การจมเรนโบว์วอร์ริเออร์

การจมเรนโบว์วอร์ริเออร์ ชื่อรหัสว่า ปฏิบัติการซาตาน[1] (ฝรั่งเศส: Opération Satanique) เป็นปฏิบัติการโดยฝ่ายปฏิบัติการของหน่วยสืบราชการลับต่างประเทศของฝรั่งเศส หน่วยอำนวยการความมั่นคงภายนอก (ฝรั่งเศส: Direction Générale de la Sécurité Extérieure, DGSE) ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 โดยมีเป้าหมายจมเรือธงของกองเรือกรีนพีซ ที่ชื่อ เรนโบว์วอร์ริเออร์ ในท่าออกแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อป้องกันมิให้เรือเข้าไปขัดขวางการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในเกาะโมรูโรอา

ภาพวาดของ Rainbow Warrior

ฟืร์นังดู ปือไรรา ช่างภาพ จมน้ำเสียชีวิตจากเหตุจมเรือดังกล่าว เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสสองคนถูกจับกุมโดยตำรวจนิวซีแลนด์ในข้อหาปลอมแปลงหนังสือเดินทางและเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทั้งสองยังถูกตั้งข้อหาวางเพลิง สมคบเพื่อวางเพลิง ทำให้เสียทรัพย์โดยเจตนา และฆาตกรรม บางส่วนจากการต่อรองคำรับสารภาพ (plea bargain) พวกเขาถูกตัดสินว่าผิดจริงฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา และถูกตัดสินจำคุกสิบปี แต่รับโทษจริง ๆ เกินสองปีเล็กน้อย

กรณีอื้อฉาวดังกล่าวนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งของชาร์ล แอร์นูว์ (Charles Hernu) รัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศส

เบื้องหลัง

แก้

ในคริสต์ทศวรรษ 1980 คณะกรรมาธิการพลังงานอะตอมและพลังงานทางเลือก (Commissariat à l'énergie atomique) กำลังพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์สำหรับขีปนาวุธนำวิถีปล่อยจากเรือดำน้ำ M4 ซึ่งถูกทดสอบโดยการระเบิดใต้ดินในเกาะวงแหวนโมรูโรอาในเฟรนช์โปลินีเซีย

กรีนพีซคัดค้านการทดลองดังกล่าวและวางแผนจะนำเรือยอตไปยังเกาะวงแหวนดังกล่าวเพื่อประท้วง รวมทั้งการรุกล้ำอย่างผิดกฎหมายเข้าไปในเขตทหารของฝรั่งเศส เรนโบว์วอร์ริเออร์ไม่เคยเดินทางมายังนิวซีแลนด์มาก่อน แต่พรรคแรงงานนิวซีแลนด์ของเดวิด ลองงี คัดค้านการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และห้ามเรือติดอาวุธนิวเคลียร์หรือพลังงานนิวเคลียร์มิให้เทียบท่านิวซีแลนด์ ผลที่ตามมาคือ สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในกระบวนการถอนตัวจากข้อผูกมัดสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแอนซัส (ANSUS)

รัฐบาลฝรั่งเศสตัดสินใจว่า เพื่อจะหยุดแผนการประท้วง เรือธงของกรีนพีซจะต้องถูกจม ปฏิบัติการของซาตานมุ่งจะทำลายเรนโบว์วอร์ริเออร์เพื่อให้ใช้การไม่ได้ระหว่างที่กำลังจอดอยู่ในท่า และพยายามหลีกเลี่ยงมิให้เกิดความสูญเสีย ยี่สิบปีหลังเหตุการณ์ รายงานโดยหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับฝรั่งเศสในขณะนั้น กล่าวว่า การโจมตีดังกล่าวได้รับการอนุมัติโดยประธานาธิบดีฝรั่งเศส ฟร็องซัว มีแตร็อง

การจมเรือ

แก้

เจ้าหน้าที่ขึ้นเรือและตรวจสอบเรือขณะที่กำลังเปิดให้เข้าชมแก่สาธารณะ เจ้าหน้าที่ DGSE คริสตีน กาบง (Christine Cabon) ซึ่งปลอมตัวเป็นนักสิ่งแวดล้อม อาสาสมัครกับสำนักงานกรีนพีซในออกแลนด์ กาบงเฝ้าจับตาการสื่อสารของเรนโบว์วอร์ริเออร์อย่างลับ ๆ รวบรวมแผนที่และตรวจสอบเครื่องมือใต้น้ำ เพื่อจัดหาข้อมูลที่จำเป็นต่อการจมเรือ หลังจากที่ได้เก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นแล้ว นักดำน้ำ DGSE สองคนใต้เรนโบว์วอร์ริเออร์แนบระเบิดหอยทาก (limpet mine) สองลูกและจุดระเบิดห่างกัน 10 นาที ระเบิดลูกแรกระเบิดขึ้นเมื่อเวลา 23.38 น. ทำให้เกิดรูขนาดใหญ่เทียบได้กับขนาดของรถทั่วไป เจ้าหน้าที่ตั้งใจจะให้ระเบิดลูกแรกทำให้เรือใช้การไม่ได้ เพื่อที่ทุกคนจะได้อพยพอย่างปลอดภัยลงจากเรือ เมื่อระเบิดลูกที่สองถูกจุดระเบิด อย่างไรก็ตาม ลูกเรือไม่ได้ตอบสนองต่อการระเบิดครั้งแรกอย่างที่เจ้าหน้าที่คาดหวัง ขณะที่มีการอพยพลงจากเรือในช่วงแรก ลูกเรือบางส่วนกลับขึ้นเรือมาเพื่อหาสาเหตุและถ่ายภาพความเสียหาย ช่างภาพชาวโปรตุเกส-ดัตช์ ฟืร์นังดู ปือไรรา กลับไปใต้ดาดฟ้าเรือเพื่อไปเอาเครื่องมือกล้องของเขา เมื่อเวลา 23.45 น. ระเบิดลูกที่สองระเบิดขึ้น ปือไรราจมน้ำเสียชีวิตหลังน้ำไหลเข้ามาในเรืออย่างรวดเร็ว และสมาชิกลูกเรือคนอื่นอีกสิบคนถูกอพยพอย่างปลอดภัยตามคำสั่งของกัปตันปีเตอร์ วิลคอกซ์ หรือถูกแรงระเบิดจนตกลงไปในน้ำโดยการระเบิดครั้งที่สอง เรนโบว์วอร์ริเออร์จมในอีกสี่นาทีต่อมา

เหตุการณ์อื้อฉาว

แก้

ปฏิบัติการของซาตานเป็นความหายนะทางการประชาสัมพันธ์ของฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรกับนิวซีแลนด์ ตอนแรกฝรั่งเศสปฏิเสธความเกี่ยวข้องและร่วมประณามว่าเป็นเหตุก่อการร้าย

หลังเหตุระเบิด การไต่สวนเหตุฆาตกรรมเริ่มต้นขึ้นโดยตำรวจนิวซีแลนด์ เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่สามารถหลบหนีออกนอกประเทศมาได้ ยกเว้นสองคนได้แก่ ร้อยเอก ดอมีนิก พรีเยอร์ และผู้บัญชาการ อาแล็ง มาฟาร์ ซึ่งปลอมตัวเป็นคู่สมรสและถือหนังสือเดินทางสวิตเซอร์แลนด์ ถูกระบุว่าอาจเป็นผู้ต้องสงสัยโดยตำรวจนิวซีแลนด์หลังตำรวจรวบรวมคำให้การของพยานผู้เห็นเหตุการณ์ ทั้งสองถูกจับกุมและต่อมาได้ถูกตั้งคำถามและสอบสวน และเอกลักษณ์ที่แท้จริงของพวกเขาถูกเปิดเผย พร้อมด้วยความรับผิดชอบของรัฐบาลฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ทั้งสองรับสารภาพว่าฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาและถูกตัดสินจำคุกสิบปีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528

ฝรั่งเศสขู่ว่าจะห้ามนิวซีแลนด์ส่งสินค้าออกไปยังประชาคมเศรษฐกิจยุโรป หากยังไม่ปล่อยคนทั้งสอง[2] นี้จะยังให้นิวซีแลนด์ ซึ่งพึ่งพาการส่งสินค้าเกษตรออกไปยังอังกฤษ ต้องได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจ

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2529 การตกลงทางการเมืองกับเดวิด ลองงี นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และได้คาเบียร์ เปเรซ เด กูเอยาร์ เลขาธิการสหประชาชาติ เป็นอนุญาโตตุลาการ ฝรั่งเศสตกลงจะจ่ายเป็นเงิน 13 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์และขอโทษ แลกกับการที่มาฟาร์และพรีเยอร์จะถูกกักตัวไว้ที่ฐานทัพฝรั่งเศสบนเกาะวงแหวนอาโอเป็นเวลาสามปี อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทั้งสองกลับฝรั่งเศสในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2531 หลังอยู่บนเกาะน้อยกว่าสองปี มาฟาร์กลับสู่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เพื่อเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ และปรากฏว่าถูกปล่อยตัวหลังเข้ารับการรักษา เขายังรับรัฐการอยู่ในกองทัพฝรั่งเศสและได้เลื่อนยศเป็นพันเอกใน พ.ศ. 2536 พรีเยอร์กลับสู่ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 เพราะเธอตั้งครรภ์ ทำให้สามีของเธอได้รับอนุญาตให้อยู่กับเธอบนเกาะ เธอได้รับอิสระเช่นกัน และภายหลังได้เลื่อนยศ การย้ายเจ้าหน้าที่ทั้งสองจากอาโอโดยไม่กลับมาในภายหลังถูกตัดสินว่าขัดต่อความตกลง พ.ศ. 2539[3]

ส่วนเจ้าหน้าที่คนอื่นอีกสามคนถูกจับกุมโดยตำรวจออสเตรเลียบนเกาะนอร์ฟอล์ก แต่ถูกปล่อยตัวไปเนื่องจากกฎหมายออสเตรเลียไม่อนุญาตให้จับกุมตัวไว้จนกว่าผลการทดสอบทางนิติเวชจะกลับมา ส่วนเจ้าหน้าที่คนที่หก ซึ่งเป็นผู้บัญชาการปฏิบัติการ ไม่เคยถูกจับกุมและไม่เคยถูกตั้งข้อหา เขายอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องระหว่างให้สัมภาษณ์แก่บริษัทกระจายเสียงของรัฐนิวซีแลนด์ใน พ.ศ. 2548[4]

คณะกรรมการสืบสวนนำโดยแบร์นาร์ ทรีโก ลบล้างรัฐบาลฝรั่งเศสว่ามีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ที่ถูกจับกุมนั้น ผู้ยังไม่ได้ยอมรับสารภาพ เพียงแต่สืบกรีนพีซเท่านั้น เมื่อเดอะไทมส์และเลอมงด์ อ้างว่าประธานาธิบดีมีแตร็องอนุมัติการระเบิด รัฐมนตรีกลาโหมของฝรั่งเศสได้ลาออก และหัวหน้า DGSE ถูกไล่ออก นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส โลร็อง ฟาบียุส ยอมรับว่าเหตุระเบิดเป็นแผนของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2528 เขาเรียกผู้สื่อข่าวมายังสำนักงานของเขา และอ่านแถลงการณ์ โดยยอมรับว่ามีการปกปิด มีข้อความตอนหนึ่งว่า "ความจริงนั้นโหดร้าย [...] เจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับฝรั่งเศสจมเรือลำนี้ พวกเขาปฏิบัติตามคำสั่ง"[5]

ผลที่ตามมา

แก้
 
อนุสรณ์สถานการจมเรนโบว์วอร์ริเออร์ ณ Matauri Bay in Northland ประเทศนิวซีแลนด์

ด้วยความตื่นตัวต่อเหตุระเบิด กองเรือยอตเอกชนนิวซีแลนด์ได้แล่นไปยังโมรูโรอาเพื่อประท้วงการทดลองนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส ส่วนการทดลองนิวเคลียร์ในแปซิฟิกของฝรั่งเศสถูกชะลอออกไป แม้จะมีการทดลองอีกหลายครั้งตามมาใน พ.ศ. 2538[6] ใน พ.ศ. 2530 ภายใต้แรงกดดันจากนานาชาติ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงจ่ายเงิน 8.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่กรีนพีซ

เรนโบว์วอร์ริเออร์ถูกกู้ขึ้นมาเพื่อการตรวจสอบทางกฎหมาย คาดว่าเรือไม่สามารถซ่อมแซมได้และจมลงที่พิกัด 34°58′29″S 173°56′06″E / 34.9748°S 173.9349°E / -34.9748; 173.9349 ในอ่าวมาตัวรี ใกล้กับหมู่เกาะคาวัลลี เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เพื่อใช้ดำน้ำเรือจม (wreck diving) และเป็นที่อยู่อาศัยของปลา เสาเรือถูกนำออกไปและไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ทางทะเลดาร์กาวิลล์

ความล้มเหลวของพันธมิตรในโลกตะวันตกอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ในการประณามเหตุการณ์ซึ่งอาจถูกมองได้ว่าเป็นเหตุแห่งสงครามต่อนิวซีแลนด์ของฝรั่งเศส ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศและกลาโหม[7] นิวซีแลนด์วางตัวห่างจากอดีตพันธมิตร สหรัฐอเมริกา และสร้างความสัมพันธ์กับชาติขนาดเล็กในแปซิฟิกใต้ ขณะที่ยังคงความสัมพันธ์อันดีเยี่ยมกับออสเตรเลีย และในขอบเขตน้อยกว่า กับสหราชอาณาจักร[8]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Bremner, Charles (11 July 2005). "Mitterrand ordered bombing of Rainbow Warrior, spy chief says". The Times. London. สืบค้นเมื่อ 16 November 2006.
  2. Shabecoff, Philip (3 October 1987). "France Must Pay Greenpeace $8 Million in Sinking of Ship". New York Times. สืบค้นเมื่อ 11 April 2010.
  3. "Case concerning the difference between New Zealand and France concerning the interpretation or application of two agreements, concluded on 9 July 1986 between the two States and which related to the problems arising from the Rainbow Warrior Affair" (PDF). Reports of International Arbitral Awards. XX: 215–284, especially p 275. 30 April 1990.
  4. Goldenberg, Suzanne (25 May 2007) "Rainbow Warrior ringleader heads firm selling arms to US government". guardian.co.uk, Retrieved 26 May 2007
  5. Evening Mail - Monday 23 September 1985
  6. "Fifth French nuclear test sparks international outrage". CNN. 28 December 1995. สืบค้นเมื่อ 13 June 2010.
  7. A History Of New Zealand, Professor Sir Keith Sinclair KBE, Penguin Books, New Zealand, 1991
  8. Nuclear Free: The New Zealand Way, The Right Honourable David Lange, Penguin Books, New Zealand, 1990

36°50′33″S 174°46′18″E / 36.842405°S 174.771579°E / -36.842405; 174.771579