กาพย์สุรางคนางค์

กาพย์สุรางคนางค์ เป็นกาพย์ชนิดหนึ่งที่กวีนิยมแต่งในวรรณกรรมไทย แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ กาพย์สุรางคนางค์ 28 กาพย์สุรางค์นางค์ 32 (กาพย์ธนัญชยางค์) และกาพย์สุรางคนางค์ 36 (กาพย์ขับไม้)

ประวัติ แก้

กาพย์สุรางคนางค์ มีหลักฐานควรเชื่อว่าได้ชื่อมาจากคาถาภาษาบาลีที่ยกเป็นตัวอย่างฉันท์ในจินดามณี[1] คือ วิสาลวิกฉันท์ ที่มิได้กำหนดครุและลหุ ยกตัวอย่างว่า

สุราคณา สุโสภณา รปิรโก สมานสิ ภิวันทโน สเรนโก รัตินทิวัง ฯ ๒๘ ฯ

๏ สรวมชีพถวาย บังคมโดยหมาย ภักดีภิรมย์ เสร็จจำนองฉันท จำแนกนิยม วิธีนุกรม เพื่อให้แจ้งแจง

๏ ซึ่งเสด็จโดยไนย ในวุตโตไทย คณสำแดง ยัตติยุตติ สัญญากรแถลง กำหนดอย่าแคลง นิพันธ์ฉันทา

๏ ถวายตัวประดิพัทธ์ ปราโมทย์มานัส รัดรึงปรีดา ลอองธุลี พระบาทภูวนา ยกนารถมหา คุณุประการ ฯ

ฉันทลักษณ์ แก้

กาพย์สุรางคนางค์ 28 แก้

บทหนึ่งมี 28 คำ แบ่งเป็น 7 วรรค วรรคละ 4 คำ ลักษณะการส่งสัมผัสมี 3 แบบ ดังนี้

แบบที่ 1 บังคับเฉพาะสัมผัสระหว่างท้ายวรรคที่ 1 -2, ท้ายวรรคที่ 3 กับท้ายวรรคที่ 5 - 6 และสัมผัสระหว่างบท จากท้ายบทแรกไปยังท้ายวรรค 3 ในบทต่อไป พบในวรรณกรรมยุคแรก ๆ ดังตัวอย่าง

๏ ข้าแต่พระชี
ท่านเจ้าใจดี อย่าเดียดอย่าฟุน
ใช่ข้าจมา สู่เจ้าใจบุญ
ขอเข้าของขุน ผู้ขี่เมืองขวาง
๏ ใครเห็นพระอาริ
ยกในสงสาร สรนุกนิทุกบาง
แห่งสิงสู่อยู่ ศรัทธาทุกปาง
โทษาเบาบาง ทั่วโลกากร
มหาชาติคำหลวง กัณฑ์มหาพน

แบบที่ 2 เพิ่มสัมผัสระหว่างวรรค 4 กับวรรค 5 ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง พบในงานยุคสมัยต่อมา ดังตัวอย่าง

 
๏ เมื่อปลงหนังลง
ได้ชอบประสงค์ จะเล่นมินาน
แม้ใช้ในคน ตระกลตระการ
จะเล่นบันดาล บรรโดยหรรษา
๏ นี้คือบูรณะ
นเรนทรพระ ผู้เรืองฤทธา
ข้ารังริเอง เลบงโสภา
ให้เล่นเตือนตา ตระการทุกอัน
สมุทรโฆษคำฉันท์ สำนวนพระมหาราชครู

แบบที่ 3 เพิ่มสัมผัสจนครบทุกวรรค ปรากฏในงานของสุนทรภู่ และงานยุคหลัง ๆ

๏ ขึ้นใหม่ในกน
ก กาว่าปน ระคนกันไป
เอ็นดูภูธร มานอนในไพร
มณฑลต้นไทร แทนไพชยนต์สถาน
๏ ส่วนสุมาลี
วันทาสามี เทวีอยู่งาน
เฝ้าอยู่ดูแล เหมือนแต่ก่อนกาล
ให้พระภูบาล สำราญวิญญาณ์
กาพย์พระไชยสุริยา

ปัจจุบันนิยมแต่งแบบที่ 2 มากที่สุด

กาพย์สุรางคนางค์ 32 แก้

เป็นกาพย์ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เพื่อใช้อธิบายประกอบภาพเรื่อง ศรีธนญไชย ฝีมือวาดของ เหม เวชกร ในหนังสือประมวญสารรายสัปดาห์ ซึ่งทรงตั้งชื่อว่า กาพย์ธนัญชยางค์ โดยทรงอธิบายว่ากาพย์นี้คือกาพย์สุรางคนางค์ 28 แบบเก่านั่นเอง แต่เพิ่มอีก 4 คำและเพิ่มสัมผัสเข้าอีก ต่อมาจึงเรียกกันว่า กาพย์สุรางคนางค์ 32 ตามลักษณะเดิม ตัวอย่างบทประพันธ์

ฝ่ายทัพเรือ พม่า เลียบฝั่งเข้ามา
ยึดเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่งตามทาง
แล้วข้ามสู่เกาะ มุ่งเหมาะเมืองถลาง
เคราะห์ดีมีนาง พี่น้องนารี
เจ้าเมืองม้วย มรณ์ ลงไปเสียก่อน
ที่ทัพสาคร ข้ามมาราวี
แต่คุณหญิงจัน ไม่พรั่นไพรี
นางมุกภคินี อยู่ด้วยช่วยกัน
สามกรุง

กาพย์สุรางคนางค์ 36 แก้

ก็คือ กาพย์ขับไม้ นั่นเอง หนึ่งบทมี 36 คำ แบ่งเป็น 9 วรรค วรรคละ 4 คำ บังคับสัมผัสข้ามวรรค 3 แห่งคือ ท้ายวรรคที่ 1 กับวรรคที่ 2, ท้ายวรรคที่ - กับ 6 - 7 และ 8, ท้ายวรรคที่ 4 -5 สัมผัสระหว่างบทส่งจากท้ายบทแรกไปยังท้ายวรรคที่ 3 ในบทต่อไป ด้วยเหตุที่กาพย์ขับไม้มีการกำหนดใช้วรรคละ 4 คำ เหมือนกาพย์สุรางคนางค์ จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กาพย์สุรางคนางค์ 36 ดังตัวอย่าง

๏ จักแสดงเพระเดช องค์ไหนนฤเบศร ปิ่นเกล้ากรุงศรี
ผ่านเทพอยุธยา เรืองพระเดชา ทั่วทั้งธรณี
อันตรายไพรี บอาจราวี ด้วยพระสมภาร
๏ ท่านได้ไปปราบ เกรงพระอานุภาพ ทั่วทุกทิศาร
ท้าวราชนคเรศ ทังจันตประเทศ บเคยบันดาล
ถวายสุวรรณมาลย์ ทั้งบรรณาการ มากราบถวายเมือง
(จินดามณี)

อ้างอิง แก้

  1. สุภาพร มากแจ้ง. กวีนิพนธ์ไทย 1. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2535.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้