แบทแมน ปะทะ ซูเปอร์แมน แสงอรุณแห่งยุติธรรม

(เปลี่ยนทางจาก Batman v Superman:Dawn of Justice)

แบทแมน ปะทะ ซูเปอร์แมน แสงอรุณแห่งยุติธรรม (อังกฤษ: Batman v Superman: Dawn of Justice) เป็นภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโรอเมริกัน ฉายเมื่อปี ค.ศ. 2016 สร้างจากตัวละครแบทแมนและซูเปอร์แมนของดีซีคอมิกส์ ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องต่อจาก บุรุษเหล็ก ซูเปอร์แมน (2013) และเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองในจักรวาลขยายดีซี[4] กำกับโดย แซ็ก สไนเดอร์ เขียนบทโดย คริส เทอร์ริโอและเดวิด เอส. โกเยอร์ มีนักแสดงนำจำนวนมาก ได้แก่ เบน แอฟเฟล็ก, เฮนรี แควิลล์, เจสซี ไอเซนเบิร์ก, กัล กาด็อต, ลอเรนซ์ ฟิชเบิร์น, เอมี แอดัมส์, เจเรมี ไอเอินส์, ฮอลลี ฮันเตอร์และไดแอน เลน แบทแมน ปะทะ ซูเปอร์แมน แสงอรุณแห่งยุติธรรม เป็นภาพยนตร์คนแสดงเรื่องแรกที่แบทแมนและซูเปอร์แมนปรากฏตัวพร้อมกัน เป็นการปรากฏตัวครั้งแรกของ วันเดอร์วูแมน ในรูปแบบภาพยนตร์คนแสดง ในภาพยนตร์ เล็กซ์ ลูเธอร์ อาชญากรอัจฉริยะ ปั่นหัวซูเปอร์แมนให้ต่อสู้กับแบทแมน ผู้ที่ลูเธอร์นั้นหลงใหล

แบทแมน ปะทะ ซูเปอร์แมน แสงอรุณแห่งยุติธรรม
ใบปิดภาพยนตร์
กำกับแซ็ค สไนเดอร์
เขียนบท
สร้างจากตัวละคร
จาก ดีซีคอมิกส์
อำนวยการสร้าง
นักแสดงนำ
กำกับภาพแลร์รี ฟอง
ตัดต่อเดวิด เบรนเนอร์
ดนตรีประกอบ
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายวอร์เนอร์บราเธอร์สพิกเจอส์
วันฉาย19 มีนาคม ค.ศ. 2016 (2016-03-19)(หอประชุมแห่งชาติ)
24 มีนาคม ค.ศ. 2016 (2016-03-24)(ไทย)
25 มีนาคม ค.ศ. 2016 (2016-03-25)(สหรัฐ)
ความยาว152 นาที[1]
ประเทศสหรัฐ
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง250–300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2][3]
ทำเงิน873.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[1]

ภาพยนตร์ได้รับการประกาศครั้งแรกในงาน ซานดิเอโกคอมิก-คอน เมื่อปี ค.ศ. 2013 หลังจากฉายของ บุรุษเหล็ก ซูเปอร์แมน สไนเดอร์กล่าวว่าภาพยนตร์จะได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือการ์ตูน แบทแมน ชุด เดอะดาร์กไนต์รีเทิร์นส์ โดย แฟรงก์ มิลเลอร์ แต่ชี้แจงว่าจะเป็นเรื่องราวต้นฉบับ ตัวละครแบทแมนในภาพยนตร์เรื่องนี้ แตกต่างจากตัวละครตัวเดียวกันที่แสดงใน อัศวินรัตติกาลไตรภาค ทำให้เป็นการรีบูตตัวละครในภาพยนตร์ใหม่อีกครั้ง ภาพยนตร์ยังได้รับแรงบันดาลใจจากองค์ประกอบการเล่าเรื่องใน "เดอะเดทออฟซูเปอร์แมน" งานก่อนการถ่ายทำเริ่มต้นที่ วิทยาลัยลอสแอนเจลิสตะวันออก ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2013 การถ่ายทำหลักเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2014 ที่ ดีทรอยต์ มีการถ่ายทำเพิ่มเติมที่ อิลลินอยและนิวเม็กซิโก การถ่ายสิ้นสุดในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

แบทแมน ปะทะ ซูเปอร์แมน แสงอรุณแห่งยุติธรรม ฉายรอบปฐมทัศน์ที่ หอประชุมแห่งชาติ ใน เม็กซิโกซิตี เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2016 และฉายในสหรัฐวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 2016 ในระบบสองมิติ, สามมิติ, ขนาดใหญ่พิเศษและฟิล์มขนาด 70 มิลลิเมตร จัดจำหน่ายโดย วอร์เนอร์บราเธอร์สพิกเจอส์ ภาพยนตร์เปิดตัวได้อย่างแข็งแกร่งในสัปดาห์แรกและได้สร้างสถิติใหม่ในบ็อกซ์ออฟฟิศ แต่กลับประสบปัญหาทำเงินตกต่ำที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ในสุดสัปดาห์ที่สอง แม้ว่าภาพยนตร์จะทำกำไรได้ แต่ก็ถือว่าทำเงินในบ็อกซ์ออฟฟิศได้อย่างน่าผิดหวัง ภาพยนตร์ได้รับคำวิจารณ์ที่ไม่ดีจากนักวิจารณ์ โดยติในเรื่องโทน, บทและจังหวะของภาพยนตร์ แม้ว่าบางคนจะชมในเรื่องด้านภาพและการแสดง ภาพยนตร์ฉบับขยาย มีชื่อว่า "อัลติเมตเอดิชัน" ซึ่งเพิ่มความยาวของภาพยนตร์อีก 31 นาที วางจำหน่ายในรูปแบบดิจิทัลเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 2016 และบลูเรย์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 2016 ภาพยนตร์ภาคต่อ จัสติซ ลีก ฉายในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2017[5][6]

โครงเรื่อง แก้

18 เดือนหลังการต่อสู้อย่างดุเดือดในเมืองเมโทรโปลิสระหว่างซูเปอร์แมนกับนายพลซ็อด ซูเปอร์แมนกลายเป็นหัวข้อถกเถียง คลาร์ก เค้นต์ นามแฝงของซูเปอร์แมนและนักข่าวของเดลีแพลเน็ทย้ายมาอยู่กับโลอิส เลน ขณะที่บรูซ เวย์น มหาเศรษฐีและผู้พิทักษ์เมืองกอแทมในชื่อ "แบทแมน" มองว่าซูเปอร์แมนเป็นภัยคุกคาม ด้านคลาร์กเองก็มองว่าแบทแมนเป็นภัยคุกคามเช่นกันและลงบทความโจมตีในเดลีแพลเน็ท เวย์นสืบรู้ว่านักค้าอาวุธชาวรัสเซีย อนาโตลี เคนยาเซฟติดต่อกับเล็กซ์ ลูเธอร์ เจ้าของบริษัทเล็กซ์ ลูเธอร์ขออนุญาตวุฒิสมาชิกจูน ฟินช์ให้นำคริปโตไนต์ขึ้นจากมหาสมุทรอินเดียหลังซ็อดพยายามจะแปรสภาพเป็นที่ดิน แต่ฟินช์ไม่อนุญาต ลูเทอร์ยังแอบติดต่อกับคนใกล้ชิดของฟินช์เพื่อครอบครองร่างของซ็อดและยานคริปโตไนต์

เวย์นร่วมงานเลี้ยงของลูเทอร์และพบกับไดแอนา พรินซ์ นักค้าของเก่าผู้ลึกลับ เวย์นลอบเข้าไปขโมยข้อมูลภายในเมนเฟรมของบริษัทเล็กซ์ ขณะกำลังถอดรหัสข้อมูลในถ้ำค้างคาว เวย์นฝันเห็นโลกหลังถูกภัยพิบัติ โดยมีเขาเป็นหัวหน้าทีมที่ต่อสู้กับซูเปอร์แมน เวย์นได้รับคำเตือนจากผู้เดินทางข้ามเวลาว่าเลนจะมีบทบาทสำคัญในอนาคตและรีบเร่งให้เขาค้นหา "คนอื่น ๆ" ภายหลังเวย์นพบว่าลูเธอร์ไม่ได้ต้องการแค่ทดลองคริปโตไนต์ แต่ยังทดลองกับยอดมนุษย์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือพรินซ์ซึ่งเป็นนักรบอมตะ เวย์นบอกกับอัลเฟรด เพนนีเวิร์ธ พ่อบ้านและคนใกล้ชิดว่าเขาวางแผนจะขโมยคริปโตไนต์เพื่อใช้ต่อสู้กับซูเปอร์แมน

ลูเธอร์วางระเบิดในที่ประชุมที่ฟินช์กำลังไต่สวนซูเปอร์แมน ทำให้ทุกคนเสียชีวิต ซูเปอร์แมนซึ่งเสียใจที่ยับยั้งเหตุการณ์นี้ไม่ได้ตัดสินใจเนรเทศตัวเอง ด้านแบทแมนบุกเข้าไปในบริษัทเล็กซ์เพื่อขโมยคริปโตไนต์ จากนั้นได้สร้างชุดเกราะ ปืนยิงระเบิดคริปโตไนต์และหอกคริปโตไนต์ ขณะเดียวกันลูเธอร์ได้เข้าไปในยานคริปโตไนต์และได้พบข้อมูลหลายอย่าง

ลูเธอร์ลักพาตัวมาร์ธา เค้นต์ แม่บุญธรรมของคลาร์กและเปิดเผยว่าตนต้องการยุยงให้ซูเปอร์แมนและแบทแมนสู้กัน ลูเธอร์บังคับให้ซูเปอร์แมนฆ่าแบทแมนเพื่อแลกกับชีวิตของมาร์ธา ซูเปอร์แมนพยายามอธิบายให้แบทแมนฟังแต่ไม่สำเร็จ ทั้งคู่สู้กันอย่างรุนแรง ก่อนที่แบทแมนจะมีโอกาสฆ่าซูเปอร์แมน ซูเปอร์แมนบอกแบทแมนให้ "ปกป้องมาร์ธา" ซึ่งมีชื่อเดียวกับแม่ของแบทแมน เลนมาถึงแล้วอธิบายสถานการณ์ทั้งหมดให้ทั้งคู่ฟัง แบทแมนจึงแยกไปช่วยมาร์ธา ส่วนซูเปอร์แมนไปพบลูเธอร์ที่ยานคริปโตไนต์

เมื่อแผนการไม่สำเร็จ ลูเธอร์ใช้แผนสำรองคือปล่อยดูมส์เดย์ สัตว์ประหลาดที่ตัดต่อพันธุกรรมจากดีเอ็นเอของซ็อดและของเขาเองออกมา ซูเปอร์แมน แบทแมนและพรินซ์ในชื่อ "วันเดอร์วูแมน" ร่วมกันต่อสู้กับดูมส์เดย์แต่สู้ไม่ได้ เมื่อพบว่าดูมส์เดย์จะอ่อนพลังเมื่อถูกคริปโตไนต์ ซูเปอร์แมนใช้หอกคริปโตไนต์แทงดูมส์เดย์จนตาย แต่ซูเปอร์แมนที่อ่อนแรงจากคริปโตไนต์เช่นกันก็ถูกดูมส์เดย์แทงตาย

ลูเธอร์ถูกจับกุมและถูกโกนศีรษะ เมื่อเวย์นไปเยี่ยม ลูเธอร์เย้ยหยันว่าเมื่อซูเปอร์แมนตายไป โลกก็อ่อนแอเกินกว่าจะต่อต้านสิ่งมีชีวิตนอกโลกที่มาคุกคาม ลูเธอร์ยังเตือนว่ากำลังมีบางสิ่งที่ใหญ่กว่านี้มาที่โลก มีการจัดงานรำลึกถึงซูเปอร์แมนที่เมืองเมโทรโปลิส คลาร์กถูกประกาศว่าเสียชีวิต เวย์น, เลน, มาร์ธาและพรินซ์มาร่วมงานศพของเขา มาร์ธามอบซองที่ภายในมีแหวนหมั้นของคลาร์กให้เลน ด้านเวย์นพูดคุยกับพรินซ์หลังงานศพว่าเขาตั้งใจจะสร้างทีมยอดมนุษย์เพื่อทำหน้าที่ปกป้องโลกหลังซูเปอร์แมนตาย โดยเริ่มจากค้นหาจากในเอกสารของลูเธอร์ เมื่อทั้งหมดกลับไป เศษดินรอบ ๆ โลงศพของคลาร์กก็เริ่มลอยขึ้น

นักแสดง แก้

นอกจากนี้ยังมีเรย์ ฟิชเชอร์, เจสัน โมโมอาและเอซรา มิลเลอร์ ที่มารับบทวิกเตอร์ สโตน/ไซบอร์ก, อาร์เธอร์ เคอร์รี/อะควาแมนและแบร์รี อัลเลน/เดอะแฟลช ตามลำดับ เพื่อปูทางไปสู่ จัสติซลีก อีกด้วย

การผลิต แก้

แบทแมน ปะทะ ซูเปอร์แมน แสงอรุณแห่งยุติธรรม ได้รับการประกาศในงาน San Diego Comic-Con International ปี 2013 หลังการออกฉายของ บุรุษเหล็กซูเปอร์แมน โดยแซ็ค สไนเดอร์และเดวิด เอส. โกเยอร์จะกลับมาทำหน้าที่ผู้กำกับและผู้เขียนตามลำดับ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือการ์ตูนแบทแมนตอน The Dark Knight Returns การถ่ายทำเริ่มในเดือนพฤษภาคม 2014 ที่ดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน และถ่ายทำเพิ่มเติมที่ชิคาโก รัฐอิลลินอย การถ่ายทำเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน

การตอบรับ แก้

การตอบรับในประเทศไทย แก้

แบทแมน ปะทะ ซูเปอร์แมน แสงอรุณแห่งยุติธรรม ทำรายได้เปิดตัวในประเทศไทย 18.71 ล้านบาท[8] ระหว่างวันที่ 14-20 เมษายน 2016 ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ 152.72 ล้านบาท[9]

รางวัล แก้

แบทแมน ปะทะ ซูเปอร์แมน แสงอรุณแห่งยุติธรรม ได้รับรางวัลโกลเดนเทรเลอร์อะวอดส์ 2016 สาขา Most Original Poster[10]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "Batman v Superman: Dawn of Justice (2016)". Box Office Mojo. สืบค้นเมื่อ December 20, 2017.
  2. McClintock, Pamela (March 27, 2016). "'Batman v Superman': Inside Warner Bros.' Massive Marketing That Led to a Record Opening". The Hollywood Reporter. สืบค้นเมื่อ April 7, 2016.
  3. FilmL.A. (June 2017). "2016 Feature Film Study" (PDF). p. Page 23. สืบค้นเมื่อ May 8, 2018.
  4. Wade, Jessie (July 21, 2018). "DC Finally Names Its Movie Brand - Comic-Con 2018". IGN (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ July 22, 2018.
  5. Gonzalez, Umberto (August 8, 2016). "Warner Bros. Puts 'Man of Steel' Sequel Into Active Development (Exclusive)". The Wrap.
  6. Chitwood, Adam (March 13, 2017). "Exclusive: Warner Bros. Eyeing Matthew Vaughn to Direct 'Man of Steel 2'". Collider.com. สืบค้นเมื่อ July 2, 2017.
  7. Downes, Robin Atkin (February 27, 2016). "Very proud to release that I helped bring #Doomsday to life in the upcoming @BatmanvSuperman #Dreamgigs". Twitter. สืบค้นเมื่อ February 26, 2016.
  8. รายได้เปิดตัวหนังใหม่ ประจำวันที่ 24 มี.ค. 2559
  9. รายได้หนังในไทย ประจำสัปดาห์ที่ 14-20 เม.ย. 2559
  10. "Most Original Poster". Golden Trailer Awards. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-23. สืบค้นเมื่อ November 16, 2017.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้