ภาวะเสียการรับรู้สัณฐานโดยคลำ
ภาวะเสียการรับรู้สัณฐานโดยคลำ[1] (อังกฤษ: Astereognosis หรือเรียกว่า tactile agnosia ถ้าเป็นเพียงแค่มือเดียว) เป็นความไม่สามารถที่จะระบุวัตถุโดยการลูบคลำด้วยมืออย่างเดียว โดยไม่ใช้ความรู้สึกทางอื่น ๆ เช่นทางตาช่วย บุคคลมีภาวะนี้ ไม่สามารถระบุวัตถุต่าง ๆ โดยเพียงแค่จับต้องได้ แม้ว่า ความรู้สึกที่มือจะเป็นปกติ[2] คือ ถ้าปิดตา คนไข้ไม่สามารถระบุสิ่งที่อยู่ในมือได้[2] นี้ตรงข้ามกับ ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตา (visual agnosia) ซึ่งคนไข้ไม่สามารถระบุวัตถุโดยใช้สายตาเพียงอย่างเดียวได้
ภาวะเสียการระลึกรู้สัณฐานโดยคลำ (Astereognosis) | |
---|---|
สาขาวิชา | ประสาทวิทยา |
ส่วนคนไข้ภาวะ tactile agnosia (แปลว่าไม่รู้สัมผัส) อาจจะสามารถระบุชื่อ ประโยชน์ และความเป็นมาของวัตถุที่อยู่ในมือข้างซ้าย แต่บอกไม่ได้ด้วยมือข้างขวา หรือว่าในนัยตรงข้าม หรือว่าไม่สามารถบอกได้ด้วยทั้งสองมือ ภาวะเสียการรับรู้สัณฐานโดยคลำ (astereognosis) มุ่งหมายเอาคนไข้เหล่านั้นที่ไม่สามารถระบุวัตถุด้วยมือทั้งสอง แม้ว่า คนไข้อาจจะสามารถระบุรูปร่างทั่วไปเช่น เป็นรูปพีระมิด เป็นรูปร่างกลม ๆ แม้ว่าอาจจะมีความยากลำบากบ้าง แต่ก็จะไม่สามารถระบุวัตถุสามัญว่าคืออะไรโดยสัมผัส แม้ว่าวัตถุนั้นอาจมีลักษณะที่รู้ได้ง่ายและไม่เหมือนวัตถุอื่นเช่นซี่ของส้อม แต่คนไข้อาจจะแจ้งความรู้สึกถึงวัตถุโลหะยาวมีซี่หลายซี่แยกออกมาจากฐานเดียวกันในทิศทางเดียวกัน[3] แต่ไม่สามารถระบุวัตถุว่าคือส้อม อาการต่าง ๆ เหล่านี้บอกเป็นนัยว่า มีส่วนในสมองโดยเฉพาะที่ทำความสัมพันธ์ระหว่างตัวกระตุ้นทางสัมผัสต่าง ๆ กับหน้าที่หรือความเกี่ยวข้องต่อกันและกันของตัวกระตุ้นเหล่านั้น เพราะมีความเป็นไปที่เฉพาะเจาะจงอย่างนี้ และเพราะความที่สภาวะนี้มีผลเสียหายค่อนข้างน้อยต่อคุณภาพชีวิตของคนไข้ จึงเป็นเหตุให้ไม่ค่อยมีรายงานและงานวิจัยเกี่ยวกับคนไข้ที่มีภาวะนี้[3]
ภาวะเสียการรับรู้สัณฐานโดยคลำมีความสัมพันธ์กับรอยโรคในสมองกลีบข้าง (parietal lobe), หรือ dorsal column, หรือส่วนสมองที่อยู่ติดกันของสมองกลีบข้าง สมองกลีบขมับ (temporal lobe) และสมองกลีบท้ายท้อย (occipital lobe) ที่เป็นจุดเชื่อมที่เรียกว่า เขตสัมพันธ์ด้านหลัง (posterior association areas) ในซีกสมองซีกใดซีกหนึ่ง[2][3]
เชิงอรรถและอ้างอิง
แก้- ↑ "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑", ให้ความหมายของ stereognosis ว่า "การรับรู้สัณฐานโดยคลำ"
- ↑ 2.0 2.1 2.2 O'Sullivan, S.B.; Schmitz, T.J. (2007). Physical Rehabilitation (5th ed.). Philadelphia: F.A. Davis Company. pp. 1180–1181.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Gerstmann, J. (2001). Pure Tactile Agnosia Cognitive Neuropsychology. pp. 267–274.