กฎบัตรโอลิมปิก
กฎบัตรโอลิมปิก (อังกฤษ: Olympic Charter) เป็นระเบียบและแนวปฏิบัติสำหรับการจัดกีฬาโอลิมปิกและขบวนการโอลิมปิก (Olympic Movement) แก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2020 ระหว่างการประชุมคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ครั้งที่ 136 ซึ่งจัดขึ้นโดยการประชุมทางวิดีโอ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้ตกลงรับกฎบัตรนี้ซึ่งประมวลหลักการ ระเบียบ และข้อบังคับพื้นฐานเอาไว้ในภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษอันเป็นภาษาราชการของกฎบัตร
ความมุ่งหมาย
แก้ตลอดประวัติศาสตร์โอลิมปิก กฎบัตรโอลิมปิกได้ใช้เป็นเครื่องตัดสินความขัดแย้งทางโอลิมปิกเสมอมา และดังที่กำหนดไว้ในคำปรารภ กฎบัตรมีความมุ่งหมายอยู่ 3 ประการ คือ
- เพื่อวางหลักการและคุณค่าแห่งความเป็นโอลิมปิก
- เพื่อเป็นกฎหมายของคณะกรรมการโอลิมปิกระหว่างประเทศ
- เพื่อกำหนดสิทธิและหน้าที่ขององค์กรทั้ง 4 ในขบวนการโอลิมปิก คือ คณะกรรมการโอลิมปิกระหว่างประเทศ สมาพันธ์ระหว่างประเทศ (International Federations) คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ (National Olympic Committee) และคณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิก (Organizing Committees for the Olympic Games)
องค์ประกอบ
แก้กฎบัตรโอลิมปิกประกอบด้วยเนื้อความ 61 ข้อ จัดเป็น 6 หมวด พรรณนารายละเอียดเกี่ยวกับระเบียบและแนวปฏิบัติทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ส่วนสำคัญมีดังนี้
- หมวด 1 ขบวนการโอลิมปิกและการดำเนินงาน
- ข้อ 2 กำหนดให้คณะกรรมการโอลิมปิกระหว่างประเทศมีภารกิจส่งเสริมความเป็นโอลิมปิกทั่วโลกและเป็นผู้นำขบวนการโอลิมปิก ภารกิจดังกล่าวรวมถึงการรักษาจริยธรรมทางกีฬา ส่งเสริมการแข่งขันกีฬา สร้างความมั่นใจว่า กีฬาโอลิมปิกจะจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ พิทักษ์ขบวนการโอลิมปิก กับทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากีฬา
- ข้อ 6 กำหนดให้กีฬาโอลิมปิกเป็นการแข่งขันระหว่างนักกีฬา ไม่ว่าประเภทบุคคลหรือประเภทกลุ่ม มิใช่การแข่งขันระหว่างประเทศ
- ข้อ 8 กำหนดสัญลักษณ์โอลิมปิก คือ ห้าห่วงคล้องกันเป็นสีฟ้า เหลือง ดำ เขียว แดง ตามลำดับจากซ้ายไปขวา
- หมวด 2 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล
หมวดนี้คือแนวทางของการเป็นสมาชิก การประชุม และแนวทางหลักการของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC)
- หมวด 3 สมาพันธ์ระหว่างประเทศ
- หมวด 3 พรรณนาบทบาทของสมาพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งเป็นองค์การเอกชนระหว่างประเทศ ประกอบด้วยหน่วยงานจัดการแข่งขันกีฬาในระดับชาติ และมีหน้าที่จัดการแข่งขันกีฬาในระดับโลก เพื่อให้มั่นใจว่า กีฬาพัฒนาไปโดยสอดคล้องกับกฎบัตรและจิตวิญญาณโอลิมปิก นอกจากนี้ สมาพันธ์ระหว่างประเทศยังมีอำนาจควบคุมคุณสมบัติของนักกีฬาและรายละเอียดของสถานที่แข่งขันด้วย
- หมวด 4 คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ
- ข้อ 28 กำหนดภารกิจของคณะกรรมการโอลิกปิกแห่งชาติว่า เป็นการพัฒนา ส่งเสริม และพิทักษ์ขบวนการโอลิมปิกในประเทศของตน ทั้งให้คณะกรรมการมีบทบาทในระดับชาติเป็นการส่งเสริมจิตวิญญาณโอลิมปิก สร้างความมั่นใจว่า กฎบัตรจะได้รับการปฏิบัติตาม ตลอดจนส่งเสริมจริยธรรมและพัฒนาการในทางกีฬา คณะกรรมการเหล่านี้มีอำนาจเป็นผู้แทนประเทศของตนในการแข่งขันกีฬา กำหนดเจ้าภาพกีฬา และให้ความร่วมมือแก่หน่วยงานราชการและเอกชนในการแข่งขันกีฬา
- หมวด 5 การแข่งขันโอลิมปิก
- หมวด 5 ว่าด้วยการเฉลิมฉลองกีฬาโอลิมปิก การคัดเลือกเจ้าภาพกีฬา คุณสมบัติของนักกีฬา กีฬาที่จะแข่ง การประชาสัมพันธ์ที่อนุญาตให้ทำได้
- ส่วนที่ 3 ของหมวด 5 ยังกำหนดระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมและการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับกีฬาโอลิกปิก เช่น การใช้ธง กับทั้งการเปิดและปิดการแข่งขัน
- หมวด 6 มาตรการและการลงโทษ ขั้นตอนการลงโทษ และการระงับข้อพิพาท
หมวดนี้จะกล่าวถึง (มาตรการและการลงโทษ ขั้นตอนการลงโทษ และการระงับข้อพิพาท)
- ข้อ 59 – มาตรการและการลงโทษ
- ข้อ 60 – การตัดสินที่ท้าทายของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล
- ข้อ 61 – การระงับข้อพิพาท