ในชีววิทยา การลดขั้ว (อังกฤษ: depolarization) เป็นความเปลี่ยนแปลงของศักย์เยื่อหุ้มเซลล์ โดยความเป็นขั้วบวกมากขึ้น หรือเป็นขั้วลบน้อยลง ในเซลล์ประสาทหรือเซลล์อย่างอื่นบางอย่าง และถ้าการลดขั้วมีระดับที่สูงพอ ก็จะทำให้เกิดศักยะงานในเซลล์ได้ การเพิ่มขั้ว (Hyperpolarization) เป็นขบวนการตรงข้ามกับการลดขั้ว เป็นการยับยั้งหรือห้ามการเกิดขึ้นของศักยะงาน

กลไก

แก้

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเซลล์มีศักย์พัก (resting potential) ที่ -70 มิลลิโวลต์ เมื่อศักย์เยื่อหุ้มเซลล์ลดลงไปถึง -50 มิลลิโวลต์ นั่นเรียกว่า เซลล์มีการลดขั้วลงแล้ว การลดขั้วบ่อยครั้งเกิดจากการไหลเข้าของแคตไอออน เช่น Na+ ผ่านประตูโซเดียม+, หรือ Ca2+ ผ่าน ประตูแคลเซียม2+

โดยนัยตรงกันข้าม การไหลออกของ K+ ผ่าน ประตูโปแทสเซียม+ ยับยั้งการลดขั้ว และการไหลเข้าของ Cl- (แอนไอออนประเภทหนึ่ง) ผ่าน ประตูคลอไรด์- ก็เช่นกัน ถ้าเซลล์มีกระแสไฟฟ้า K+ หรือ Cl- ไหลเข้าหรือไหลออกที่ศักย์พัก (resting potential) การเข้าไปห้ามกระแสไฟฟ้านั้นก็จะเป็นการลดขั้วเช่นกัน

เพราะว่าการลดขั้วเป็นความเปลี่ยนแปลงของความต่างศักย์ของเยื่อหุ้มเซลล์ นักสรีรวิทยาไฟฟ้าวัดกระบวนการนั้นโดยใช้เทคนิค voltage clamp คือ ถ้ากระแสไฟฟ้าขาเข้าเพิ่มขึ้น หรือกระแสไฟฟ้าขาออกลดลง กระแสไฟฟ้าผ่านเยื่อหุ้มเซลล์นั้นก็จะทำให้เกิดการลดขั้ว

สารหยุดการลดขั้ว

แก้

มียาประเภทหนึ่งเรียกว่า สารหยุดการลดขั้ว (depolarization blocking agents) ซึ่งก่อให้เกิดการลดขั้วเป็นระยะเวลานานโดยเปิดประตู (channel) ที่ก่อให้เกิดการลดขั้วและห้ามการปิดประตูนั้น เป็นการห้ามเยื่อหุ้มเซลล์ไม่ให้มีศักย์กลับไปที่ศักย์พักในขณะที่ยากำลังออกฤทธิ์ ตัวอย่างของยาก็คือยาประเภท nicotinic agonist[1] เช่น suxamethonium และ decamethonium[2]

หมายเหตุและอ้างอิง

แก้
  1. nicotinic agonist เป็นประเภทของยาที่มีฤทธิ์เหมือนกับสาร acetylcholine ต่อ nicotinic acetylcholine receptor ซึ่งเป็นหน่วยรับความรู้สึกที่มีปฏิกิริยากับสาร acetylcholine
  2. Rang, H. P. (2003). Pharmacology. Edinburgh: Churchill Livingstone. ISBN 0-443-07145-4. Page 149

อ่านเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้