ขีปนาวุธทิ้งตัว
ขีปนาวุธ (อังกฤษ: Ballistic missile) หมายถึงอาวุธปล่อย (missile) ชนิดหนึ่ง ที่ใช้นำส่งหัวรบหนึ่งหัวหรือมากกว่าเพื่อทำล้ายล้างเป้าหมายในวงกว้างหรือหลายเป้าหมายในการยิงครั้งเดียว โดยจะมีการบังคับวิถีในขาขึ้น ซึ่งมักอาศัยระบบนำวิถีด้วยแรงเฉื่อย (inertial navigation) หรือด้วยเทหวัตถุ (celestial navigation) เป็นหลัก ขณะที่ขีปนาวุธพิสัยใกล้บางแบบจะมีการใช้ระบบนำวิถีด้วยดาวเทียม (satellite navigation) และเมื่อแรงขับดันหมดลงเคลื่อนที่ต่อไปตามขีปนวิถี (ballistic จึงเรียกว่า ballistic missile) ระหว่างที่บิน โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยผิวพื้นอากาศพลวัต (airfoil) เพื่อสร้างแรงยก ขีปนาวุธพิสัยไกลส่วนใหญ่จะมีการปลดถังเชื้อเพลิงที่ใช้หมดแล้วออกเป็นท่อนๆตกลงไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก หลังปลดถังเชื้อเพลิงท่อนสุดท้ายออกแล้ว หัวรบก็จะตกลงสู่เป้าหมายโดยไม่มีการนำวิถี ขีปนาวุธพิสัยกลางจะมีการขับดันขึ้นไปถึงบริเวณไม่เกินชั้นบรรยากาศ ในขณะที่ขีปนาวุธข้ามทวีปจะขับดันขึ้นไปถึงบริเวณวงโคจรย่อย [1]
การสกัดหัวรบที่มุ่งสู่เป้าหมายเป็นเรื่องค่อนข้างลำบาก ยิ่งขีปนาวุธสู่เป้าหมายที่ระดับความสูงเท่าใด ยิ่งมีความเร็วในการตกสู่เป้าหมายเร็วเท่านั้น ความเร็วของหัวรบที่กำลังทิ้งตัวนี้อาจเร็วพอๆกับอุกกาบาต ซึ่งอาวุธปล่อยทั่วไปไม่สามารถไล่ตามได้ทัน การสกัดจึงต้องยิงสกัดจากทิศทางด้านหน้าหรือด้านข้างเท่านั้น ทว่าระบบป้องกันขีปนาวุธส่วนใหญ่มักจะออกแบบมาใช้ในการสกัดกั้นในช่วงนี้เป็นหลัก
ขีปนาวุธยิงจากเรือดำน้ำได้รับการออกแบบขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1950 และนำไปสู่การสร้างเรือดำน้ำขีปนาวุธ (อังกฤษ: Ballistic missile submarine หรือ SSB) ขึ้นในเวลาต่อมา
เป็นที่เข้าใจกันผิดอย่างกว้างขวางว่าอาวุธชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า ขีปนาวุธทิ้งตัว หากแต่การบัญญัติอย่างเป็นทางการในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานและฉบับสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย นั้นได้นิยามคำว่า ballistic missile ไว้เพียง ขีปนาวุธ เท่านั้น[2][3] ในขณะที่คำว่า ขีปนาวุธ ที่ใช้กันทั่วไปนั้น มักจะหมายถึง guided missile ซึ่งศัพท์บัญญัติอย่างเป็นทางการคือ อาวุธปล่อยนำวิถี[3]
- การจำแนกประเภท
- ขีปนาวุธทางยุทธวิธี (Tactical ballistic missile) พิสัยปฏิบัติการ 150 ถึง 300 กม.
- ขีปนาวุธระดับยุทธบริเวณ (Theater ballistic missile) พิสัยปฏิบัติการ 300 ถึง 3,500 กม.
- ขีปนาวุธพิสัยสั้น (Short-range ballistic missile) พิสัยปฏิบัติการ 300 ถึง 1,000 กม.
- ขีปนาวุธพิสัยกลาง (Medium-range ballistic missile) พิสัยปฏิบัติการ 1,000 ถึง 3,500 กม.
- ขีปนาวุธพิสัยปานกลาง (Intermediate-range ballistic missile) พิสัยปฏิบัติการ 3,500 ถึง 5,500 กม.
- ขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental ballistic missile) พิสัยปฏิบัติการมากกว่า 5,500 กม.
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ Wragg, David W. (1973). A Dictionary of Aviation (first ed.). Osprey. p. 53. ISBN 9780850451634.
- ↑ https://dictionary.orst.go.th/
- ↑ 3.0 3.1 "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-05-14. สืบค้นเมื่อ 2021-04-05.
บทความเกี่ยวกับทหาร การทหาร หรืออาวุธนี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยการเพิ่มเติมข้อมูล ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:การทหาร |