โอลด์แทรฟฟอร์ด
โอลด์แทรฟฟอร์ด (อังกฤษ: Old Trafford) เป็นสนามฟุตบอลในเขตโอลด์แทรฟฟอร์ด (เกรตเตอร์แมนเชสเตอร์) ประเทศอังกฤษ และเป็นสนามเหย้าของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในพรีเมียร์ลีก มีจำนวนความจุ 74,310 ที่นั่ง[1] โอลด์แทรฟฟอร์ดเป็นสนามกีฬาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาสโมสรในสหราชอาณาจักร โดยเป็นสนามกีฬาฟุตบอลขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 (รองจากสนามกีฬาเวมบลีย์) และใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ในอังกฤษ[3] และสนามแห่งนี้อยู่ห่างจากโอลด์แทรฟฟอร์ดคริกเกตกราวนด์ 0.5 ไมล์ (800 เมตร)[4]โอลด์แทรฟฟอร์ดเป็นสนามเหย้าของยูไนเต็ดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1910 แม้ว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941 ถึง ค.ศ. 1949 สโมสรจะใช้เมนโรดร่วมกับสโมสรคู่แข่งร่วมเมืองอย่างแมนเชสเตอร์ซิตี อันเป็นผลมาจากความเสียหายจากระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 โอลด์แทรฟฟอร์ดได้ทำการขยายสนามหลายครั้งในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 และ 2000 รวมถึงการเพิ่มชั้นที่ 2 ให้กับอัฒจันทร์ฝั่งเหนือหรืออัฒจันทร์เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน, อัฒจันทร์ฝั่งตะวันตกหรือสเตรตฟอร์ดเอนด์ และอัฒจันทร์ฝั่งตะวันออก ทำให้สนามกลับมาจุได้เกือบ 80,000 ที่นั่ง การขยายสนามในอนาคตน่าจะเกี่ยวข้องกับการเพิ่มชั้น 2 ให้กับอัฒจันทร์ฝั่งใต้หรืออัฒจันทร์เซอร์ บ็อบบี ชาร์ลตัน ซึ่งจะเพิ่มความจุเป็นประมาณ 88,000 ที่นั่ง สถิติคนดูมากที่สุดของสนามถูกบันทึกไว้ในปี ค.ศ. 1939 เมื่อมีผู้ชม 76,962 คนชมการแข่งขันเอฟเอคัพรอบรองชนะเลิศระหว่างวุลเวอร์แฮมป์ตันวอนเดอเรอส์และกริมสบีทาวน์
ชื่อเต็ม | โอลด์แทรฟฟอร์ด |
---|---|
ที่ตั้ง | เซอร์แมตต์บัสบีเวย์ โอลด์แทรฟฟอร์ด เกรตเตอร์แมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ |
เจ้าของ | แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด |
ผู้ดำเนินการ | แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด |
ความจุ | 74,140[1] |
สถิติผู้ชม | 76,962 (วุลเวอร์แฮมป์ตันวอนเดอเรอส์ vs กริมสบีทาวน์, 25 มีนาคม ค.ศ. 1939) |
ขนาดสนาม | 105 x 68 เมตร (114.8 × 74.4 หลา)[2] |
พื้นผิว | เดสโซกราสมาสเตอร์ |
การก่อสร้าง | |
ลงเสาเข็ม | ค.ศ. 1909 |
เปิดใช้สนาม | 19 กุมภาพันธ์ 1910 |
ปรับปรุง | 1941, 1946–1949, 1951, 1957, 1973, 1995–1996, 2000, 2006 |
งบประมาณในการก่อสร้าง | 90,000 ปอนด์ (ค.ศ. 1909) |
สถาปนิก | Archibald Leitch (ค.ศ. 1909) |
การใช้งาน | |
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (ค.ศ. 1910–ปัจจุบัน) |
โอลด์แทรฟฟอร์ดเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเอฟเอคัพ รอบชิงชนะเลิศ 1 ครั้ง รอบชิงชนะเลิศนัดรีเพลย์ 2 ครั้ง และถูกใช้เป็นสนามกลางสำหรับการแข่งขันรอบรองชนะเลิศเป็นประจำ ยังเคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันของทีมชาติอังกฤษในฟุตบอลโลก 1966 ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1996 และโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 รวมถึงฟุตบอลหญิงระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และแชมเปียนส์ลีกรอบชิงชนะเลิศ 2003 นอกเหนือจากการแข่งขันฟุตบอลแล้วยังเป็นสถานที่จัดการแข่งขันซูเปอร์ลีก แกรนด์ไฟนอล ของรักบี้ลีกทุกปียกเว้นปี ค.ศ. 2020 และรอบชิงชนะเลิศรักบี้ลีกชิงแชมป์โลก ในปี 2000, 2013 และ 2022
ประวัติ
การก่อสร้างและช่วงปีแรก
ก่อนปี 1902 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเป็นที่รู้จักในชื่อนิวตันฮีต ซึ่งระหว่างนั้นพวกเขาเล่นที่นอร์ทโรดและแบงก์สตรีตในย่านเคลย์ตัน อย่างไรก็ตาม สนามทั้งสองมีสภาพที่ไม่ดี นอร์ทโรดมีตั้งแต่กรวดไปจนถึงแอ่งน้ำ ในขณะที่แบงก์สตรีตประสบปัญหากลุ่มควันจากโรงงานใกล้เคียง[5] ดังนั้น หลังจากที่สโมสรรอดพ้นจากการล้มละลายและเปลี่ยนชื่อเป็นแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด จอห์น เฮนรี เดวีส์ ประธานสโมสรคนใหม่ได้ตัดสินใจในปี 1909 ว่าแบงก์สตรีตไม่เหมาะกับทีมที่เพิ่งคว้าแชมป์ดิวิชัน 1 และเอฟเอคัพมาได้ไม่นาน เขาจึงตัดสินใจบริจาคเงินเพื่อสร้างสนามฟุตบอลแห่งใหม่[6] เดวีส์สำรวจรอบ ๆ แมนเชสเตอร์ เพื่อหาสถานที่ที่เหมาะสม ก่อนที่จะปักหลักอยู่บนพื้นที่ที่ติดกับคลองบริดจ์วอเตอร์ ไม่ไกลจากถนนวอร์วิค ในเขตโอลด์แทรฟฟอร์ด[7]
ออกแบบโดยอาร์ชิบัลด์ ลิทช์ สถาปนิกชาวสก็อต ซึ่งเป็นผู้ออกแบบสนามฟุตบอลหลายแห่ง เดิมสนามได้รับการออกแบบให้มีความจุ 100,000 คน และมีที่นั่งในอัฒจันทร์ด้านทิศใต้ที่มีหลังคา ในขณะที่อัฒจันทร์ 3 ด้านที่เหลือเป็นระเบียงและไม่มีหลังคา[8] การก่อสร้างสนามเดิมมีค่าใช้จ่าย 60,000 ปอนด์ อย่างไรก็ตามด้วยต้นทุนที่เริ่มสูงขึ้น การก่อสร้างทั้งหมดจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก 30,000 ปอนด์จากประมาณการเดิม และตามคำแนะนำของ เจ. เจ. เบนท์ลีย์ เลขานุการสโมสร ให้ลดทอนค่าใช้จ่ายทำให้ความจุของสนามลดลงเหลือประมาณ 80,000 คน[9][10]
ในเดือนพฤษภาคม 1908 อาร์ชิบัลด์ ลิทช์ เขียนจดหมายถึง Cheshire Line Committee ซึ่งมีสถานีรถไฟติดกับสถานที่ก่อสร้างสนามฟุตบอล เพื่อพยายามโน้มน้าวให้พวกเขาบริจาคเงินอุดหนุนการก่อสร้างอัฒจันทร์หลักข้างทางรถไฟ เงินอุดหนุนจะมีมูลค่ารวม 10,000 ปอนด์ โดยจะต้องจ่ายคืนในอัตรา 2,000 ปอนด์ต่อปีเป็นเวลา 5 ปีหรือครึ่งหนึ่งของรายรับจากอัฒจันทร์หลักในแต่ละปีจนกว่าจะชำระคืนเงินกู้ อย่างไรก็ตามแม้จะมีการค้ำประกันเงินกู้ที่มาจากสโมสรและโรงเบียร์ท้องถิ่น 2 แห่งซึ่งบริหารโดย จอห์น เฮนรี เดวีส์ ประธานสโมสร แต่ Cheshire Line Committee ก็ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว[11] ซีแอลซีได้วางแผนที่จะสร้างสถานีใหม่ที่อยู่ติดกับสนามฟุตบอล ในที่สุดสถานีแทรฟฟอร์ดพาร์ก ก็ถูกสร้างขึ้น แต่อยู่ไกลกว่าที่วางแผนไว้เดิม[7] ต่อมา ซีแอลซีได้สร้างสถานีขนาดเล็กโดยมีชานชาลาที่สร้างด้วยไม้ 1 หลังติดกับสนาม และเปิดทำการในวันที่ 21 สิงหาคม 1935 ในตอนแรกมีชื่อว่า United Football Ground[12] แต่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Old Trafford Football Ground ในต้นปี 1936 ให้บริการในวันแข่งขันด้วยบริการรถรับส่งของรถไฟไอน้ำจากสถานีรถไฟกลางแมนเชสเตอร์[13] ปัจจุบันเป็นที่รู้จักในชื่อสถานีรถไฟ Manchester United Football Ground[14]
การก่อสร้างดำเนินการโดย Messrs Brameld และ Smith of Manchester[15] และการก่อสร้างแล้วเสร็จในปลายปี 1909 โอลด์แทรฟฟอร์ดได้จัดการแข่งขันนัดแรกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1910 ในศึกดิวิชัน 1 นัดที่ยูไนเต็ดเปิดบ้านพบกับลิเวอร์พูล อย่างไรก็ตามเจ้าบ้านไม่สามารถมอบชัยชนะให้แฟนบอลได้เนื่องในโอกาสนี้ เนื่องจากลิเวอร์พูลชนะ 4–3
ก่อนการก่อสร้างสนามเวมบลีย์ในปี 1923 การแข่งขันเอฟเอคัพรอบชิงชนะเลิศจัดขึ้นที่สนามต่าง ๆ ทั่วอังกฤษ รวมถึงโอลด์แทรฟฟอร์ดด้วย[16] ครั้งแรกคือเอฟเอคัพ รอบชิงชนะเลิศ 1911 นัดรีเพลย์ระหว่างแบรดฟอร์ดซิตีและนิวคาสเซิลยูไนเต็ด หลังจากเสมอกันแบบไร้สกอร์ที่คริสตัลพาเลซ แบรดฟอร์ดชนะ 1–0 จากประตูชัยของจิมมี สเปียร์ส ในการแข่งขันที่มีผู้ชม 58,000 คน[17] เอฟเอคัพรอบชิงชนะเลิศครั้งที่ 2 ของโอลด์แทรฟฟอร์ดคือเอฟเอคัพ รอบชิงชนะเลิศ 1915 ระหว่างเชฟฟีลด์ยูไนเต็ดและเชลซี เชฟฟีลด์ยูไนเต็ดชนะ 3–0 ต่อหน้าผู้ชมเกือบ 50,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกองทัพ ทำให้รอบชิงชนะเลิศได้รับฉายาว่า "รอบชิงชนะเลิศสีกากี"[18] เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 1920 โอลด์แทรฟฟอร์ดเปิดบ้านพบกับแอสตันวิลลาในลีกโดยมีผู้ชม 50,704 คน ซึ่งทีมปีศาจแดงแพ้ 1–3 กลายเป็นการแข่งขันที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง[19]
ทิ้งระเบิดในช่วงสงคราม
ในปี 1936 มีการปรับปรุงโดยเพิ่มหลังคายาว 80 หลามูลค่า 35,000 ปอนด์ให้กับอัฒจันทร์ยูไนเต็ดโรด (ปัจจุบันคืออัฒจันทร์เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน) เป็นครั้งแรก[20] และได้ต่อเติมเพิ่มหลังคาที่มุมทางทิศใต้ในปี 1938 เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น โอลด์แทรฟฟอร์ดถูกกองทัพใช้เป็นคลังพัสดุ ฟุตบอลยังคงเล่นต่อไป แต่การโจมตีด้วยระเบิดของเยอรมันที่แทรฟฟอร์ดพาร์ก เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 1940 ทำให้สนามเสียหายถึงขนาดที่การแข่งขันในวันคริสต์มาสกับสต็อคพอร์ทเคาน์ตี จะต้องเปลี่ยนมาใช้สนามของสต็อคพอร์ทแทน ฟุตบอลกลับมาเล่นอีกครั้งที่โอลด์แทรฟฟอร์ดอีกครั้งในวันที่ 8 มีนาคม 1941 หลังจากปิดซ่อมแซมสนาม แต่การโจมตีของเยอรมันอีกครั้งในวันที่ 11 มีนาคม 1941 ได้ทำลายสนามไปมาก โดยเฉพาะอัฒจันทร์หลัก (ปัจจุบันคืออัฒจันทร์เซอร์ บ็อบบี ชาร์ลตัน) ส่งผลให้สโมสรต้องย้ายไปเล่นที่คอมบรูคโคลด์สตอเรจ ซึ่งมีเจมส์ ดับเบิลยู. กิบสัน ประธานสโมสรในขณะนั้นเป็นเจ้าของเป็นสนามเหย้าชั่วคราว
เปลี่ยนเป็นอัฒจันทร์พร้อมที่นั่ง
ด้วยการปรับปรุงสนามทุกครั้งนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองความจุก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ความจุลดลงจากเดิม 80,000 คน เหลือประมาณ 60,000 คน ความจุลดลงอีกในปี 1990 เมื่อเทย์เลอร์รีพอร์ตแนะนำให้สนามฟุตบอลในดิวิชัน 1 และดิวิชัน 2 ทั้งหมดเปลี่ยนเป็นอัฒจันทร์พร้อมที่นั่ง นั่นหมายความว่าสโมสรวางแผนที่จะใช้เงิน 3–5 ล้านปอนด์เพื่อเปลี่ยนสเตรตฟอร์ดเอนด์จากระเบียงยืนเป็นอัฒจันทร์พร้อมที่นั่งและมีหลังคายื่นออกมาเพื่อเชื่อมโยงกับส่วนที่เหลือของสนาม การปรับปรุงใหม่นี้ ไม่เพียงเพิ่มต้นทุนเป็นประมาณ 10 ล้านปอนด์ แต่ยังลดความจุของโอลด์แทรฟฟอร์ดลงเหลือประมาณ 44,000 ที่นั่ง[21]
การฟื้นตัวของสโมสรจากความสำเร็จและความนิยมที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ทำให้มั่นใจได้ว่าจะต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติม ในปี 1995 อัฒจันทร์ทิศเหนืออายุ 30 ปีถูกรื้อถอนและเริ่มงานอย่างรวดเร็วสำหรับการก่อสร้างอัฒจันทร์ใหม่[22] (ก่อนหน้านี้อัฒจันทร์ด้านทิศเหนือได้รับการปรับปรุงเป็นอัฒจันทร์พร้อมที่นั่งแบบชั่วคราวในต้นทศวรรษ 1990) เพื่อให้พร้อมสำหรับจัดการแข่งขันกลุ่ม 3 นัด รอบก่อนรองชนะเลิศและรอบรองชนะเลิศของยูโร 96 สโมสรได้ซื้อ Trafford Park Trading Estate ซึ่งมีพื้นที่ 20-เอเคอร์ (81,000-ตารางเมตร) ตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของ United Road ในราคา 9.2 ล้านปอนด์ในเดือนมีนาคม 1995 การก่อสร้างเริ่มในเดือนมิถุนายน 1995 และแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 1996 โดยอัฒจันทร์สองเฟสแรกจากทั้งหมด 3 เฟสเปิดใช้ในระหว่างฤดูกาล อัฒจันทร์ 3 ชั้นที่สร้างขึ้นใหม่ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 18.65 ล้านปอนด์ในการสร้างและมีความจุประมาณ 25,500 คน เพิ่มความจุของสนามทั้งหมดเป็นมากกว่า 55,000 คน หลังคาคานยื่นยังยาวที่สุดในยุโรป โดยวัดจากผนังด้านหลังถึงขอบด้านหน้าที่ 58.5 m (192 ft)[23]
อ้างอิง
- อัตชีวประวัติ
- Barnes, Justyn; Bostock, Adam; Butler, Cliff; Ferguson, Jim; Meek, David; Mitten, Andy; Pilger, Sam; Taylor, Frank OBE; Tyrrell, Tom (2001). The Official Manchester United Illustrated Encyclopaedia. London: Manchester United Books. ISBN 0-233-99964-7.
- Brandon, Derek (1978). A–Z of Manchester Football: 100 Years of Rivalry. London: Boondoggle.
- Butt, R. V. J. (1995). The Directory of Railway Stations. Patrick Stephens. ISBN 1-85260-508-1.
- Inglis, Simon (1996) [1985]. Football Grounds of Britain (3rd ed.). London: CollinsWillow. ISBN 0-00-218426-5.
- James, Gary (2008). Manchester – A Football History. Halifax: James Ward. ISBN 978-0-9558127-0-5.
- McCartney, Iain (1996). Old Trafford – Theatre of Dreams. Harefield: Yore Publications. ISBN 1-874427-96-8.
- Mitten, Andy (2007). The Man Utd Miscellany. London: Vision Sports Publishing. ISBN 978-1-905326-27-3.
- Murphy, Alex (2006). The Official Illustrated History of Manchester United. London: Orion Books. ISBN 0-7528-7603-1.
- Rollin, Glenda; Rollin, Jack (2008). Sky Sports Football Yearbook 2008–2009. Sky Sports Football Yearbooks. London: Headline Publishing Group. ISBN 978-0-7553-1820-9.
- White, John (2007). The United Miscellany. London: Carlton Books. ISBN 978-1-84442-745-1.
- White, John D. T. (2008). The Official Manchester United Almanac (1st ed.). London: Orion Books. ISBN 978-0-7528-9192-7.
- หมายเหตุ
- ↑ 1.0 1.1 "Old Trafford". premierleague.com. Premier League. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 August 2019. สืบค้นเมื่อ 25 August 2022.
- ↑ "Premier League Handbook 2022/23" (PDF). Premier League. p. 30. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 21 July 2022. สืบค้นเมื่อ 21 July 2022.
- ↑ "Manchester Sightseeing Bus Tours". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 July 2015. สืบค้นเมื่อ 15 July 2015.
- ↑ Barnes et al., p. 45
- ↑ Murphy, p. 14
- ↑ Murphy, p. 27
- ↑ 7.0 7.1 McCartney (1996), p. 9
- ↑ Inglis, pp. 234–235
- ↑ White, p. 50
- ↑ McCartney (1996), p. 13
- ↑ McCartney (1996), p. 10
- ↑ Butt (1995), p. 247
- ↑ Butt, p. 178
- ↑ "Manchester Utd Football Gd (MUF)". National Rail. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2011. สืบค้นเมื่อ 15 July 2011.
- ↑ Barnes et al., pp. 44–47, 52
- ↑ "FA Cup Final Venues". TheFA.com. The Football Association. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 May 2012. สืบค้นเมื่อ 11 September 2016.
- ↑ "1911 FA Cup Final". fa-cupfinals.co.uk. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 December 2008. สืบค้นเมื่อ 4 September 2008.
- ↑ "1915 FA Cup Final". fa-cupfinals.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 March 2007. สืบค้นเมื่อ 4 September 2008.
- ↑ Murphy, p. 31
- ↑ Inglis, p. 235
- ↑ Inglis, p. 238
- ↑ James, pp. 405–6
- ↑ Inglis, p. 239
แหล่งข้อมูลอื่น
- Old Trafford at ManUtd.com