ไทยอาร์มฟอร์ซ.คอม

เว็บไซต์ชุมชนข้อมูลข่าวสารการทหารของประเทศไทย

ไทยอาร์มฟอร์ซ.คอม[1] (อังกฤษ: ThaiArmedForce.com: TAF) เป็นเว็บไซต์อิสระทางการทหารของประเทศไทย[2] ดำเนินการโดยกลุ่มพลเรือนที่สนใจในเรื่องของเทคโนโลยีทางการทหารในประเทศไทย เปิดตัวเมื่อปี พ.ศ. 2552

ไทยอาร์มฟอร์ซ.คอม
โลโก้ของเว็บ ThaiArmedForce.com แนวนอน
ประเภทข่าวสารเทคโนโลยีทางการทหาร
ภาษาที่ใช้ได้ภาษาไทย
ประเทศต้นทางประเทศไทย
ผู้ก่อตั้งป้าจู ดลชนก
บรรณาธิกรณ์อนาลโย กอสกุล
ยูอาร์แอลthaiarmedforce.com
เปิดตัว18 มกราคม พ.ศ. 2552; 15 ปีก่อน (2552-01-18)

ประวัติ แก้

ยุคเว็บบอร์ด แก้

ไทยอาร์มฟอร์ซ.คอม มีจุดเริ่มต้นมาจากการรวมตัวกันของผู้ที่ชื่นชอบเทคโนโลยีทางการทหารในประเทศไทย โดยเริ่มมาจากการเข้าไปร่วมสนทนาในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ของกองบิน 21 กองทัพอากาศไทย[3] พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน จนได้นัดเจอกันในชีวิตจริงเพื่อพูดคุยถึงหัวข้อที่สนใจกัน ต่อมาเว็บบอร์ดของกองบิน 21 ดังกล่าวได้ปิดตัวลง[4] จึงได้ขยับมาพูดคุยกันภายในเว็บบอร์ดพันทิป.คอม ซึ่งเป็นสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในขณะนั้น ในห้องที่ชื่อว่า หว้ากอ[3] รวมถึงสมาชิกบางส่วนได้เขียนบทความเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการทหารและความมั่นคงต่าง ๆ ภายในบล็อกของพันทิปที่ชื่อว่า บล็อกแก๊งค์

ยุคก่อตั้งเว็บไซต์ แก้

จากนั้นได้มีสมาชิกของเว็บบอร์ดพันทิป.คอม ท่านหนึ่งที่ทีมงานเรียกกันในชื่อว่า ป้าจู[3] หรือชื่อจริงว่า ดลชนก[5] เชิญชวนให้กลุ่มบุคคลที่มีความสนใจดังกล่าวได้รวมตัวกันจนก่อให้เกิดเว็บไซต์ที่ชื่อว่า ไทยอาร์มฟอร์ซ.คอม ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551[5] และเปิดตัวเว็บไซต์เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2552 ซึ่งตรงกับวันกองทัพไทย

ขณะนั้นภายในเว็บไซต์ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนของเว็บไซต์หลัก มีเนื้อหาที่เขียนโดยคณะทำงานของเว็บไซต์เอง เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารทางด้านการทหารต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งที่มีการวิเคราะห์และการอัปเดตข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ และส่วนของเว็บบอร์ดสำหรับสมาชิกของเว็บได้แลกเปลี่ยนสนทนากันภายในห้องต่าง ๆ[3]

ยุคสื่อสังคมออนไลน์ แก้

เมื่อยุคของเว็บไซต์ที่มีระบบเว็บบอร์ดได้ลดความนิยมลง เว็บไซต์ไทยอาร์มฟอร์ซ.คอม จึงได้ปิดตัวเว็บบอร์ดลง และแทนที่ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ[3] ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ อินสตราแกรม โดยเฉพาะบนเฟซบุ๊ก นอกจากจะสร้างแฟนเพจสำหรับสื่อสารเนื้อหาต่าง ๆ จากเว็บไซต์แล้ว ยังได้สร้างกลุ่มสำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่าง ๆ ทางการทหารขึ้นมาภายในเฟซบุ๊ก

สำหรับกลุ่มในเฟซบุ๊ก ช่วงแรกมีเพียงกลุ่มสำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนในภาษาไทย ชื่อว่า TAF Main Discussion Group ต่อมาได้มีการเปิดกลุ่มในภาคภาษาอังกฤษเพื่อให้ชาวต่างชาติที่มีความสนใจได้ร่วมพูดคุย ชื่อว่า TAF English Forum และในปี พ.ศ. 2565 ได้เปิดกลุ่มที่มีระบบสมัครสมาชิกรายเดือนเพื่อรับเงินค่าสมาชิกผ่านระบบของเฟซบุ๊กเพื่อสนับสนุนการทำงานของเว็บไซต์ โดยจะมีการอัปเดตข้อมูลข่าวสารที่เจาะลึกและละเอียดกว่าที่เผยแพร่ทางช่องทางปกติ

ช่องทางสื่อออนไลน์ แก้

การดำเนินงาน แก้

คณะทำงาน แก้

ไทยอาร์มฟอร์ซ.คอม ทำงานในรูปแบบของคณะทำงาน เนื่องจากทีมงานทุกคนทำหน้าที่ในทุกบทบาท รวมถึงร่วมกันกำหนดทิศทางการทำงานของเว็บไซต์ โดยคณะทำงานแต่ละคนนั้นจะมีทักษะการทำงานและความสนใจในหลายด้านที่แตกต่างกัน อาทิ บางคนถนัดเรื่องงานเขียนบทความ บางคนถนัดงานถ่ายภาพ[6] บางคนเชี่ยวชาญในด้านเรื่องของยุทธวิธี ในเรื่องของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ มารวมตัวกันและร่วมกันทำงานในการดูแลเว็บไซต์ ดูแลสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และกำกับดูแลกลุ่มแลกเปลี่ยนสนทนาให้สูญเสียบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนพูดคุย[3]

แหล่งข้อมูล แก้

ข้อมูลของเว็บไซต์นั้นส่วนใหญ่ได้มากจากการค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลเปิดต่าง ๆ ในต่างประเทศ ทั้งจากอินเทอร์เน็ต และจากผู้ผลิตต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมอาวุธ ซึ่งในขณะเดียวกันก็มีการเก็บข้อมูลจากภาคสนามจริงด้วย ทั้งในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ การฝึกซ้อม และการสาธิตประสิทธิภาพอาวุธต่าง ๆ รวมถึงการเดินทางไปยังต่างประเทศด้วยเงินทุนส่วนตัวของคณะทำงานเอง มุ่งเน้นไปในส่วนของกิจกรรมทางการทหารของประเทศในภูมิภาคอาเซียน จนเกิดเป็นเครือข่ายการทำงานของผู้ที่สนใจในเรื่องของเทคโนโลยีทางการทหารภายในภูมิภาคที่เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน[3]

แหล่งข้อมูลอีกทางของเว็บไซต์คือการสัมภาษณ์ทั้งในส่วนของบุคคลที่ดูแลข้อมูลต่าง ๆ และการสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ในภาคสนาม ซึ่งมีความโดดเด่นในด้านของคำถามที่มุ่งเน้นไปที่ประเด็นข้อมูลทางเทคโนโลยีและยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่แตกต่างจากสื่อกระแสหลัก และตรงประเด็น ทำให้แหล่งข่าวมีความมั่นใจในการให้ข้อมูลกับเว็บไซต์ซึ่งมีความเข้าใจในด้านของเทคโนโลยีทางการทหารที่มากกว่าสื่อมวลชนทั่วไป[3]

เนื้อหา แก้

เนื้อหาของไทยอาร์มฟอร์ซ.คอม นั้นจะเกี่ยวกับการพูดคุยและวิเคราะห์ถึงประเด็นและสถานการณ์ทางการทหารและความมั่นคงต่าง ๆ รวมถึงข่าวสารทางการทหาร ทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งเนื้อหาหลักในปัจจุบัน ประกอบไปด้วย

  • TAF Talk เป็นการพูดคุยและวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ โดย อนาลโย กอสกุล หนึ่งในคณะทำงานของเว็บไซต์ ในรูปแบบของคลิปวีดีโอสั้นพร้อมภาพประกอบอธิบาย ผ่านทางช่องยูทูบและเฟซบุ๊กแฟนเพจ
  • TAF Editorial เป็นเนื้อหาบทวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ ในรูปแบบของบทความประกอบรูปภาพ โดยคณะทำงานของเว็บไซต์ ผ่านทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊กแฟนเพจ
  • TAF MilTalk เป็นการพูดคุยวิเคราะห์และร่วมแลกเปลี่ยนระหว่างคณะทำงานของเว็บไซต์ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับประเด็นที่สนทนาในแต่ละครั้ง รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ร่วมถามคำถาม เสนอความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ กันกับคณะทำงาน ผ่านทางคลับเฮาส์ และถ่ายทอดเสียงผ่านช่องยูทูบและเฟซบุ๊กแฟนเพจ

บทบาทต่อสังคม แก้

ไทยอาร์มฟอร์ซ.คอม ถูกใช้อ้างอิงในข้อมูลเกี่ยวกับทางการทหารโดยสื่อมวลชนกระแสหลัก ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ[7] เนื่องจากแนวทางการทำเนื้อหาของเว็บไซต์ที่เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อองค์กรหรือหน่วยงานใด ๆ รวมถึงถูกรับเชิญไปให้ความคิดเห็น[8]ต่อสถานการณ์ทางการทหารและความมั่นคงต่าง ๆ อาทิ สงครามรัสเซีย–ยูเครน[9] การจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ[10] การสังหารหมู่ที่จังหวัดหนองบัวลำภู[11] กรณีการอับปางจากพายุของเรือหลวงสุโขทัย[7][12][13]

ในหลายครั้งนั้น ข้อมูลจากไทยอาร์มฟอร์ซ.คอม มักจะถูกใช้ประกอบการอภิปรายต่าง ๆ ภายในรัฐสภา และถูกใช้งานทั้งในด้านของความคิดเห็นและข้อมูลต่าง ๆ โดยทั้งหน่วยงานในรัฐบาลไทยและรัฐบาลต่างประเทศ[6]

การถูกคุกคาม แก้

เนื่องจากหัวข้อส่วนใหญ่ของเว็บไซต์ประกอบไปด้วยหัวข้อที่พูดคุยและพูดถึงกิจการทางทหาร ทำให้หน่วยงานความมั่นคงมองว่าข้อมูลหลายส่วนส่งผลต่อความมั่นคง รวมไปถึงมองว่าคณะทำงานของเว็บไซต์มีผู้สนับสนุนหรืออยู่เบื้องหลังการทำงานต่าง ๆ หรือก่อตั้งมาเพื่อมุ่งเป้าโจมตีไปยังกองทัพ[3] เนื่องจากความไม่คุ้นเคยในการถูกพูดถึงในสังคมอย่างเปิดเผยในหลาย ๆ กรณี ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ[10][14] และความคลุมเครือในการทำงานของกองทัพและหน่วยงานรัฐ[11][13]

นอกจากนี้ยังมีส่วนของบุคคลทั่วไปที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นภายในกลุ่มแลกเปลี่ยนพูดคุยโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเข้ามาก่อกวนอย่างชัดเจน และขัดต่อกฎเกณฑ์การพูดคุยของกลุ่ม โดยจะมีการดำเนินการเป็นขั้นตอน ทั้งการตักเตือนกันเองโดยสมาชิกด้วยกัน ผ่านการสร้างสังคมภายในกลุ่มสนทนาที่มีวุฒิภาวะ หากระทำผิดซ้ำซากและชัดเจนจนถึงเกณฑ์ที่กำหนดจะดำเนินการแบนออกจากกลุ่ม[3]

อ้างอิง แก้

  1. "เรือหลวงสุโขทัย : ค้นหาวันที่ 4 ยังไม่พบผู้สูญหายเพิ่ม". BBC News ไทย. 2022-12-19.
  2. "ล่มเพราะอะไร? ทำไมช่วยชีวิตลูกเรือไว้ไม่ได้? สรุปเหตุ 'เรือหลวงสุโขทัย' อับปาง". The MATTER (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-12-21.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 admin (2018-09-07). "สื่อทางเลือกในสมรภูมิ"ข่าวอาวุธ"". สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย.
  4. "ขอขอบคุณเว็บบอร์ด Wing 21 (กองบิน 21) ค่ะ". www.thaifighterclub.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-25. สืบค้นเมื่อ 2022-12-25.
  5. 5.0 5.1 "18 ม.ค. 2565 เป็นวันเกิดครบรอบ 13 ปีของ TAF". thaiarmedforce. 2022-01-17.
  6. 6.0 6.1 Bangkok, U. S. Embassy (2019-06-13). "25th Annual Cooperation Afloat Readiness and Training (CARAT) Thailand". U.S. Embassy & Consulate in Thailand (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  7. 7.0 7.1 "เรือหลวงสุโขทัย : แผนค้นหาผู้สูญหายวันที่ 5 กับเงื่อนปมเหตุอับปาง". BBC News ไทย. 2022-12-23.
  8. "ชมคลิป: เรือหลวงสุโขทัยล่ม โศกนาฏกรรม ไร้เสื้อชูชีพ-ขาดงบบำรุง? | THE STANDARD NOW". THE STANDARD. 2022-12-20.
  9. "ยูเครนเพิ่มไอเท็ม ยื้อเวลารบรัสเซีย". www.thairath.co.th. 2022-03-02.
  10. 10.0 10.1 รัฐบาลถอย ชะลอซื้อ "เรือดำน้ำ" : ถามตรงๆกับจอมขวัญ, 2020-08-31, สืบค้นเมื่อ 2022-12-25
  11. 11.0 11.1 "ThaiArmedForce: ส่องแดนสนธยาอาวุธปืน ผ่านโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2022-10-21.
  12. เพจดังวิเคราะห์เบื้องต้นสาเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ตั้ง 10 ข้อสังเกตน่าสนใจ, สืบค้นเมื่อ 2022-12-25
  13. 13.0 13.1 ""เรือรบ" เสื้อชูชีพไม่พอ "เรือดำน้ำ"ไม่มีเครื่องยนต์ รอยแผลเป็นแห่ง "กองทัพเรือไทย"". mgronline.com. 2022-12-24.
  14. มติชนสุดสัปดาห์; arm (2022-12-13). "ซื้อเรือดำน้ำไม่ตรงสัญญา! ไทยชาติแรกในโลก ใช้เครื่องยนต์จีน ไม่เคยใช้ที่ไหนมาก่อน". มติชนสุดสัปดาห์.