กลุ่มหัวเกรียน หรือ ฝ่ายรัฐสภา (ภาษาอังกฤษ: Parliamentarians หรือ Roundhead) เป็นชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มพิวริตันผู้สนับสนุนรัฐสภาแห่งอังกฤษระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษ และเป็นผู้สนับสนุนโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ และเป็นปฏิปักษ์ต่อสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ[1] ครอมเวลล์ได้รับความก้าวหน้าทางการเมือง, เป็นสมาชิกของสภาสามัญชนผู้มีบทบาทสำคัญ และเป็นนายทหารผู้มีความสามารถ และในที่สุดก็แต่งตั้งตนเองเป็นเจ้าผู้พิทักษ์ ในปี ค.ศ. 1653 ฐานะทางการเมืองและทางการศาสนาของ “ฝ่ายรัฐสภา” รวมทั้งกลุ่มเพรสไบทีเรียน (Presbyterians), กลุ่มรีพับลิกันคลาสสิก (Classical republicanism), กลุ่มเลเวลเลอร์ (Levellers) และ กลุ่มอิสระทางศาสนา (Independents) ศัตรูของ “ฝ่ายรัฐสภา” คือ “ฝ่ายกษัตริย์นิยม” ผู้สนับสนุนพระเจ้าชาร์ลส์หรือที่เรียกเล่นๆ ว่า “กลุ่มคาวาเลียร์” (Cavalier)

“ฝ่ายรัฐสภา” โดยจอห์น เพ็ตติ (John Pettie)

ที่มาและเบื้องหลัง แก้

ระหว่างสงครามและหลังจากสงคราม “กลุ่มหัวเกรียน” เป็นคำที่เริ่มใช้ราวปลายปี ค.ศ. 1641 เมื่อมีการโต้กันในรัฐสภาเรื่องร่างพระราชบัญญัติยกเว้นบาทหลวง (Bishops Exclusion Bill) ซึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติที่ห้ามไม่ให้บาทหลวงเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ก่อให้เกิดความไม่สงบในเวสต์มินสเตอร์ กลุ่มเพียวริตันบางคนตัดเริ่มผมเกรียนเพื่อให้แยกตนเองจากอย่างชัดเจนผู้ชายในราชสำนักที่ไว้ผมยาวเป็นหลอด เจ้าหน้าที่คนหนึ่งพรรณาถึงผู้คนที่มาชุมนุมกันว่า:

“พวกเขาไว้ผมบนหัวพวกตน มีไม่กี่เส้นเท่านั้นที่ยาวเลยหูพวกตน ด้วยเหตุฉะนี้เราจึงเรียกพวกที่มานั่งตะโกนโหวกเหวกในเวสต์มินสเตอร์ด้วยฉายานามว่าพวกราวด์เฮด.”[2]

แต่ที่ขัดกันคือหลังจากที่อัครบาทหลวงวิลเลียม ลอดออกกฎให้นักบวชไว้ผมสั้นในปี ค.ศ. 1636 กลุ่มเพียวริตันก็หันกลับไปไว้ผมยาวตามเดิมและยิ่งยาวกว่าเดิมเพื่อเป็นการประท้วงระบบ[3] แต่ก็ยังรู้จักกันในชื่อ “กลุ่มหัวเกรียน” การไว้ผมยาวมักจะนิยมในกลุ่มอิสระทางศาสนา และ กลุ่มเพียวริตันที่มีตำแหน่งสูงที่รวมทั้งครอมเวลล์เองโดยเฉพาะในปลายสมัยรัฐบาลผู้พิทักษ์ ขณะที่กลุ่มเพรสไบทีเรียนและทหารยังคงต่อต้านการไว้ผมยาว ในปลายสมัยกลุ่มเพียวริตันอินดีเพ็นเดนท์ใช้คำว่า “กลุ่มหัวเกรียน” เป็นทำนองเหยียดกลุ่มเพรสไบทีเรียนเพียวริตัน[4]

นักประวัติศาสตร์จอห์น รัชเวิร์ธ (John Rushworth) ใน “Historical Collections” กล่าวว่าคำนี้เริ่มใช้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1641 โดยเจ้าหน้าที่ชื่อเดวิด ไฮด์ผู้ที่ระหว่างการจลาจลชักดาบออกมาแล้วตะโกนว่าจะ “เชือดคอไอ้หมาหัวเกรียนตัวไหนที่กล้าเห่ากระโชกบาทหลวง”

เอ็ดเวิร์ด ไฮด์ เอิร์ลแห่งแคลเร็นดอนที่ 1ที่ปรึกษาของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 (“History of the Rebellion”, เล่ม 4. หน้า 121) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า: “ผู้ที่เห็นว่าเป็นผู้รับใช้พระเจ้าแผ่นดินถูกเรียกว่า “กลุ่มคาวาเลียร์” และผู้ที่ต่อต้านเรียกว่า “กลุ่มหัวเกรียน””

ประวัติ แก้

“กลุ่มหัวเกรียน” ในที่สุดก็ได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1648 ที่เป็นผลให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ถูกปลงพระชนม์ในปี ค.ศ. 1649 แต่การต่อสู้ก็ยังคงมีอยู่ต่อไปในไอร์แลนด์ และสกอตแลนด์ ในที่สุดครอมเวลล์ก็ได้รับชัยชนะต่อการรุกรานของสกอตแลนด์ที่ยุทธการวูสเตอร์ ในปี ค.ศ. 1651 เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ทรงพ่ายแพ้

อ้างอิง แก้

  1. Chris Roberts, Heavy Words Lightly Thrown: The Reason Behind Rhyme, Thorndike Press,2006 (ISBN 0-7862-8517-6)
  2. ภัทรพล สมเหมาะ THE ENGLISH CIVIL WAR สงครามกลางเมืองอังกฤษ. —กรุงเทพ: ยิปซี กรุ๊ป, 2561 หน้า 68-70
  3. John Hunt, Religious Thought in England Vol II p. 5.
  4. Benjamin Hanbury, Historical Memorials Relating to the Independents Or Congregationalists: From Their Rise to the Restoration of the Monarchy (1844) Vol III, p. 118, 635.

ดูเพิ่ม แก้