ปราสาทกู่พระสันตรัตน์

(เปลี่ยนทางจาก กู่สันตรัตน์)

กู่สันตรัตน์ เป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นตามศิลปะขอม ตั้งอยู่ที่อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นอโรคยศาลา หรือโรงพยาบาล

กู่สันตรัตน์ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

ประวัติ แก้

กู่สันตรัตน์เป็นโบราณสถานที่มีลักษณะแบบขอม เป็นสถานที่ ที่เรียกว่าอโรคยาศาล หรือโรงพยาบาล ตั้งอยู่ที่ตำบล กู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ห่างจากที่ว่าการอำเภอนาดูน มาทางทิศตะวันออก เฉียงเหนือ ประมาณ 4 กิโลเมตร กู่สันตรัตน์มีลักษณะเป็นปราสาทแบบย่อมๆ ตั้งอยู่บนฐานชั้นเดียวสร้างด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงล้อมลอบในกรอบ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทางด้านหน้าปราสาททางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมี สระสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 12 เมตร ซึ่งน่าจะหมายถึงบาราย ซึ่ง เป็นไปตามคติของขอม(เขมร) ที่ว่าเมื่อมีการสร้างปราสาทหินก็มีการ ขุดสระหรือ บารายกักน้ำไว้ในที่ใกล้เคียงนั้นด้วย

ทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้าปราสาทมีซุมประตูทางเข้าหรือโคปุระ ก่อด้วยศิลาแลง ส่วนประตูทางเข้านั้น ปรากฏให้เห็นว่ามีแผ่นทับหลังอยู่เหนือประตู กับมีเสาประดับที่กรอบประตูทั้งสองด้าน แผ่นทับหลังและเสาประดับกรอบประตูทำด้วยหินทรายแต่ไม่มีการสลักลายใดๆ ทั้งสิ้น จึงดูคล้ายกับว่าทำยังไม่เสร็จ องค์ปราสาทมีลักษณะรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีประตูทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนทางทิศเหนือทิศใต้และทิศตะวันตกเป็นประตูหลอก เมื่อพิจารณาเฉพาะองค์ปราสาทแล้วสันนิษฐานได้ว่ากู่สันตรัตน์ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะทางด้านหน้าตอนบนนั้นมีช่องว่างเว้นไว้ เป็นช่องสามเหลี่ยม ซึ่งส่วนนี้เมื่อเสร็จสมบูรณ์ก็คือหน้าบัน ที่จะทำด้วยหินทรายซึ่งคงต้องสลักลวดลายประกอบด้วย สิ่งสำคัญต่อมาคือแผ่นทับหลัง ที่ตั้งอยู่เหนือกรอบประตูนั้นมีแผ่นหินทรายวางไว้ แต่ยังไม่มีการสักลวดลายใดๆ ทั้งสิ้น

โดยทั่วไปแผ่นทับหลังต้องมีการสลักลายหรือภาพประกอบไว้เสมอ แม้เสาประดับกรอบประตูทั้ง 2 ด้าน ก็มักสลักลายประดับเช่นกัน แต่เสาที่อยู่ติดกรอบประตูทางด้านซ้ายนั้นยังเป็นแท่งหินทรายเรียบๆ อยู่ไม่มีลวดลายใดๆ ทั้งสิ้นคงมีเฉพาะเสาประดับกรอบประตูทางด้านขวาของปราสาทเท่านั้น ที่ได้สลักลายไว้อย่างคร่าวๆ จากลักษณะดังกล่าวจึงเป็นหลักฐาน สันนิษฐาน ได้ว่า ปราสาทองค์นี้ยังสร้างไม่เสร็จ แต่ช่างได้สร้างไปตามแบบที่เป็นลักษณะเฉพาะของขอม คือแม้องค์ปราสามจะก่อด้วยหินทรายหรือศิลาแลง แต่ส่วนสำคัญทั้ง 3 คือ หน้าบัน ทับหลัง และเสาประดับกรอบประตูต้อง ทำด้วยหินทรายเสมอ ทั้งนี้เพราะหินทรายมีคุณสมบัติเหมาะกับการแกะสลัก ในสถาปัตยกรรมหินทรายโดยเฉพาะ[1]

อ้างอิง แก้

  1. ศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดมหาสารคาม กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดมหาสารคาม http://www.mahasarakham.go.th/mkweb/index.php/479/227 เก็บถาวร 2014-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน