 21 ภาคการศึกษา เช่น หากเรียนหลักสูตรปริญญาตรี 3 ปี นับหลังสำเร็จการศึกษาไป 4 ปี จะมีฐานะเป็นปริญญาโท แต่หากเรียนหลักสูตรปริญญาตรีควบโท ก็ถือว่ามีฐานะเป็นปริญญาโทนับแต่สำเร็จการศึกษา

ผ้าคล้องคอของบัณฑิตและมหาบัณฑิต ใช้แบบชั้นเดียว ปริญญาตรี (ศิลปศาสตรบัณฑิต) ด้านนอกสีดำ ด้านในบุขนกระต่าย (ปัจจุบันใช้ขนสัตว์เทียมสีขาว) ปริญญาโท (ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ไม่ใช่ปริญญาอื่น) ด้านนอกสีดำ ด้านในเป็นผ้ามันสีแดง ส่วนปริญญาอื่นก็จะใช้สีบุแตกต่างกันไป เช่น

  • แพทยศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Medicine and Bachelor of Surgery; MB BCh) — ด้านนอกสีเขียว บุครึ่งหนึ่งและบุขอบด้วยขนกระต่ายสีขาว
  • วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต — ด้านนอกสีฟ้า บุในและบุขอบด้วยผ้ามันสีเทา
  • ดนตรีบัณฑิต — ด้านนอกสีม่วง บุครึ่งหนึ่งและบุขอบด้วยขนกระต่ายสีขาว
  • ปรัชญาบัณฑิต และปรัชญามหาบัณฑิต (คือ นักศึกษาดุษฎีบัณฑิตซึ่งสอบเลื่อนชั้นไม่ผ่านหรือไม่มีความก้าวหน้าทางการศึกษาพอได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต) — ด้านนอกสีน้ำเงิน บุในด้วยผ้ามันสีขาว

บัณฑิตปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มีครุยสามประเภทให้ใช้งานในโอกาสแตกต่างกัน คือ ครุยเต็มยศสำหรับฆราวาส (full-dress gown) ครุยเต็มยศสำหรับพระ (convocation habit) และครุยครึ่งยศ (undress gown)

ในพิธีมงคลหรือการฉลองสำคัญ ดุษฎีบัณฑิตจะสวมครุยเต็มยศสำหรับฆราวาส ซึ่งเป็นเสื้อคลุมทรงบาทหลวง หลังและไหล่จีบ ตอนหน้าอกเปิดกว้าง ทำด้วยผ้าหรือแพรสีแดงชาด สาบหน้าทำเป็นครีบกว้าง 5 นิ้ว สาบหน้าและแขนเสื้อท่อนล่างหุ้มด้วยผ้ามันสีตามปริญญา เช่น น้ำเงิน สำหรับปรัชญาดุษฎีบัณฑิต เทา สำหรับอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Letters) บานเย็น สำหรับนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Law) สองปริญญาหลังปกติจะใช้เป็นปริญญากิตติมศักดิ์ เมื่อสวมครุยเต็มยศแล้วจะไม่สวมผ้าคล้องคอ

ดุษฎีบัณฑิตอาจสวมครุยครึ่งยศ ซึ่งเป็นครุยปริญญาโทประดับด้วยแถบลายสีดำพร้อมผ้าคล้องคอทรงสองชั้น ด้านนอกสีแดงชาด ด้านในเป็นสีประจำปริญญาในบางโอกาส หากเป็นการสมควร จะสวมทับด้วยครุยเต็มยศสำหรับพระ โดยดึงแขนเสื้อของครุยครึ่งยศออกไปด้านนอกก็ได้

ครุยเต็มยศสำหรับพระ ใช้สำหรับดุษฎีบัณฑิตซึ่งสวมครุยครึ่งยศอยู่แล้ว หรือจะใช้สำหรับบาทหลวงซึ่งมีเสื้อคลุมอยู่แล้ว มีลักษณะคล้ายเสื้อครุยเต็มยศสำหรับฆราวาส แต่ไม่มีสาบหน้าและไม่มีแขน ตอนหน้าอกปิดด้วยกระดุมผ้าสีตามปริญญาสองดุม

ครุยประจำตำแหน่ง แก้

นอกจากครุยบัณฑิตแล้ว ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยมีสิทธิใช้ครุยประจำตำแหน่ง หากเป็นตำแหน่งสูงจะใช้ครุยเช่นเดียวกับประธานสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีว่าการยุติธรรม

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "Academic dress". University of Oxford. สืบค้นเมื่อ 30 October 2021.
  2. "Regulations Relating to Academic Dress" (PDF). Oxford University Gazette. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 5 March 2016. สืบค้นเมื่อ 22 June 2015.
  • Shaw, G. W. (1995) Academical Dress of British and Irish Universities, Chichester: Philmore & Co. Ltd, ISBN 0-85033-974-X
  • Venables, D. R. (2009) Academic Dress of the University of Oxford, Oxford: Mayfield Press, ISBN 978-0-9521630-1-5
  • Kerr, Alex (ed.) (2005) The Burgon Society Annual 2004, The Burgon Society. OCLC 226059857