โรงเรียนสัตยาไส

โรงเรียนสัตยาไส เป็นโรงเรียนประจำ เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535[ต้องการอ้างอิง] โดยเปิดตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ

โรงเรียนสัตยาไส ตั้งอยู่ใน 53 ประเทศทั่วโลก ภายใต้มูลนิธิสัตยาไส ไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียนแต่อย่างใด ที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การดูแลของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เป็นผู้บริหารสูงสุดของโรงเรียน ตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่ 2 ตำบลลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี มีพื้นที่ประมาณ 300 ไร่เศษ เป็นธรรมชาติ ป่าเขา หนองบึง สงบ ร่มรื่น มีนักเรียน 352 คน ครู 49 คน อัตราส่วนครูต่อนักเรียน 1 : 6 โดยประมาณ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ม.6 จำนวน 12 ห้องเรียน ห้องเรียนละไม่เกิน 30 คน เป็นโรงเรียนประจำ นักเรียนพักค้างภายในโรงเรียน รับประทานอาหารมังสวิรัติของทางโรงเรียน ยกเว้นนักเรียนชั้นอนุบาลไป-กลับ และรับเฉพาะเด็กบ้านใกล้โรงเรียนโรงเรียนสัตยาไส สำหรับในระดับมัธยมปลาย มีสาย วิทย์-คณิต ศิลป์-ภาษา(อังกฤษ,ญี่ปุ่น,จีน) และจะเปิดสอนในสายอื่นๆ ตามลำดับ มี Summer เพื่อให้นักเรียนได้เลือกประเทศที่ต้องการและไปอยู่กับ Hostfamily แลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรม

โรงเรียนแห่งนี้อยู่ภายใต้กฎ "ความรัก ความเมตตา" โดยเด็กนักเรียนและคุณครูอยู่ในโรงเรียนเป็นเสมือนครอบครัวใหญ่ ทุกคนดูแลช่วยเหลือกัน มีอาจารย์แลกเปลี่ยนจากต่างประเทศมาสอนภาษา ทางโรงเรียนได้เน้นให้เด็กนักเรียนเป็นคนดี ไม่ได้เน้นให้เป็นคนเก่งเพียงอย่างเดียว เพื่อเด็กจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต สังคมต้องการคนดีและคนเก่งควบคู่กันไป

โรงเรียนใช้หลักการ “การเรียนรู้โดยนักเรียนเป็นศูนย์กลาง” และ “การเรียนรู้แบบ บูรณาการ” เช่น ให้นักเรียน (เริ่มแต่ชั้นอนุบาล) ร่วมกำหนดหัวข้อที่จะเรียนรู้ แล้วครูเป็น ผู้เอื้ออำนวย (ไม่ใช่สอน) ให้นักเรียนได้เรียนรู้ โดยเน้นการเรียนรู้จากการได้ปฏิบัติ ได้เห็นได้ฟัง ได้สัมผัส ได้ทดลอง ได้คิด อย่างเหมาะสม ทำให้เด็กเป็นคนเก่งคนดี ในส่วนของการเรียนรู้อย่างบูรณาการก็มีตัวอย่างของการ “บูรณาการการเรียนรู้ เรื่อง สุขกาย สบายใจ” ซึ่งนักเรียนชั้น ม. 1 - 3 เรียนด้วยกัน เริ่มต้นด้วยการนั่งสมาธิร่วมกัน แล้วแบ่งเป็น 4 กลุ่ม แยกย้ายไปเรียนรู้ไปตามฐานการเรียนรู้ 4 ฐาน กลับมารวมกันในช่วงท้าย แต่ละกลุ่มนำเสนอผลการเรียนรู้จากแต่ละฐานพร้อมอภิปราย แล้วจบด้วยการทำสมาธิ แผ่เมตตา และทำความเคารพ

โรงเรียนสัตยาไสได้นำหลัก “ศีล สมาธิ ปัญญา” มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เน้น “ความรักความเมตตา” และ “คุณธรรม” โดยบูรณาการเข้าไปในการเรียนการสอนและกิจกรรมทั้งหลาย เช่น ก่อนรับประทานอาหาร จะมีการสวดมนต์ ขอบคุณพ่อแม่ ครู ธรรมชาติ โดยมีนักเรียนเป็นผู้นำ นักเรียนทุกคนกล่าวถ้อยคำ “ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง .....” ตามด้วย การพูดเป็นภาษาอังกฤษ (เด็กอนุบาลก็พูดอย่างนี้ ทั้งสองภาษา)

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้