กองกอย เป็นผีป่าชนิดหนึ่ง มีลักษณะรูปร่างไม่เป็นที่ปรากฏชัด แต่โดยมากจะอธิบายว่าเป็นผีที่มีขาข้างเดียว เคลื่อนที่โดยการกระโดดไปด้วยขาเดียว และส่งเสียงร้องว่า "กองกอย ๆ" อันเป็นที่มาของชื่อ[1] แต่บ้างก็ว่ามีปากเป็นท่อเหมือนแมลงวัน หรือเชื่อว่ามีหน้าตาคล้ายลิงหรือค่าง บ้างเรียก ผีโป่ง หรือ ผีโป่งค่าง สันนิษฐานว่า ความเชื่อเรื่องผีโป่งหรือผีกองกอยคือ ค่างแก่หน้าตาน่าเกลียดที่ไม่สามารถขึ้นต้นไม้ได้ มีความเชื่อของคนบางกลุ่มว่า ถ้าได้ดื่มเลือดค่างจะทำให้ร่างกายคงกระพันเป็นอมตะ หรือแม้แต่สัตว์ป่าชนิดอื่นที่มีลักษณะผิดแผกไปจากปกติ ก็ถูกเชื่อว่าเป็นผีกองกอย[2] โดยคำว่า "กอย" ตามนิยามของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายว่า "น. คนป่าพวกหนึ่ง ตัวดำ ผมหยิก อยู่ในแหลมมลายู เงาะ ก็เรียก"[3]

เชื่อว่า ผีกองกอยจะดูดเลือดจากหัวแม่เท้าของคนค้างแรมในป่า วิธีการป้องกันคือ ให้นอนไขว้ขาหรือชิดเท้ากันทั้งสองข้างและอย่านอนเอาขาหรือเท้าออกนอกเต็นท์นอน[4]

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่ เคยเล่าว่า เมื่อครั้งท่านไปธุดงค์ในป่าดิบทึบในแขวงคำม่วน ประเทศลาว พร้อมกับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านทั้งสองได้เคยผจญกับฝูงผีกองกอยด้วยในเวลากลางคืน โดยผีกองกอยนี้มีรูปร่างเหมือนเด็กอายุประมาณ 13-14 ปี มีรูปร่างผอม แต่พุงป่อง ผิวคล้ำ ผมเผ้ารุงรัง จมูกบี้แบน มีอาวุธถือมาในมือคล้ายหน้าไม้หรือธนูอันเล็ก ๆ ส่งเสียงร้อง "ก๋อย ก๋อย ก๋อย" พยายามจะเข้ามาทำร้ายท่านทั้งสอง แต่ทว่าท่านได้นั่งสมาธิ และด้วยปาฏิหาริย์ พวกผีกองกอยไม่อาจทำอะไรท่านได้ และจนถึงรุ่งเช้า ผีกองกอยก็ยอมแพ้ และขอขมาท่าน และได้นิมนต์ท่านทั้งสองไปยังที่อาศัยของพวกตน ท่านจึงพบว่าแท้จริงแล้ว ผีกองกอยฝูงนี้คือ คนป่าเผ่าข่าระแด มีพฤติกรรมล่าและฆ่ามนุษย์ที่ล่วงล้ำถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกตน และเอาเนื้อมากินกัน[5]

ชาวภูไทที่อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร มีความเชื่อว่า ผีกองกอยเป็นผู้หญิงผมยาวแดง มีใบหน้าเรียวแหลม บ้างก็ว่ามีรูปร่างลักษณะเหมือนลิง แต่มีขนาดเล็กกว่าลิงหรือลิงลมเสียอีก และเชื่ออีกว่า ผีกองกอยเป็นผีที่มีครอบครัว บ้างก็อาศัยอยู่ในถ้ำหรือโพรงไม้ ออกหากินโดยจับปลากินตามลำห้วยหรือแม่น้ำ บางครั้งก็ขโมยปลาหรือข้าวของของผู้คน อีกทั้งยังเชื่อว่า ผีกองกอยชอบเดินถอยหลัง และพูดอะไรที่ตรงข้ามกับความจริงเสมอ อีกทั้งยังเชื่ออีกว่า ผีกองกอยมีทรัพย์สินสมบัติสะสมอยู่มาก ซึ่งบางครั้งหากไปพบทรัพย์สมบัติหรือปลาตกอยู่กลางทางหรือในป่าโดยไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ ห้ามเก็บมา เพราะอาจเป็นผีกองกอย ผีกองกอยจะตามมาทวงคืน โดยอาจจะทำร้ายมนุษย์ด้วยการล้วงควักตับไตไส้พุงกินเป็นอาหารได้ในเวลาหลับ เช่นเดียวกับผีปอบ ซึ่งผู้ที่ถูกผีกองกอยล้วงควักอวัยวะภายในไปกินนั้น จะเสียชีวิตเหมือนนอนหลับปกติ เรียกว่า "ใหลตาย"[6]

ผีลักษณะแบบเดียวกับผีกองกอย มีความเชื่อกระจายทั่วไป ยังมีในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเชื่อว่า มีคนป่าเผ่าหนึ่งมีขาข้างเดียว ไม่มีสะบ้าหัวเข่า[7] ที่จีนก็มีความเชื่อว่า มีปีศาจชนิดหนึ่งอาศัยอยู่ตามภูเขา มีขาเดียว ตัวเล็ก แต่ผมยาว ตาโต หูแหลม มักขโมยอาหารหรือสิ่งของของคนเดินทาง เมื่อถึงวันตรุษก็มักเข้ามาอาละวาดในหมู่บ้าน เชื่อว่านำมาซึ่งความอัปมงคล และใครจับต้องตัวมันจะเผชิญกับโชคร้ายหรือเจ็บไข้ได้ป่วย[8]หรือ แม้แต่ผีขาเดียว ที่ไปไหนมาไหนด้วยวิธีการกระโดด ของทวีปยุโรปก็มี หรือเจียงซือ ผีดิบดูดเลือดของจีน ที่ปรากฏในวัฒนธรรมร่วมสมัยหลายประการ ก็มีลักษณะคล้ายผีกองกอย จนบางครั้งถูกเรียกกันว่าผีกองกอยก็มี[9] บนเกาะมาดากัสการ์ ในมหาสมุทรอินเดีย ใกล้กับทวีปแอฟริกา มีความเชื่อเรื่องสัตว์ประหลาดที่อยู่ในป่าเรียกว่าคาลาโนโร่ เป็นสัตว์ที่ยืนด้วยสองขาเหมือนมนุษย์ มีขนเต็มตัวสีน้ำตาลแดง ไม่ใส่เสื้อผ้า แต่มีความสูงเพียง 3 ฟุต และมีเท้าที่กลับหลังเหมือนผีกองกอยตามความเชื่อของชาวภูไท เชื่อกันว่าเป็นสัตว์ดุร้าย สามารถฆ่ามนุษย์ได้ด้วยกรงเล็บที่มือที่แข็งแรงด้วยการควักไส้[10]

มีการอ้างถึงกองกอยในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น อ้ายย่องตอด ในพระอภัยมณี[11]

อ้างอิง

แก้
  1. [https://web.archive.org/web/20110926151725/http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-1-search.asp เก็บถาวร 2011-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กองกอย ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542]
  2. "โอละพ่อ ภาพ "ผีกองกอย" โผล่ศีรษะเกษ ที่แท้คือ "หมีหมา" ขนร่วงที่มาเลย์ (คลิป)". มติชน. April 21, 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-23. สืบค้นเมื่อ July 28, 2016.
  3. "กอย". สนุกดอตคอม. สืบค้นเมื่อ July 26, 2016.
  4. ผีกองกอย
  5. หนังสือ "หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ" วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ (โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม 3)
  6. ผีกองกอย จากรายการบันทึกลึกลับ
  7. ลึกลับอมตะ โดย ซีเอ็ดยูเคชั่น, (พ.ศ. 2534) ISBN 974-509-282-7
  8. หน้า 54-57. สนุกกับเทศกาลเฉลิมฉลอง แปลและเรียบเรียงโดย แสงจินดา กันยาทิพย์, (พ.ศ. 2541) สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ISBN 974-604-217-3
  9. Style, A.J. (March 17, 2016). "ผีกัดอย่ากัดตอบ: เจียงซือ ตำนานผีดิบแห่งประเทศจีน". daily.rabbit. สืบค้นเมื่อ July 28, 2016.[ลิงก์เสีย]
  10. Esperanza, Cira (2010-01-14). "Destination Truth S04E06 Ghosts of Menengai Crater and Kalanoro". Destination Truth.
  11. "คอลัมน์: พระอภัยมณีตีกลอง: อ้ายย่องตอดทหารเอกนางละเวงวัณฬาแห่งเมืองลังกา". แนวหน้า. March 22, 2009. สืบค้นเมื่อ July 28, 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้