ผื่นแพ้ยา
ผื่นแพ้ยาคือ ผลไม่พึงประสงค์ของยา (Adverse drug reaction) เกิดขึ้นหลังจากที่รับประทานยาที่แพ้ โดยอาจเกิดขึ้นทันทีหลังทานยาไม่เกินชั่วโมง หรืออาจใช้ระยะเวลานานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนกว่าจะร่างกายจะตอบสนองต่ออาการแพ้แล้วเกิดผื่นขึ้นกับยาแต่ละชนิด การเกิดผื่นแพ้ยาสามารถพบได้ทั้งในเพศหญิงหรือเพศชายและไม่ขึ้นกับอายุ บางรายหลังรับประทานยาที่แพ้ครั้งแรกอาจจะยังไม่ปรากฏผื่นแพ้ขึ้น อาจจะพบผื่นหลังจากได้รับยาซ้ำ แต่บางรายอาจพบผื่นแพ้ได้ทันทีที่รับยาครั้งแรก ทั้งนี้หากรับประทานยาที่แพ้ซ้ำจะทำให้เกิดอาการผื่นแพ้หรืออาการอื่นที่รุนแรงมากขึ้น
Drug eruption | |
---|---|
Examples of drug eruptions. (A) Bullous dermatitis caused by sulfathiazole (B) Fixed drug eruption caused by phenolphtalein (C) Bullous erythema multiforme (D) Diffuse photosensitivity reaction. | |
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก | |
ICD-10 | L27.0, L27.1 |
ICD-9 | 692.3, 782.1 |
eMedicine | derm/104 |
MeSH | D003875 |
อาการของผื่นแพ้ยา
ผื่นแพ้ยาอาจเกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง บริเวณใดบริเวณหนึ่งหรือลามทั่วร่างกาย หรืออาจเกิดบริเวณเยื่อบุอ่อนของร่างกาย เช่น เยื่อบุตา ช่องปาก อวัยวะเพศ ความรุนแรงของอาการผื่นจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย และลักษณะผื่นที่พบ จะมีหลายแบบแตกต่างกัน เช่น เป็นผื่นแดงราบ ผื่นจุดแดงเล็กกระจายทั่ว ผื่นนูนร่วมกับผื่นราบ อาจมีอาการคันร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ นอกจากอาการผื่น อาจพบอาการผิดปกติอื่น เช่น ผิวหนังลอก ปากบวม ตาบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่มหรือมีเสียงหวีด ซึ่งเป็นอาการของทางเดินหายใจตีบจะต้องรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
วิธีปฏิบัติตนเมื่อพบผื่นแพ้ยา
หากรับประทานยาใดก็ตามแล้วเกิดผื่นแดงคันขึ้นผิดปกติ และสงสัยว่าจะแพ้ยาให้หยุดยาแล้วกลับไปพบแพทย์หรือเภสัชกรทันที เพื่อประเมินว่าผื่นที่เกิดขึ้นเป็นผื่นแพ้ยาหรือเป็นผื่นโรคผิวหนัง เพราะโรคบางโรค เช่น การติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย การแพ้อาหารหรือผลิตภัณฑ์สขภาพต่าง ๆ ก็อาจแสดงอาการผื่นเช่นเดียวกันกับผื่นแพ้ยาได้ หากผื่นที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผื่นแพ้ยาแต่ผู้ป่วยหยุดยาเองแล้วแจ้งแพทย์ว่าแพ้ยา จะทำให้เสียโอกาสในการใช้ยานั้นรวมทั้งยาอื่นในกลุ่มเดียวกัน แต่หากไม่ทราบว่าแพ้ยาแล้วรับประทานยาเดิมซ้ำ อาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงกว่าเดิมจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
การรักษาผื่นแพ้ยา
โดยทั่วไปหากเป็นผื่นแพ้ยาไม่รุนแรงและมีการหยุดยาทันทีหลังเกิดผื่นแพ้ ผื่นจะสามารถยุบหายเองได้ แต่บางรายอาจมีอาการผื่นแพ้ยารุนแรง อาจมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติมรวมถึงติดตามอาการอื่นร่วมด้วย แล้วการแพ้ยาเป็นอาการที่เกิดขึ้นแล้วจะเป็นไปตลอดชีวิตไม่สามารถหายได้ ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องระมัดระวังไม่รับประทานยาเดิมซ้ำอีก
บัตรแพ้ยา
ผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินอาการแพ้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกร และได้รับการยืนยันว่าแพ้ยา จะได้รับบัตรแพ้ยาระบุชื่อยา อาการที่แพ้ ความรุนแรงของอาการแพ้ วันที่พบอาการแพ้ ผู้ป่วยจะต้องพกบัตรแพ้ยานี้ติดตัวตลอดเวลาและยื่นแสดงต่อสถานพยาบาลหรือร้านยาที่เข้ารับการรักษาทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการสั่งใช้ยาที่ผู้ป่วยแพ้ซ้ำ