เครื่องโต๊ะ เป็นการตั้งโต๊ะเครื่องบูชาอย่างไทย ที่ตั้งแต่งด้วยเครื่องกระเบื้องจีน โดยมีลักษณะมาจากโต๊ะที่แต่งบูชาแบบจีน แต่กำหนดรูปลักษณ์ใหม่ตามความนิยมอย่างไทย

เครื่องโต๊ะ ในงานกฐินพระราชทาน วัดโสมนัสวิหาร เมื่อวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2558

ประวัติ แก้

เครื่องโต๊ะ เป็นเครื่องบูชาของไทยที่เอามาจากจีน น่าจะเข้ามาในไทยเมื่อ พ.ศ. 2361 สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อกำลังสร้างสวนขวาในพระบรมมหาราชวังราชทูตไทยกลับมาจากจีนได้เห็นการตกแต่งวังและบ้านด้วยเครื่องลายคราม จึงนำมาเป็นแบบแผนในการตกแต่งพระตำหนักในสวนขวา สันนิษฐานว่า การตกแต่งนั้นเหมือนกับภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดราชโอรสกับวัดกัลยาณมิตร ตั้งแต่นั้นตามบ้านของขุนนางและเจ้านายเริ่มมีการตกแต่งด้วยเครื่องบูชาอย่างจีน และเริ่มมีการตั้งโต๊ะประกวดกันเมื่อมีการจัดเครื่องโต๊ะไปฉลองพระอารามที่ได้ปฏิสังขรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาการตั้งโต๊ะได้รับความนิยมมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ากันว่าการไปรวมกันตั้งโต๊ะในยุคนี้ตั้งที่ไหนก็ไม่สนุกเท่าที่บ้านของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ถ้าใครได้เครื่องลายครามเป็นของดีไปตั้งก็เอาแพรแดงผูกทำขวัญ เป็นจุดเริ่มต้นของการให้รางวัลเครื่องโต๊ะในเวลาต่อมา เมื่อการเล่นเครื่องโต๊ะได้รับความนิยมมาก พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก)จึงทูลขอพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมสาย กรมขุนราชสีหวิกรม ให้ทำแบบอย่างเครื่องโต๊ะ สั่งไปทำที่เมืองจีนแล้วเอามาขายในเมืองไทย เป็นเครื่องโต๊ะสำเร็จรูป ยี่ห้อกิมตึ๋งฮกกี่ (金堂福記) เรียกว่า โต๊ะกิมตึ๋ง ชุดละ240บาท ตั้งแต่นั้นการตั้งเครื่องโต๊ะก็ซาลง เพราะคนเล่นรังเกียจว่าเป็นของหาง่าย ไม่ต้องใช้ความพยายามในการหาเครื่องลายครามให้เข้าชุดลายกัน แต่ได้กลับมานิยมอีกครั้งในพ.ศ. 2430 เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรวบรวมเครื่องถ้วยชามลายผักกาดของสมัยรัชกาลที่2 เข้าจัดเป็นโต๊ะเดียวกัน แล้วตั้งเครื่องโต๊ะลายมังกร5เล็บอีกโต๊ะ ตั้งโต๊ะครั้งแรกที่งานฉลองหอพระสมุดวชิรญาณตั้งแต่นั้นมาขุนนางและเจ้านายก็เริ่มนิยมเล่นเครื่องโต๊ะใหม่อีกรอบ กล่าวกันว่างานพระเมรุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี ภัทรวดีราชธิดาเป็นงานประกวดตั้งเครื่องโต๊ะใหญ่ที่สุด[1]

การตั้งโต๊ะ แก้

คนที่จะเล่นเครื่องโต๊ะ ต้องหาชิ้นที่กำหนดไว้สำหรับตั้งโต๊ะให้ครบก่อน มี8ชิ้นคือ

  1. ลับแล
  2. ขวดใหญ่ปักดอกไม้
  3. กระถางธูปใน
  4. กระบอกปักธูป
  5. กระถางหน้า (กระถางเผาเครื่องหอม)
  6. ขวดปักดอกไม้หน้า
  7. ชามหน้า
  8. เชิงเทียน1คู่

นอกนั้นก็ตั้งได้ตามใจ แต่ต้องเป็นลายเดียวกัน และทุกชิ้นต้องมีกี๋ มีเท้า มีหย่อง สำหรับรองชิ้น คนเล่นเครื่องโต๊ะต้องมีโต๊ะ2ตัว คือ 1โต๊ะหน้า 2โต๊ะขวางหลัง ส่วนผ้าปักหน้าโต๊ะ ให้ใช้แต่ผ้าปักในไทย ห้ามใช้ผ้าปักจากจีน ทุกชิ้นต้องเลี่ยมที่ปากขวด ถ้วยชาม กระถาง ฯลฯ ถ้าตั้งในงานศพให้ตั้งโต๊ะเครื่องขาว เขียนลายผ้าปักหน้าโต๊ะไว้ใช้ชั่วคราว

มีการเล่นโต๊ะอีกประเภทหนึ่ง คือการตั้งโต๊ะจั๊บฉ้าย คือการตั้งเครื่องโต๊ะแบบที่ชิ้นแต่ละชิ้นลายจะต้องไม่ซ้ำกัน ที่สามารถซ้ำกันได้คือเชิงเทียน ไม่ค่อยมีใครตั้งเพราะหาของไม่ซ้ำลายยากมาก

ลายเครื่องโต๊ะ แก้

แบ่งลายตามแต่ละประเภทได้5หมวด คือ

  1. หมวดภาพรูปคน (ลายภาพ) คือลายที่เขียนมีรูปคนอยู่ในภาพ เดิมเรียก"ลายเซียน" แต่ภายหลังท้วงว่าลายเซียนต้องเป็นรูปผู้สำเร็จเท่านั้น จึงเปลี่ยนเป็นลายภาพ มีหลายลวดลาย เช่นลายวิมานเมฆ ลายฮกลกซิ่ว ลายโป๊ยเซียน ลายนักปราชญ์ ลายชักรถฯลฯ
  2. หมวดรูปสัตว์ คือลายรูปสัตว์ต่างๆ มีหลายลวดลาย เช่น ลายมังกร ลายหงษ์ ลายสิงโต ลายกิเลน ลายนกร้อยฯลฯ
  3. หมวดพรรณไม้ คือลายรูปหมู่พรรณไม้ต่างๆ มีหลายลวดลาย เช่นลายไม้สี่ฤดู ลายดอกพุดตาน ลายดอกเบญจมาศ ลายดอกบ๋วย ลายผักชีฯลฯ
  4. หมวดสิ่งของ คือลายรูปสิ่งของ อาวุธ หรืออักษรมงคล มีหลายลวดลาย เช่นลายฮ่อ ลายฮ่อของมงคล8อย่าง ลายหนังสือใหญ่(ลายต้วนยี่ 篆字) ลายหนังสือเล็ก ลายยันต์แปดทิศ ลายกระแปะ ลายตราฯลฯ
  5. หมวดภูมิสถาน คือลายรูปสถานที่ต่างๆ มีหลายลวดลาย เช่น ลายเขาไม้ ลายแผนที่ ลายฝรั่งกังไส ลายสิบสามห้าง ลายเขาวังฯลฯ

การตัดสินชิ้นเครื่องโต๊ะ แก้

 
ถ้วยยี่ห้อโปจูลี่กี่ (寶珠利記) ของคุณหญิงเนื่อง ได้รับรางวัลชิ้นไหมทองกับชิ้นเซี่ยงฮ้อแดง ประทับพระราชลัญจกรครั่งแดงกับพระราชลัญจกรครั่งดำไว้เป็นสำคัญ ภาพจากหนังสือกระเบื้องถ้วยกะลาแตก

ในการประกวดเครื่องโต๊ะนั้น โต๊ะหนึ่งโต๊ะชิ้นเครื่องลายครามจะต้องเป็นลายเดียวกัน และจะมีการพิจารณาชิ้นเครื่องโต๊ะที่เป็นของดี โดยมีหลักดังนี้

  1. เป็นของที่ทำดี(รูปร่างสวย,เนื้อสวย,สีสวย,เขียนดี)
  2. เก็บไว้ดี ไม่บุบสลายหรือแตกร้าว
  3. เป็นของเก่า
  4. เป็นชิ้นที่ไม่มีใครเหมือน

ถ้ากรรมการพิจารณาตัดสินแล้วว่าเป็นของดีจริง ก็จะมีการให้รางวัลชิ้น ตามลำดับชั้น ดังนี้

  1. ชิ้นผ้าแดง มีทุกงานประกวด เป็นการผูกผ้าแดงให้กับชิ้นที่ผ่าน เกิดจากเอาแพรแดงผูกทำขวัญเครื่องลายครามในงานตั้งโต๊ะบ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
  2. ชิ้นผ้าชมพู เป็นชิ้นที่ผ่านการพิจารณาแล้วว่าดีเหมือนชิ้นผ้าแดง แต่ชำรุดบางส่วน
  3. ชิ้นเต๊กซ้วน เป็นรางวัลเฉพาะในงานเถลิงพลับพลาสวนดุสิต เป็นชิ้นที่พิจารณาว่าดีแต่ไม่ถึงชิ้นเซี่งฮ้อ ก็ให้เป็นชิ้นเตีกซ้วน ติดแพรเขียวตัดเป็นรูปเมล็ดขนุน มีลายทองตัวอักษรจีนว่าเต๊กซ้วน ประทับพระราชลัญจกรประจำครั่งแดง
  4. ชิ้นเต๊กอี๋ เป็นรางวัลเฉพาะในงานเถลิงพลับพลาสวนดุสิต เป็นชิ้นที่พิจารณาว่าไม่ดี แต่เพราะเจ้าของโต๊ะเอาเครื่องโต๊ะมาตั้งช่วยตั้งจึงให้รางวัล ติดแพรสีน้ำตาลตัดเป็นรูปเมล็ดขนุน มีลายทองตัวอักษรจีนว่าเต๊กอี๋ ประทับพระราชลัญจกรประจำครั่งแดง เมื่อเอาไปตั้งประกวดที่ไหนต้องเรียกผ้าแดงมาผูกทุกงาน
  5. ชิ้นเซี่ยงฮ้อ เป็นชิ้นที่กรรมการพิจารณาตัดสินแล้วว่าเป็นของดี และไม่มีใครมีชิ้นลายแบบนี้ แบ่งชั้นเป็นเซี่ยงฮ้อทอง,เซี่ยงฮ้อเงิน,เซี่ยงฮ้อเหลือง,เซี่ยงฮ้อแดง,เซี่ยงฮ้อชมพู,เซี่ยงฮ้อเขียว,เซี่ยงฮ้อม่วง แต่ละชั้นติดแพรสีตามชั้นของเซี่ยงฮ้อตัดเป็นรูปใบพร มีลายทองตัวอักษรจีนว่าเซี่ยงฮ้อ ประทับพระราชลัญจกรประจำครั่งดำ เมื่อเอาไปตั้งประกวดที่ไหนต้องเรียกผ้าแดงมาผูกทุกงาน
  6. ชิ้นไหมทอง เป็นรางวัลใหญ่สุด เพราะเป็นรางวัลพระราชทาน แบ่งชั้นเป็นไหมทองใหญ่,ไหมทองเล็ก ประทับพระราชลัญจกรครั่งแดง เมื่อเอาไปตั้งประกวดที่ไหนต้องผูกผ้าแดงทุกงาน[2]

รางวัลการโต๊ะ แก้

คือสิ่งของรางวัลที่ได้จากในงานประกวดเครื่องโต๊ะ มักเป็นของที่สามารถใช้ประดับในเครื่องโต๊ะได้ มี2อย่างคือ รางวัลโต๊ะกับรางวัลกรรมการ

รางวัลโต๊ะ

  1. เหรียญที่ระลึก นิยมใช้เป็นรางวัลในงานประกวดกันหลายงาน
  2. ช่อดอกไม้ ทำด้วยเงินบ้าง ทองบ้าง สำหรับพระราชทานผู้ถวายชิ้นเครื่องโต๊ะตำราภาพ
  3. กรอบชื่อ ทำด้วยเงินชุบทองบ้าง เงินบ้าง พระราชทานสำหรับสอดกระดาษเขียนชื่อเจ้าของโต๊ะ
  4. ตุ๊กตาสำหรับปักเครื่องเซ่น เป็นตุ๊กตาทองบ้าง เงินแกมทองบ้าง เงินเปล่าบ้าง มี5ตัว พระราชทานสำหรับปักเครื่องเซ่น
  5. ตะเกียบสำหรับเขี่ยเนื้อไม้ สำหรับละ3อัน ทำด้วยทองบ้าง เงินแกมทองบ้าง เงินเปล่าบ้าง
  6. แส้ขนไก่ ย้อมขนไก่เป็นสีต่างๆ มีหมุดทองหรือเงินติดบนยอด
  7. เครื่องอาวุธจีน ทำด้วยทองและเงิน ต่อด้วยด้ามไม้ ชุด1มี5อย่าง
  8. รูปห้อมงคล8อย่าง ทำด้วยทองและเงิน สำหรับปักด้ามไม้
  9. รูปห้อปัดโป๊จีน8อย่าง ทองลงยาบ้าง ทองเกลี้ยงบ้าง เงินบ้าง
  10. เปลวไฟสำหรับปักน้ำเต้า ทองลงยาบ้าง ทองเกลี้ยงบ้าง เงินบ้าง
  11. ป้าย พระราชทานในงานแซยิด เฉลิมพระชนมพรรษา 50 ทำด้วยทองและเงิน มีอักษรว่าแซยิด (生日) กรอบรูปมังกร ยอดอักษรมีพระนามและพระเกี้ยว
  12. กรอบป้าย ทำด้วยเงิน มีรูปมังกรกับกิเลน มีตัวหนังสือง่วนเส็ง (元盛) ที่ระลึกในงานศพพระยาพิศาลผลพานิช (สือ)
  13. หน้าสิงโตคาบกั้นหยั่น ทำด้วยทองและเงิน พระราชทานในงานฉลองพระสุรภีพุทธพิมพ์ วัดปรินายก
  14. เป็ดทองและเงินสำหรับลอยกลางโต๊ะ ที่ระลึกในงานศพพระยามหาโยธา (นกแก้ว)
  15. ธงตะขายพื้นกำมะหยี่ มีรูปค้างคาว ตัวอักษร อ. และอักษร ฮกลกซิ่ว (福祿壽) ที่ระลึกในงานศพหม่อมอิน บุนนาค มารดาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์
  16. ธงทำด้วยทองหรือเงิน รูปมังกร ที่ระลึกงานศพท้าวสุจริตธำรง (นาค)
  17. แส้หางม้า ทีรูปจักร คทา ของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
  18. เหรียญรูปซิ่วกลม (壽) ที่ระลึกงานแซยิดคุณท้าววรจันทร์
  19. พัดปักเป็นอักษรเต๊กซ้วน รางวัลกรรมการงานเฉลิมพลับพลาสวนดุสิต
  20. พัดเซียน
  21. ปลอกสวมปลายพู่กัน ชุดละ5อัน ของพระราชทาน
  22. อาทิตย์อุไทย รางวัลในงานสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงบำเพ็ญพระกุศลชันษาครบ50
  23. รูปปลาคู่
  24. รูปอักษรซิ่วกลม
  25. ธงตะขาบ

รางวัลกรรมการ

  1. พัด สำหรับปักที่เครื่องโต๊ะของกรรมการ เรียกพัดยศ เพื่อให้รู้ว่าเป็นกรรมการลำดับไหน มี5อย่างคือ พัดฮก (福) สำหรับกรรมการชั้นฮก มี10เล่ม พัดลก (祿) สำหรับกรรมการชั้นลก มี8เล่ม พัดซางฮี้ (囍) สำหรับกรรมการชั้นซางฮี้ มี6เล่ม พัดซิ่ว (壽) มี5เล่ม พัดกั่ว สำหรับกรรมการชั้นกั่ว (官) มี4เล่ม รวมทั้งหมด33เล่ม ใช้ปักในงานรับเสด็จเท่านั้น และยังมีพัดอีกอย่างเรียก พัดรอง เป็นพัดกลมพื้นแพร กลางหนังสือปักตัวอักษรบอกชั้นกรรมการ เป็นพัดของกรรมการชั้นฮก ลก ซิ่ว ซางฮี้ เท่านั้น ชั้นกั่วไม่มีพัดรอง
  2. โปเจียม (寶章) คือเข็มสำหรับติดอกเสื้อกรรมการ เอาไว้บอกตำแหน่ง เนื่องจากพัดปักอยู่ในเครื่องโต๊ะ เข็มของกรรมการชั้นฮกเป็นรูปน้ำเต้า แต่ของกรรมการฮกนายกเป็นรูปสมุดม้วน ฮกที่8เป็นรูปใบพร กลางเข็มมีอักษรฮก (福) ทุกเข็ม เข็มของกรรมการชั้นลก เป็นรูปดอกบ๊วย แต่ของลกผู้ชี้ขาดเป็นรูปกลม กลางเข็มมีอักษรลก (祿) ทุกเข็ม เข็มของกรรมการชั้นซางฮี้ เป็นรูปสี่เหลี่ยม กลางเข็มมีอักษรซางฮี้ (囍) ทุกเข็ม เข็มของกรรมการชั้นซิ่ว เป็นรูปใบพร กลางเข็มมีอักษรซิ่ว (壽) ทุกเข็ม เข็มของกรรมการที่ยังไม่เคยถือพัด ทำเป็นเม็ดตุ่มคล้ายกระดุมเสื้อ เรียกว่า งึนลิว ถ้าเป็นเข็มชั้นสูงทำด้วยทองคำ รองลงมาทำด้วยนาก ชั้นต่ำทำด้วยเงิน ถ้าผู้ใดได้เป็นฮกนายกถึง12ครั้ง ได้ติดโปเจียมตัวหนังสือเพชร ขอบประดับบุษราคัม ทับทิม เพทาย มรกต นิล เม็ดคั่นประดับเพชรเป็นอย่างสูงสุด
  3. เหรียญ ไม่ได้ทำไว้แขวนเหมือนเหรียญรางวัล เป็นเหรียญเฉยๆ ใช้วางในจานประดับโต๊ะ
  4. สิ่งของ มักเป็นของพระราชทาน เช่น ถ้ำยาสูบกล้อง ที่เขี่ยบุหรี่ มีตราแผ่นดิน
  5. ไทยธรรม คือผ้าขาวพับเป็นผ้าลินินสำหรับตัดเสื้อ ผ้าไหมนุ่งหนึ่งผืน บุหรี่ ใบชาหนึ่งห่อ

อ้างอิง แก้

  1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ,2460
  2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ,2460

บรรณานุกรม แก้

  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ , ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น, โรงพิมพ์ไทย, 2460