ขนมเปียกปูน เป็นขนมไทยประเภทกวน มักมีสีดำซึ่งได้จากกาบมะพร้าวเผาไฟ และสีเขียวเข้มที่ได้จากน้ำใบเตยคั้น

ขนมเปียกปูน
ประเภทขนม
แหล่งกำเนิดประเทศไทย
ส่วนผสมหลักแป้ง น้ำตาล น้ำปูนใส สีจากกาบมะพร้าวเผาไฟหรือน้ำใบเตยคั้น

สันนิษฐานว่าดัดแปลงมาจากกะละแมแต่ไม่ใส่กะทิสด ทำจากแป้งหมักเช่นเดียวกับขนมจีนหรือลอดช่อง ส่วนผสมในอดีตประกอบด้วย แป้งข้าวเจ้าหมักทิ้งไว้ แล้วนำมาโม่ด้วยโม่หินให้ละเอียดจนเป็นน้ำแป้ง ผสมน้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทราย ใบตาลเผาไฟ (ส่วนใหญ่ไม่ค่อยนิยม) และน้ำปูนใส เมื่อกวนเสร็จนำมาใส่ถาดทรงสี่เหลี่ยม หากเป็นสมัยโบราณเป็นถาดโบราณรูปทรงกลม เมื่อขนมแห้งตึงดีจึงใช้มีดตัดแบ่งออกพอเป็นคำ ๆ[1] ชาวบ้านเรียกติดปากว่า "สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน" เวลารับประทานโรยด้วยมะพร้าวอ่อนขูดฝอยเคล้ากับน้ำเกลือหรือเกลือป่น ส่วนวัตถุดิบในปัจจุบัน คือ แป้ง น้ำตาล และน้ำใบเตย[2] หรือน้ำจากกาบมะพร้าวเผาไฟ

ขนมเปียกปูนกับขนมเปียก (หรือขนมเปียกอ่อน) มีลักษณะคล้ายกัน ขนมเปียกมีสีน้ำตาลที่ได้มาจากน้ำตาลโตนด ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญของขนมเปียก ขนมเปียกมีเนื้อขนมที่ร่วนกว่าขนมเปียกปูน เนื่องจากไม่ได้ใส่น้ำปูนใส แต่จะเพิ่มหัวกระทิเข้าไป ทำให้ขนมเปียกมีรสชาติหวานมันมากกว่าขนมเปียกปูน มักรับประทานขนมเปียกกับถั่วทอง (ถั่วเขียวกระเทาะเปลือก)[3]

อ้างอิง แก้

  1. "ขนมเปียกปูน…หนมไทยสีดำ กรรมวิธีผลิตแบบครอบครัวจากความทรงจำวันวาน". ศิลปวัฒนธรรม.
  2. เอกพล อ่อนน้อมพันธุ์. (2559) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมเปียกปูนใบเตยเสริมน้าใบย่านาง. มหาวิทยาลัยสวนดุสิต: กรุงเทพฯ.
  3. "ขนมเปียก กับ ขนมเปียกปูน ต่างกันอย่างไร". สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย FM 101.5 MHz.