กรมมหาดเล็ก 904
กรมมหาดเล็ก 904 หรือชื่อเดิม กรมมหาดเล็ก หน่วยงานราชการในพระองค์ระดับกรม สังกัด สำนักพระราชวัง มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับใช้ในกิจการส่วนพระองค์ต่าง ๆ ทุกประเภททั้งในพระราชฐานที่ประทับ และทุกที่ที่เสด็จไป ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ร.ศ. 112 ตรงกับ พ.ศ. 2436 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตาม พระราชบัญญัติกรมมหาดเล็ก โดยหมวด 1 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้แบ่งมหาดเล็กออกเป็น 4 ประเภทคือ
- มหาดเล็กบรรดาศักดิ์
- มหาดเล็กวิเศษ
- มหาดเล็กคงกรม
- มหาดเล็กยาม[1]
ภาพรวมหน่วยงาน | |
---|---|
ก่อตั้ง | 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 |
หน่วยงานก่อนหน้า |
|
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน |
|
ต้นสังกัดหน่วยงาน | พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ในวันที่ 7 มกราคม 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดลำดับชั้นยศของมหาดเล็กเสียใหม่เพื่อป้องกันความสับสนได้แก่[2]
ยศมหาดเล็ก | เทียบยศทหารบก |
---|---|
จางวางเอก | นายพลเอก |
จางวางโท | นายพลโท |
จางวางตรี | นายพลตรี |
หัวหมื่น | นายพันเอก |
รองหัวหมื่น | นายพันโท |
จ่า | นายพันตรี |
หุ้มแพร | นายร้อยเอก |
รองหุ้มแพร | นายร้อยโท |
มหาดเล็กวิเศษ | นายร้อยตรี |
มหาดเล็กสำรอง | ทำการนายร้อยตรี (ว่าที่นายร้อยตรีในปัจจุบัน) |
พันจ่าเด็กชา | จ่านายสิบ |
พันเด็กชาเอก | นายสิบเอก |
พันเด็กชาโท | นายสิบโท |
พันเด็กชาตรี | นายสิบตรี |
เด็กชา | พลทหาร |
จากนั้นในวันที่ 23 ธันวาคม 2463 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศแยกมหาดเล็กเป็นประเภทเพื่อความเป็นระเบียบได้แก่
1. ประเภทประจำการ คือผู้ที่รับราชการฉลองพระเดชพระคุณประจำอยู่ในกรมมหาดเล็ก
2. ประเภทกองหนุน คือผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกจากประจำการเป็นกองหนุน ประเภทกองหนุนนี้ก็แบ่งออกเป็นอีก 4 ประเภท บรรดาข้าราชการกองหนุนนี้จะได้รับส่วนแบ่งเงินเดือนตามอัตราที่ได้รับพระราชทานขณะที่อยู่ในประเภทประจำการตามประเภทของกองหนุน คือประเภทที่ 1 รับพระราชทานเงินกองหนุนเดือนละ 1 ในสอง ประเภทที่ 2 หนึ่งในสาม ประเภทที่ 3 หนึ่งในสี่ ประเภทที่ 4 ไม่ได้รับพระราชทานเลย
3. ประเภทเบี้ยบำนาญ คือผู้ที่ทรงรักกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกจากประจำการ และรับพระราชทานเบี้ยบำนาญตามพระราชบัญญัติ
4. ประเภทพิเศษ คือขุนนางหรือเชื้อพระวงศ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งเครื่องยศมหาดเล็กเป็นพิเศษ
5. ประเภทนอกกอง คือผู้ที่ย้ายไปรับราชการนอกกรมมหาดเล็กหลวง หรือผู้ที่ต้องพักราชการ ออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดและเงินเดือน
นอกจากนี้ในวันถัดมายังได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศว่าด้วยการแต่งเครื่องยศมหาดเล็กเป็น 4 ประเภทได้แก่
1. ประเภทประจำการ แต่งเครื่องยศมาหาเล็กตามพระราชกำหนดเครื่องแต่งกายข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนัก และประกาศแก้ไขเพิ่มเติมบริบูรณ์ทุกอย่าง
2. ประเภทกองหนุนและเบี้ยบำนาญ คงแต่งเครื่องยศมหาดเล็กได้เช่นเดียวกับประเภทประจำการ พี่กันแต่ประเภทกองหนุนและเบี้ยบำนาญไม่มีเครื่องหมายประจำการเท่านั้น
3. ประเภทพิเศษนั้น ให้อนุโลมตามข้าราชการที่รับราชการฉลองพระเดชพระคุณประจำอยู่ในกรมมหาดเล็ก กล่าวคือถ้าขุนนางหรือเชื้อพระวงศ์ผู้นั้นรับราชการฉลองพระเดชพระคุณประจำอยู่ในกระทรวงใดก็ตามให้ติดเครื่องหมายประจำการได้ ถ้าผู้นั้นมิได้รับราชการประจำจะติดเครื่องหมายประจำการมิได้เป็นอันขาด
4. ประเภทนอกกอง คือผู้ที่ต้องย้ายจากกรมมหาดเล็กไปรับราชการทางกระทรวงทบวงอื่น หรือลาออกจากราชการ หรือพักราชการ จะแต่งเครื่องยศมหาดเล็กต่อไปอีกไม่ได้เป็นอันขาดนอกจากจะส่งพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นให้เจ้าหน้าที่เรียกเครื่องยศมหาดเล็ก และเครื่องหมายซึ่งเป็นของหลวงที่ได้พระราชทานไปนั้นคืนให้สิ้นเชิง[3]
ต่อมาในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศ จัดการปกครองกรมมหาดเล็กหลวงเสียใหม่[4] โดยให้มีจางวางผู้บัญชาการ 1 นายพร้อมกับให้มีจางวางผู้ควบคุมบังคับบัญชาการงานในกรมอีก 3 นายคือ
- จางวางผู้บังคับการ เวรศักดิ์ เป็น จางวางกรมมหาดเล็กรับใช้
- จางวางผู้บังคับการ เวรสิทธิ์ เป็นจางวางกรมชาวที่
- จางวางผู้บังคับการ เวรฤทธิ์ เป็นจางวางกรมพระราชพาหนะ
จากนั้นในวันที่ 1 เมษายน 2469 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนยศข้าราชการในกรมมหาดเล็กให้เหมือนกับยศของข้าราชการในพระราชสำนักเพื่อความสะดวกดังต่อไปนี้[5]
ยศมหาดเล็ก | เปลี่ยนเป็น |
---|---|
จางวางเอก | มหาเสวกเอก |
จางวางโท | มหาเสวกโท |
จางวางตรี | มหาเสวกตรี |
หัวหมื่น | เสวกเอก |
รองหัวหมื่น | เสวกโท |
จ่า | เสวกตรี |
หุ้มแพร | รองเสวกเอก |
รองหุ้มแพร | รองเสวกโท |
มหาดเล็กวิเศษ | รองเสวกตรี |
มหาดเล็กสำรอง | ว่าที่รองเสวกตรี |
ในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมมหาดเล็กหลวงเข้ากับกระทรวงวังเพื่อความสะดวกทางราชการและประหยัดพระราชทรัพย์[6]จากนั้นในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2476 จึงได้มีการจัดวางโครงสร้างกรมมหาดเล็กหลวงเสียใหม่ โดยมีส่วนราชการคือ[7]
- สำนักงานเลขานุการ แบ่งเป็น 4 แผนกคือ
- แผนกสารบรรณ
- แผนกคลัง
- แผนกเบ็ดเตล็ด
- แผนกของพระราชทานและเงินท้ายที่นั่ง
- กองมหาดเล็กรับใช้ แบ่งเป็น 5 แผนกคือ
- แผนกกลาง
- แผนกห้องพระบรรทม
- แผนกรับใช้
- แผนกคลังวรภาชน์
- แผนกพระเครื่องต้น
- กองมหาดเล็กชาวที่ แบ่งเป็น 6 แผนกคือ
- แผนกกลาง
- แผนกรักษา พระราชวังดุสิต
- แผนกรักษา พระบรมมหาราชวัง
- แผนกรักษา พระราชวังบางปะอิน
- แผนกรักษา วังศุโขทัย
- แผนกรักษา วังไกลกังวล
ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๔๗๘ ได้มีการลดฐานะกระทรวงวังลงเป็น สำนักพระราชวัง[8]พร้อมกับการลดฐานะกรมมหาดเล็กหลวงลงเป็นกองมหาดเล็กตาม พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการในสำนักพระราชวังและสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ พุทธศักราช ๒๔๗๘[9]โดยแบ่งออกเป็น 3 แผนกคือ
- แผนกกลาง
- แผนกรับใช้
- แผนกชาวที่
จากนั้นจึงได้มีการฟื้นฟูและยกฐานะกองมหาดเล็กขึ้นเป็นกรมมหาดเล็กอีกครั้งหนึ่งตามมาตรา 7 (4) แห่ง พระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 โดยยังคงเป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักพระราชวังตามเดิมและในภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมมหาดเล็ก 904[10] ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จึงได้มีพระราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ นาวาอากาศตรี อัษฎาวุธ วัฒนางกูร เป็นอธิบดีกรมมหาดเล็ก 904 คนแรกตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561[11]
และในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ พลอากาศเอก อำนาจ จีระมณีมัย ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาดเล็ก 904[12]สืบต่อจากนาวาอากาศตรีอัษฎาวุธ
อธิบดี
แก้รายชื่อ | เริ่มดำรงตำแหน่ง | สิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
นาวาอากาศตรี อัษฎาวุธ วัฒนางกูร | 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560 | 15 มีนาคม พ.ศ. 2563 |
พลอากาศเอก อำนาจ จีระมณีมัย | 15 มีนาคม พ.ศ. 2563 | ปัจจุบัน |
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ พระราชบัญญัติกรมมหาดเล็ก ร.ศ. 112
- ↑ "ประกาศ ลำดับชั้นยศในกรมมหาดเล็ก" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 10 มกราคม 1914.
- ↑ "ประกาศกรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 26 ธันวาคม 1920.
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ จัดการปกครองกรมมหาดเล็ก
- ↑ "ประกาศกรมมหาดเล็กหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 4 เมษายน 1926.
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ เปลี่ยนเสนาบดีกระทรวงวังและรวมกรมมหาดเล็กเข้าในกระทรวงวัง
- ↑ พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงวัง พุทธศักราช ๒๔๗๖
- ↑ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๘
- ↑ พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการในสำนักพระราชวังและสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ พุทธศักราช ๒๔๗๘
- ↑ พระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พุทธศักราช ๒๕๖๐
- ↑ พระราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งข้าราชการในพระองค์และนายทหารราชองครักษ์พิเศษ