กบลูกศรพิษสตรอว์เบอร์รี

กบลูกศรพิษสตรอว์เบอร์รี
เสียงร้องของตัวผู้
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Amphibia
อันดับ: Anura
วงศ์: Dendrobatidae
สกุล: Oophaga
สปีชีส์: O.  pumilio
ชื่อทวินาม
Oophaga pumilio
(Schmidt, 1857)
ชื่อพ้อง
  • Dendrobates pumilio Schmidt, 1857

กบลูกศรพิษสตรอว์เบอร์รี หรือ กบพิษสตรอว์เบอร์รี (อังกฤษ: Strawberry poison-dart frog, Strawberry poison frog; ชื่อวิทยาศาสตร์: Oophaga pumilio) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจำพวกกบชนิดหนึ่ง ในวงศ์กบลูกศรพิษ (Dendrobatidae)

เป็นกบที่มีขนาดเล็กเหมือนกับกบลูกศรพิษทั่วไป มีลำตัวเป็นสีแดงฉูดฉาดเห็นได้ชัดเจนและขาทั้งสี่ข้างเป็นสีน้ำเงิน (แต่ก็ยังมีบางส่วนที่มีสีสันแตกต่างออกไปตามสภาพสัณฐานวิทยา[2]) นิ้วตีนไม่มีพังผืด เนื่องจากใช้ชีวิตในการปีนต้นไม้และอยู่บนพื้นดินเป็นส่วนใหญ่ กระจายพันธุ์อยู่ในป่าดิบชื้นของภูมิภาคอเมริกากลาง ตั้งแต่ภาคกลางของประเทศนิการากัว ประเทศคอสตาริกา จนถึงตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศปานามา[3]

กบลูกศรพิษสตรอว์เบอร์รีมีบลูกศรพิษที่หลั่งออกมาจากรูบนผิวหนังเหมือนรูขุมขนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพื่อใช้ในการป้องกันตัวโดยเฉพาะจากสัตว์นักล่า เช่น งู เนื่องจากมีขนาดลำตัวเล็กมาก เมื่องูได้งับเข้าไปแล้ว จะปล่อยสารเคมีจำพวกแอลคาลอยด์ซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้กับงูได้ จนกระทั่งต้องยอมคายออกมา แต่กระนั้นก็มิได้หมายความว่า กบลูกศรพิษสตรอว์เบอร์รีทุกตัวจะรอดได้ทุกครั้ง หากโดนงับเข้าอย่างแรง ก็อาจทำให้ตัวกบแตกและตายได้

ตัวที่มีสีสันแตกต่างออกไป

โดยสารแอลคาลอยด์ได้มาจากการที่กบกินอาหารจำพวกแมลงบางชนิด เช่น ปลวก และแมลงปีกแข็ง ที่กินพืชที่มีสารนี้เข้าไปและสะสมในตัว โดยเก็บไว้ในต่อมสารคัดหลั่ง เมื่อโดนคุกคาม จะคายผ่านผิวหนังเพื่อตอบโต้

กบลูกศรพิษสตรอว์เบอร์รีขยายพันธุ์ในกลีบดอกไม้หรือใบไม้ที่มีน้ำขังบนต้นไม้ขนาดใหญ่ในป่า เช่น บรอมเมเลีย เมื่อตัวเมียวางไข่ ตัวผู้จึงจะปล่อยสเปิร์มเข้าปฏิสนธิ โดยวางไข่จำนวนเพียง 3-4 ฟองเท่านั้น และจะถูกสัตว์บางชนิด เช่น แมงมุม กินเป็นอาหาร แต่จะมีบางส่วนที่เหลือรอด โดยหน้าที่เฝ้าไข่จะเป็นของกบตัวผู้ เมื่อลูกอ๊อดฟักเป็นตัวแล้ว ตัวผู้จะส่งสัญญาณไปยังตัวเมีย และจะเป็นหน้าที่ของตัวเมียที่จะเป็นฝ่ายเลี้ยงดูลูก โดยจะแบกลูกอ๊อดไว้บนหลังเพื่อหาที่ ๆ เหมาะสมสำหรับเลี้ยงดูลูกอ๊อด โดยจะเคลื่อนย้ายลูกอ๊อดไว้บนหลังแบบนี้จนกระทั่งหมด ตัวเมียจะปล่อยไข่ที่ไม่ได้ปฏิสนธิไว้เป็นอาหารแก่ลูกอ๊อด ลูกอ๊อดใช้ระยะเวลาราว 2 สัปดาห์จึงจะเติบโตจนมีสภาพเหมือนกบตัวเต็มวัย และจะปีนลงมาจากใบของต้นบรอมเมเลียลงสู่พื้นดิน เพื่อที่จะใช้ชีวิตต่อไป ซึ่งกบลูกศรพิษสตรอว์เบอร์รีที่เพิ่งลงสู่พื้นดิน ร่างกายจะยังไม่มีพิษสะสม จึงจะต้องเร่งหาอาหารกินเพื่อสะสมพิษ ในตอนนี้จึงอาจตกเป็นอาหารแก่งูได้ง่าย ๆ[4]

อ้างอิง แก้

  1. Solís, F., Ibáñez, R., Jaramillo, C., Chaves, G., Savage, J., Köhler, G. & Cox, N.A. (2010). "Oophaga pumilio". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2014.2. สืบค้นเมื่อ 12 September 2014.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. Summers, K.; Cronin, T.W.; Kennedy, T. (2003). "Variation in spectral reflectance among population of Dendrobates pumilio, the strawberry poison frog, in the Bocas del Toro Archipelago, Panama". Journal of Biogeography. 30: 35–53. doi:10.1046/j.1365-2699.2003.00795.x.
  3. Savage, J. M. 2002. The Amphibians and Reptiles of Costa Rica. University of Chicago Press, Chicago and London.
  4. "สารคดี: MYSTERIES OF EVOLUTION:TWO FACED JANUS,POISON, THE". ช่อง 7. 22 January 2016. สืบค้นเมื่อ 22 January 2016.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Oophaga pumilio ที่วิกิสปีชีส์