กราฟิกส์แท็บเล็ต
กราฟิกส์แท็บเล็ต (อังกฤษ: graphics tablet) หรือ ดิจิไทเซอร์ (digitizer) เป็นอุปกรณ์รับเข้าสำหรับคอมพิวเตอร์ซึ่งช่วยให้บุคคลใช้มือวาดภาพและกราฟิกส์ทำนองเดียวกับใช้ปากกาวาดลงบนกระดาษ ทั้งยังสามารถใช้ยึดเก็บข้อมูล ลงลายมือชื่อ และร่างภาพจากกระดาษซึ่งวางหรือติดไว้บนเครื่องได้ด้วย
อุปกรณ์นี้ประกอบด้วยกระดานที่สามารถใช้แท่ง (stylus) ซึ่งเป็นอุปกรณ์คล้ายปากกาและแนบมาพร้อมกัน วาดหรือร่างภาพลงบนนั้นได้ แต่ภาพจะมิได้ปรากฏบนตัวแท็บเล็ต หากปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมกันอยู่
วิวัฒนาการ
แก้แท็บเล็ตอิเล็กทรอนิกส์สำหรับขีดเขียนด้วยมือเครื่องแรกนั้น คือ เครื่องเท็ลออโตกราฟ (Telautograph) ซึ่งเอลิชา เกรย์ (Elisha Gray) จดสิทธิบัตรไปใน ค.ศ. 1888[1] เอลิชา เกรย์ ผู้นี้เป็นที่รู้จักกันในฐานะที่ประดิษฐ์โทรศัพท์และอยู่ร่วมสมัยกับอะเล็กซานเดอร์ เกรย์แฮม เบล (Alexander Graham Bell)
ส่วนกราฟิกส์แท็บเล็ตเครื่องแรกซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับแท็บเล็ตปัจจุบันและใช้ผ่านจอคอมพิวเตอร์นั้น คือ สไตเลเตอร์ (Stylator) หรือมักเรียกกันว่า แรนด์แท็บเล็ต (RAND Tablet) และ กราฟิกคอน (Grafacon) โดยย่อมาจาก "กราฟิกคอนเวอร์เตอร์" (Graphic Converter, "ตัวแปลงกราฟิก") ผลิตขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1957 และนำออกเผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 1964[2] แรนด์แท็บแล็ตนี้อาศัยสายไฟฟ้าซึ่งอยู่ใต้ผิวกระดานในการแปลงพิกัดแนวนอนแนวดิ่งเป็นสัญญาณแม่เหล็กขนาดเล็ก แล้วปากกาจะรับสัญญาณแม่เหล็กนี้ก่อนถอดรหัสกลับเป็นข้อมูลเชิงพิกัดอีกทอดหนึ่ง
กราฟิกส์แท็บเล็ตได้รับความนิยมเป็นอันมากในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1970 จนถึงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เมื่อสินค้าแท็บเล็ตที่เรียก "ไอดี" (ID) ย่อมากจาก "อินเทลลิเจนต์ดิจิไทเซอร์" (Intelligent Digitizer) กับ "บิตแพด" (BitPad) ของบริษัทซัมมากราฟิกส์ (Summagraphics) ประสบความสำเร็จทางการค้า บริษัทซัมมากราฟิกส์ยังผลิตบิตแพดรุ่นโออีเอ็ม (OEM) ให้บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ (Apple Computer) จำหน่ายเป็นอุปกรณ์ประกอบคอมพิวเตอร์แอปเปิล 2 (Apple II) ในยี่ห้อ แอปเปิลกราฟิกส์แท็บเล็ต (Apple Graphics Tablet) แท็บเล็ตเหล่านี้ทำงานด้วยเทคโนโลยีแมกเนโตสตริกชัน (magnetostriction) ซึ่งใช้สายไฟฟ้าทำจากลวดอัลลอยชนิดพิเศษแผ่ไปทั่วซับสเตรต (substrate) เพื่อให้วางตำแหน่งปากกาบนผิวกระดานได้ถูกต้องแม่นยำ ทั้งยังช่วยให้มีการคำนวณแกน "แซด" (Z) ด้วย
ส่วนกราฟิกส์แท็บเล็ตสำหรับคอมพิวเตอร์ประจำบ้านนั้น คือ โคอาลาแพด (KoalaPad) ซึ่งตั้งใจออกแบบมาเพื่อคอมพิวเตอร์แอปเปิล 2 แต่ภายหลังปรับปรุงให้ใช้สำหรับคอมพิวเตอร์ประจำบ้านทั่วไปที่มีสิ่งสนับสนุนทางกราฟิกส์ได้ด้วย เช่น คอมพิวเตอร์สีทีอาร์เอส-80 (TRS-80 Color Computer), คอมโมดอร์ 64 (Commodore 64) และอาตาริ 8-บิต แฟมิลี (Atari 8-bit family) แท็บลิตที่บริษัทอาตาริผลิตนั้นถือกันว่ามีคุณภาพสูง
ต่อมาใน ค.ศ. 1981 นักดนตรีทอด รันด์เกรน (Todd Rundgren) สร้างซอฟต์แวร์กราฟิกส์แท็บเล็ตแบบมีสีสำหรับใช้กับคอมพิวเตอร์ส่วนตัวเป็นครั้งแรกของโลก แอปเปิลได้จดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์นี้โดยเรียกชื่อว่า "ระบบยูโทเปียกราฟิกส์แท็บเล็ต" (Utopia Graphics Tablet System)[3]
ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ผู้จำหน่ายกราฟิส์แท็บเล็ตหลายเจ้าได้เพิ่มระบบทำงานหลายประการให้แก่แท็บเล็ต เช่น การรับรองลายมือ และผังรายการบนแท็บเล็ต[4][5]
อ้างอิง
แก้- ↑ Gray, Elisha (1888-07-31), Telautograph, United States Patent 386,815
- ↑ Dimond, Tom (1957-12-01), Devices for reading handwritten characters, Proceedings of Eastern Joint Computer Conference, pp. 232–237, สืบค้นเมื่อ 2008-08-23
- ↑ Mackintosh, Hamish (18 March 2004). "Talk time: Todd Rundgren". The Guardian.
- ↑ Pencept Penpad (TM) Manual, Pencept, Inc., 1983-06-15
- ↑ GP-10 SAC Two-dimensional Sonic Digitizer, Science Accessories Corporation, 1988-06-15