การเบียดหรือเหยียบกันจนเสียชีวิตในฝูงชน
การเบียดหรือเหยียบกันจนเสียชีวิตในฝูงชนเป็นเหตุการณ์การบาดเจ็บและ/หรือสูญเสียชีวิตที่เกิดในฝูงชนที่มีความหนาแน่นมากเกินขีดจำกัด โดยทั่วไปแล้วหากฝูงชนมีความหนาแน่นเกินกว่า 4-5 คนต่อ 1 ตารางเมตร แรงดันที่เกิดขึ้นต่อคนแต่ละคนจะมากพอที่ทำให้ฝูงชนสามารถล้มทับกันหรือเบียดแน่นจนไม่สามารถหายใจได้
ที่ความหนาแน่นมากเกินขีดจำกัดเช่นนี้ ฝูงชนจะเริ่มมีคุณสมบัติเหมือนของไหล คนแต่ละคนอาจถูกผลักให้เคลื่อนไปตามกระแสฝูงคนโดยไม่สามารถต้านทานได้ เหตุการณ์เช่นนี้เกิดจากการขาดการจัดการฝูงชน หรือมีการจัดการฝูงชนที่ไม่ดีพอ[1] สถานการณ์ที่สามารถทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นได้ เช่น การชมกีฬา กิจกรรมทางศาสนา การโฆษณา และการรวมตัวกันทางสังคม เป็นต้น โดยปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดการเบียดหรือเหยียบกันจนเสียชีวิตเช่นนี้อยู่ที่ความหนาแน่นของฝูงชน มากกว่าจะเป็นจำนวนคนในเหตุการณ์[2]
การล้มทับกัน
แก้การล้มทับกันเกิดขึ้นได้เมื่อฝูงชนมีความหนาแน่นมากจนแต่ละคนอยู่ชิดกันทั้งหมด และอาจหนาแน่นมากจนแต่ละคนต่างก็ทรงตัวอยู่ได้ด้วยการพิงซึ่งกันและกัน อาจเกิดขึ้นได้ทั้งฝูงชนที่อยู่กับที่หรือเคลื่อนที่ หากมีคนหนึ่งล้มลง คนข้าง ๆ ที่อยู่ชิดกันและพิงกันอยู่ก็จะเสียหลักพิงจากคนคนนั้นไป และเมื่อแรงดันจากคนอื่นรอบข้างยังมีอยู่ก็จะเป็นการผลักให้ล้มลงตามไปด้วย กลไกเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ทำให้เกิดช่องว่างใหม่ที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งแรงดันทั้งหมดในฝูงชนลดลง คนที่ล้มไปแล้วอาจถูกคนอื่นล้มทับเป็นน้ำหนักกดจนเกิดอันตราย หรืออาจถูกเหยียบจากการที่คนอื่น ๆ ถูกดันให้เดินเหยียบก็ได้[2]
อ้างอิง
แก้- ↑ Fruin 2002, p. 6.
- ↑ 2.0 2.1 Benedictus, Leo (2015-10-03). "Hajj crush: how crowd disasters happen, and how they can be avoided". The Guardian (ภาษาอังกฤษ).
แหล่งข้อมูล
แก้- Fruin, John (January 2002) [First presented March 1993]. The Causes and Prevention of Crowd Disasters (PDF). First International Conference on Engineering for Crowd Safety (crowdsafe.com ed.).
- Pearl, Tracy Hresko (2015). "Crowd Crush: How the Law Leaves American Crowds Unprotected". Kentucky Law Journal. 104 (1). Article 4.