โคโจ (ญี่ปุ่น: 胡蝶โรมาจิKochō; แปล: ระบำผีเสื้อ) "Butterflies" เป็นบทที่ 24 ของตำนานเก็นจิ ผลงานของ มุระซะกิ ชิคิบุ จากทั้งหมด 54 บท

ที่มาของชื่อบท โคโจ แก้

ชื่อบท โคโจ แปลว่า ผีเสื้อ นั้นได้มาจากบทร้อยกรองวะกะที่มุระซะกิส่งโต้ตอบกับจักรพรรรดินีอะกิโคะโนะมุดังนี้


「花園の胡蝶をさへや下草に

  秋待つ虫はうとく見るらむ」[1]

"Hana-zono no kotefu wo sahe ya shita-kusa ni

 aki matsu mushi ha utoku miru ramu"[2]

ฮะนะโซะโนะโนะ โคะเตะฟุโวะสะเฮะยะ ชิตะคุสะนิ

อะกิมัตสึมุชิวะ อุโตะคุมิรุระมุ


แปล 「花園の胡蝶までを下草に隠れて

  秋を待っている松虫はつまらないと思うのでしょうか」[3]


Low in your grasses the cricket awaits the autumn

And views with scorn these silly butterflies.[4]

จิ้งหรีดสนตัวจ้อย เฝ้าคอยสารทฤดู ใต้ยอดหญ้ามิรู้ จักอิจฉาผีเสื้อภู่ เริงมาลีพะพรูหรือไม่

  • 胡蝶 ในบทวะกะนี้ ออกเสียงว่า โคะเตะฟุ ( Kotefu )
  • 待つ虫(มัตสึมุชิ ) พ้องเสียงกับ 松虫 ( มัตสึมุชิ - จิ้งหรีดสน Pine Cricket ) หมายถึง อะกิโคะโนะมุ

โคะโจระคุ - ระบำผีเสื้อแห่งเผ่าหู แก้

เพิ่อเป็นการตอบแทนความเป็นมิตรที่อะกิโคะโนะมุมอบของขวัญให้เป็นการทักทายผูกมิตร ในบท โอะโตะเมะ มุระซะกิจึงจัดให้มีการแสดงบรรเลงสังคีต พร้อมพรั่งด้วยการแสดงระบำมากมาย จัดแสดง ณ ทะเลสาบในส่วนที่พำนักของจักรพรรดินีอะกิโคะโนะมุ ในเรือนฤดูใบไม้เปลี่ยนสี คฤหาสน์โระคุโจ โดยมุระซะกิเป็นผู้เลือกสรรนักแสดงและจัดเตรียมการแสดง หนึ่งในการแสดงที่จัดเตรียมไว้นั้นคือ ระบำผีเสื้อของเผ่าหู ( โคะโจระคุ, 胡蝶楽, Kochôraku)ซึ่งแสดงโดยเด็กหญิงแรกรุ่น 4 คน

ระบำผีเสื้อ นี้สามารถนับย้อนหลังไปได้ถึง 100 ปีก่อนการประพันธ์ ตำนานเก็นจิ สร้างสรรค์ขึ้นจากพระบัญชาของจักรพรรดิ ดนตรีแต่งโดย ฟุจิวะระ ทะดะฟุสะ (藤原忠房) นักดนตรีและกวี ท่าเต้นคิดโดย เจ้าชาย อัตสึมิตสึ (敦実親王) ในการระบำนี้ นักแสดงจะสวมเครื่องประดับศีรษะที่ทำจากเงินประดับประด้วยดอกยะมะบุกิ และ ดอกไม้ ติดปีกผีเสื้อประดิษฐ์ไว้ด้านหลัง และถือดอกยะมะบุกิไว้ที่มือขวา สีสันโดยรวมของเครื่องแต่งกายจะเป็นสีเขียวแสดงถึงฤดูใบไม้ผลิ การระบำกล่าวถึง ผีเสื้อของชนเผ่าหู(胡 ,Hu )ในประเทศจีนกำลังโบบินอย่างสนุกสนานร่าเริง[5]


  • ชนเผ่าหู ดำรงชีวิตด้วยการเลี้ยงสัตว์

ตัวละครหลักในบท แก้

  • เก็นจิ  : ตำแหน่งไดโจไดจิน อายุ 36
  • มุระซะกิ  : ภรรยาของเก็นจิ ท่านหญิงแห่งเรือนอาคเนย์ของคฤหาสน์โระคุโจ อายุ 28
  • อะกิโคะโนะมุ  : จักรพรรดินี พระชนมายุ 27
  • ทะมะคะซึระ  : บุตรีของยูงะโอะ อายุ 22
  • โฮะตะรุเฮียวบุเคียวโนะมิยะ  : องค์ชายโฮะตะรุ น้องชายต่างมารดาของเก็นจิ
  • คะชิวะงิ  : ตำแหน่งจูโจ บุตรชายคนโตของโทะโนะจูโจ อายุ 20 หรือ 21
  • ยูงิริ  : ตำแหน่งจูโจ บุตรชายของเก็นจิ อายุ 15
  • ฮิเงะคุโระ  : ตำแหน่งอุไดโช อายุ 31 หรือ 32
  • มิรุโกะ  : นางกำนัลรับใช้ของทะมะคะซึระ
  • เฮียวบุ  : เดิมเรียกกันว่า อะเตะกิ บุตรสาวของแม่นมของทะมะคะซึระ


เรื่องย่อ แก้

 
ดอกยะมะบุกิ

ปลายเดือนสาม ไม้ดอกตามฤดูกาลในสวนของเรือนวสันต์ของมุระซะกิในคฤหาสน์โระคุโจนั้นต่างพากันเบ่งบานเต็มที่ ยังไม่ร่วงโรย เกนจิจึงจัดการฉลอง เชิญนักดนตรีจากวังหลวงมาบรรเลงสังคีต และจัดให้มีการลอยเรือรูปหงส์ และมังกร ในสระน้ำจำลองที่เชื่อมระหว่างเรือนวสันต์ และ เรือนสารทฤดู ของจักรพรรดินีอะกิโคโนมุ ด้วยฐานันดรอันสูงส่ง อะกิโคะโนะมุ จึงไม่สามารถที่จะออกมาชมความงดงามได้ด้วยตัวเอง แต่สาวใช้นางกำนัลต่างๆในเรือนสารทฤดูต่างมายืนออเรียงกับรอบสระน้ำ มองดูความงดงามของเรือที่ฝีพายเป็นเด็กชายแต่งกายและไว้ผมแบบจีน แต่งแต้มฉากหลังเป็นต้นหลิวขจี ดอกซะกุระเบ่งบานงดงาม ดอกยะมะบุกิเหลืองทองสะท้อนความงดงามลงบนเงาของสระน้ำใสกระจ่าง และต่างโต้กวีกันเป็นที่สนุกสนาน ขุนนางใหญ่น้อยต่างมาร่วมงานฉลองที่คฤหาสน์โระคุโจ ร่วมดื่มและบรรเลงสังคีตกันจนถึงรุ่งเช้า องค์ชายโฮะตะรุ น้องชายต่างมารดาของเก็นจิ ซึ่งบัดนี้ดำรงตำแหน่งเฮียวบุเคียวโนะมิยะ เผยเป็นนัยว่า ตัวเขาที่เป็นหม้ายมานาน สนใจ ทะมะคะซึระ อยู่

รุ่งเช้าวันต่อมา จักรพรรดินีอะกิโคะโนะมุ จัดให้มีการสวดปรัชญาปารมิตาสูตร ( หัวใจแห่งปัญญา ) ขึ้น ณ เรือนสาทรฤดู มุระซะกิ คิดว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่จะตอบแทนของขวัญแห่งฤดูใบไม้เปลี่ยนเมื่อคราวที่แล้วที่อะกิโคะโนะมุส่งมาให้ ด้วยความงามแห่งฤดูใบไม้ผลิ เป็นการกึ่งท้าทายกันและกันว่า ฤดูใดจะงามเหนือล้ำกว่า มุระซะกิเลือกหญิงสาวน่ารัก 8 คน สี่คนนั้นแต่งกายเป็นนกการเวกประคองกิ่งดอกซะกุระงดงามในแจกันเงิน อีกสี่คนแต่งกายเลียนแบบผีเสื้อประคองดอกยะมะบุกิใส่ในแจกันทอง พากันเดินเลียบขอบสระน้ำจำลองจากเรือนวสันต์สู่เรือนสารทฤดู มาวางต่อหน้าเป็นเครื่องบูชาในการทำบุญสวดปรัชญาปารมิตาสูตร โดยยูงิริ ได้อ่านสาส์นกวีที่มะระซะกิส่งให้อะกิโคะโนะมุฟังว่า

จิ้งหรีดสนตัวจ้อย เฝ้าคอยสารทฤดู ใต้ยอดหญ้ามิรู้ จักอิจฉาผีเสื้อภู่ เริงมาลีพะพรูหรือไม่

จากนั้นเหล่าเด็กสาวก็พากันร่ายรำอย่างงดงาม และเรียงแถวเดินกลับไปยังดงดอกยะมะบุกิ ผู้ชมทั้งหลายต่างเสียดาย ไม่อยากให้การแสดงอันงดงามจบลงเร็วเช่นนี้ อะกิโคะโนะมุจัดของขวัญให้ยูงิริ เหล่านกการเวกและผีเสื้อด้วยเสื้อผ้าที่เลือกสรรมาอย่างปราณีต

เก็นจิเข้าพบทะมะคะซึระ เขาเห็นเพลงยาวมากมายที่ขุนนางใหญ่น้อยต่างแข่งกันส่งมาเพื่อชนะใจทะมะคะซึระ องค์ชายโฮะตะรุเองก็ส่งเพลงยาวมาโดยไม่บอกให้เก็นจิรู้สักนิด รวมทั้ง ฮิเงะคุโระ อุไดโชเคราดำผู้มีอำนาจเป็นรองเพียง เก็นจิ และ ไนไดจิน( โทโนะจูโจ )เท่านั้น แม้ว่าเขาจะมีภรรยาอยู่แล้ว แต่คุณสมบัติก็ไม่เลว แต่ยังมีเพลงยาวที่พับและขมวดเป็นปมเขียนด้วยกระดาษสีฟ้าสะดุดที่ยังไม่ได้แกะออกอ่าน เก็นจิจึงเปิดอ่านดู เพลงยาวนี้ใช้คำที่สละสลวยจนเก็นจิอดอยากรู้ไม่ได้ว่าใครส่งมา ผู้ส่งเพลงยาวฉบับบนี้มาคือ คะชิวะงิ บุตรชายคนโตของโทโนะจูโจนั่นเอง ซึ่งที่จริงแล้วมีศักดิ์เป็นพี่น้องกับทะมะคะซึระ เก็นจิจึงกำชับอุคนให้คัดเลือกเพลงยาวจากขุนนางที่เหมาะสมให้ทะมะคะซึระตอบกลับเท่านั้น ทะมะคะซึระรับคำอย่างว่าง่าย เก็นจิรู้สึกหวั่นไหวและเสียดายเกินกว่าจะปล่อยทะมะคะซึระให้ไปแต่งงานกับชายอื่นเสียแล้ว

อ้างอิง แก้