การออกแบบสวนสาธารณะ

การออกแบบและการวางแผนสวนสาธารณะ มีความจำเป็นเนื่องจากการก่อสร้างสวนสาธารณะต้องใช้เงินงบประมาณสูง การไม่ให้ความสำคัญด้านการออกแบบและวางผังเท่าที่ควร ความล้มเหลวในการใช้งานของสวนสาธารณะจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งและเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดบ่อยครั้งทั่วโลก ดังนั้น การออกแบบและวางแผนจึงมีความสำคัญและต้องมีข้อพิจารณาเกี่ยวกับปรัชญาและมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งอาจสรุปได้เป็นหมวดๆ โดยย่อได้ดังนี้

ตัวอย่างการจัดพื้นที่และเส้นทางในสวนสาธารณะ

ปรัชญาและแนวคิดในการวางแผนและออกแบบสวนสาธารณะสมัยใหม่ แก้

อุทยาน ยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นสถานที่เล่นกีฬาล่าสัตว์ของกษัตริย์และขุนนางและปรับเป็นอุทยานหลวงที่สวยงามแบบธรรมชาติ จึงถือเป็นสถานที่หวงห้ามส่วนบุคคลดังได้กล่าวมาแล้ว แต่หลังจากที่เกิด "อุทยานประชาชน" (people’s parks) ปรัชญาและแนวคิดก็ได้เปลียนไป ยอมให้สาธารณชนเสียเงินหรือเข้าไปใช้ฟรีอย่างมีเงื่อนไข องค์ประกอบและสิ่งอำนวยความสะดวกก็กำหนดโดยเจ้าของ คือกษัตริย์หรือขุนนางชั้นสูงซึ่งมักไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ แต่หลังจากเหตุการณ์ที่ไฮด์ปาร์กและการสร้างสวนเบอร์เก็นเฮดซึ่งเป็นการจงใจออกแบบให้เป็นสวนสำหรับประชาชนที่แท้จริง ปรัชญาและแนวคิดในการออกแบบได้จึงหันมาเน้นความต้องการของประชาชนผู้ใช้สวนมากขึ้น

แบบกระฉับกระเฉง / แบบผ่อนคลาย
สวนสาธารณะในยุคอุตสาหกรรมมักเน้นที่พักผ่อนแบบผ่อนคลายมาก มีบริเวณออกกำลังกายไม่มากสำหรับเด็ก นักเนื่องจากผู้ใช้ที่เป็นผู้ใหญ่ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน จึงต้องการที่นั่งพักผ่อนแบบธรรมชาติที่ร่มรื่นมีทิวทัศน์สวยงาม แต่ในระยะหลังที่ประชาชนในเมืองเปลี่ยนจากการทำงานในโรงงานมาเป็นการทำงานในสำนักงาน ความต้องการออกกำลังกายจึงเพิ่มมากกว่าการนั่งหรือเดินพักผ่อน จึงอาจสรุปได้ว่า สวนสาธารณะยุคปัจจุบัน ผู้ใช้วัยทำงานต้องการนันทนาการแบบกระฉับกระเฉง (active recreation) มากกว่าแบบผ่อนคลาย (passive recreation) มากขึ้น ส่วนวัยเด็กและวัยรุ่นยังคงต้องการที่เล่นกีฬาและออกกำลังกายมากเท่าเดิม
ความหลากหลาย / ความขัดแย้ง
ต้องยอมรับว่าลักษณะเฉพาะของผู้ใช้สวนมีความหลากหลายมากทั้งอายุ รายได้ อาชีพ ขนาดครอบครัว พื้นฐานทางสังคมประเพณี ความนิยมฯลฯ ซึ่งสวนสาธารณะที่ดีจะต้องตอบสนองผู้ให้ใช้ได้มากที่สุดจึงจะลดความขัดแย้งหรือลดการใช้สวนในทางที่ผิดลงได้ ตัวอย่างเช่นการไม่ยอมรับความต้องการตามพฤติกรรมของวัยรุ่นในย่านที่มีวัยรุ่นมาก แต่กลับทำสวนดอกไม้ที่สวยงามหรูหราใหญ่โตอย่างเดียว ในขณะที่วัยรุ่นต้องการลานกีฬา หรือที่เล่นสเกตบอร์ด ความขัดแย้งจากการละเมิด การทำลาย ย่อมมีมากขึ้นและหากเข้มงวด เช่นจัดยามคอยเป่านกหวีดห้าม ปรากฏการณ์การใช้น้อยย่อมเกิดขึ้นเป็นการสูญเปล่าและเกิดความไม่เสมอภาค โดยเฉพาะในประเทศที่ยังขาดแคลนสวนสาธารณะ เช่นประเทศไทย อย่างไรก็ดี การจัดให้มีองค์ประกอบให้ครบถ้วนตามลักษณะประชากรย่อมขึ้นอยู่กับขนาดเนื้อที่ของสวนและงบประมาณ การออกแบบจึงต้องทำให้มีความเป็นอเนกประสงค์ให้มากที่สุดโดยให้คงความร่มรื่นสวยงามไว้ได้

มาตรฐาน แก้

โดยทั่วไป ในด้านการผังเมืองมักกำหนดมาตรฐานด้านการวางแผนและออกแบบในด้านต่างๆ ของสถานที่พักผ่อนหย่อนใจไว้ มาตรฐานดังกล่าวของแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับขนาด ความหนาแน่นและลักษณะประชากรของประเทศหรือเมืองนั้นๆ

ปริมาณ
ได้แก่มาตรฐานจำนวนเนื้อที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจที่รวมที่เว้นว่างสีเขียวของเมือง (recreation and open spaces) โดยรวมต่อจำนวนประชากร เช่น 25 ไร่ต่อประชากร 1000 คนและ 2.5 ไร่ต่อประชากร 800 คนสำหรับสนามเล่นกีฬาและสนามเด็กเล่นตามชุมชนของสหรัฐฯ และในในแต่ละรัฐก็ไม่เท่ากัน สำหรับประเทศไทย ครั้งหนึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ เคยกำหนดพื้นที่พักผ่อนโดยรวมสำหรับประเทศไทยไว้ที่ 10 ไร่ต่อประชากร 1000 คน ตามข้อเสนอสำหรับผังเมืองกรุงเทพฯ ที่เรียกว่า "ผังลิชฟิลด์" (พ.ศ. 2500) ซึ่งต่อมาได้มีหลายหน่วยงานนำไปใช้ เช่น สำนักผังเมืองทั้งของกระทรวงมหาดไทยและของกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง ผังเมืองกรุงเทพฉบับปรับปรุงใหม่ทำได้เพียง 1.8 ไร่ต่อประชากร 1000 คน นอกจากการใช้จำนวนไร่ต่อประชากร 1000 คนแล้ว บางหน่วยงานอาจกำหนดมาตรฐานเป็น "ตารางเมตรต่อคน" แต่ไม่นิยมใช้
ลำดับศักย์ หรือ ประเภท
แบ่งเป็นสวนสาธารณะระดับภาค (regional parks) ได้แก่สวนสาธารณะที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่มากที่ใช้ร่วมกันได้หลายจังหวัด ระดับมหานคร (metropolitan parks) สำหรับประชาชนทั้งมหานครและหลั่นลงเป็นระดับเมือง (city parks) ระดับย่านหรืออำเภอ (district parks) ระดับชุมชน (community parks) จนถึงระดับละแวกบ้าน (neighborhood park) รวมถึงสนามเด็กเล่น มีการกำหนดมาตรฐานขนาดเนื้อที่และระยะทางมาใช้สวนในแต่ละระดับ รวมทั้งประเภทของกิจกรรม
สิ่งอำนวยความสะดวก
ในแต่ละลำดับชั้นของสวนสาธารณะจะมีการกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับกิจกรรมการพักผ่อนในรูปแบบต่างๆ การที่จะเรียกเป็นสวนสาธารณะได้นั้น จะต้องจัดให้มีองค์ประกอบที่ตรงกับความต้องการของ "สาธารณะ" ได้แก่กลุ่มอายุ กลุ่มรายได้ ความนิยม ฯลฯ สมัยหนึ่ง สนามเด็กเล่นและที่เล่นกีฬาถือเป็นภาคบังคับ เนื่องจากพบว่าอัตราการป่วยเป็นวัณโรคและอาชญากรรมรอบๆ สวนสาธารณะที่มีสนามเด็กเล่นและสนามกีฬาในเมืองแออัดของประเทศต่างๆ ในยุโรปมีน้อยกว่าสวนสาธารณะประเภทสวยงามเป็นธรรมชาติที่จัดแบบเก่า แต่ในปัจจุบัน หลักสำคัญในการกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่ที่ความหลากหลายและความเป็นอเนกประสงค์ที่จะสามารถสนองตอบต่อผู้ใช้สวนโดยรวมได้มากที่สุด รวมทั้งสนามเล่นกีฬาและสนามเด็กเล่น
ขนาดและการกระจาย
ขนาดของสวนในแต่ละประเภทจะขึ้นอยู่กับขนาดของสิ่งอำนวยความสะดวกที่บรรจุอยู่ในนั้น แต่ในความเป็นจริง ขนาดของสวนกลับอยู่ที่ว่าจะหาได้ที่ดินได้มากน้อยเท่าใด โดยเฉพาะสวนสร้างใหม่ในเขตเมืองที่มีที่ดินราคาแพง ปกติสวนสาธารณะจัดเป็น "การใช้ที่ดิน" หนึ่งในเจ็ดประเภทในงานผังเมืองที่จะต้องมีการจัดเตรียมล่วงหน้า ขนาดของสวนระดับละแวกบ้านจึงมีขนาดเล็กได้ แต่ต้องสามารถจัดให้มีบริเวณเด็กเล่นหรือสนามเด็กเล่นวัย 0-8 ขวบและที่นั่งพักสบายๆ วิวดีและปลอดภัยสำหรับผู้ปกครองที่พาเด็กมาและสำหรับผู้สูงอายุซึ่งอาจใช้พื้นที่เพียง 100 ตารางวาขึ้นไปที่ผู้ใช้สามารถพาเด็กหรือคนชราให้เดินมาใช้ได้

ในทำนองเดียวกันสวนสาธารณะระดับมหานครจะต้องใหญ่พอสำหรับกิจกรรมที่สวนระดับรองๆ ลงไปจัดให้ไม่ได้ เช่นพื้นที่ศึกษาธรรมชาติ อาคารทำกิจกรรม บริเวณปิกนิก ที่เล่นกีฬาใหญ่ๆ เช่น สนามฟุตบอล สนามเทนนิสหรือสระว่ายน้ำขนาดใหญ่รวมทั้งสระน้ำหรือบึงธรรมชาติและเส้นทางจักรยาน ซึ่งมักเป็นการใช้ประจำสัปดาห์หรือนานๆ ครั้งสำหรับประชาชนทั้งเมืองใหญ่ สวนวชิรเบญจทัศน์ (สนามกอล์ฟรถไฟเดิม) ขนาด 450 ไร่เมื่อผนวกกับสวนสมเด็จพระนางเจ้าและสวนจตรจักรเดิมรวมได้ 790 ไร่ ก็นับเป็นตัวอย่างของสวนมหานครขนาดเล็กได้ ปกติสวนระดับมหานครควรมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 800 ไร่ เซนทรัลปาร์กของนครนิวยอร์กมีขนาด 1250 ไร่

ในด้านมาตรฐานกระกระจายถือระยะทางเดินไปใช้สวนเป็นหลัก โดยเฉพาะสวนระดับละแวกบ้านและชุมชน ในบางกรณี ระยะนกบินหรือระยะที่วัดตรงในแผนที่อาจนำมาใช้ไม่ได้ เช่น สวนที่ห่างจากย่านพักอาศัยเพียง 100 เมตรแต่มีถนนใหญ่ ทางรถไฟหรือทางน้ำขวางกั้น ดังนั้น การกระจายจึงถือระยะเดินทางจริงที่ระดับดินและความปลอดภัยในการเข้าถึงเป็นหลัก

ลักษณะสวนสาธารณะที่ดี แก้

รูปแบบลักษณะสวนสาธารณะตามความต้องการ

  • จัดให้มีพื้นที่ออกกำลังกายในสัดส่วนที่มากขึ้น และบางแห่งอาจจัดให้มากกว่าพื้นที่แบบผ่อนคลาย
  • จัดให้มีกิจกรรมที่หลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยเน้นครอบครัว เช่น ให้ ผู้สูงอายุ เช่น ปู่ย่า / พ่อ-แม่ - วัยทำงาน/ วัยรุ่นและเด็กเล็กสามารถมาที่สวนเดียวกันพร้อมกันได้โดยไม่เบื่อและรบกวนกัน
  • มีพื้นที่อเนกประสงค์ที่ใช้ได้ทั้งการออกกำลังกายและทำกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่นการแสดงและการเล่นดนตรี
  • มีความร่มรื่น สวยงาม เขียวสะอาด และดูแลรักษาง่าย
  • เข้าถึงสะดวก ทางเข้าเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนหรือชุมชน ให้ความสำคัญทางเดินเท้า แยกทางรถยนต์และที่จอด
  • มีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอและตอบสนองต่อภูมิอากาศ
  • ลดหรือขจัดการรบกวนระหว่างกิจกรรมที่ขัดแย้งกันด้วยการแบ่งเขตและการออกแบบที่ดี
  • มีความปลอดภัยสูงทั้งจากอาชญากรรมและจากอุบัติเหตุ

อ้างอิง แก้

  • Piet Oudolf, Noel Kingsbury Planting Design: Gardens in Time and Space (Timber Press 2005)
  • Weishan, Michael. The New Traditional Garden: A Practical Guide to Creating and Restoring Authentic American Gardens for Homes of All Ages. ISBN 0-345-42041-1

ดูเพิ่ม แก้