โคลิค เด็กเห็นผี
โคลิค เด็กเห็นผี (อังกฤษ: Colic) ภาพยนตร์ไทยในปี พ.ศ. 2549 นำแสดงโดย พิมพ์พรรณ ชลายคุปต์, วิทยา วสุไกรไพศาล, กุณฑีรา สัตตบงกช กำกับการแสดงโดย พัชนนท์ ธรรมจิรา
โคลิค เด็กเห็นผี | |
---|---|
กำกับ | พัชนนท์ ธรรมจิรา |
เขียนบท | ปิยรส สุนทรวิภาค |
อำนวยการสร้าง | สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ |
นักแสดงนำ | พิมพ์พรรณ ชลายคุปต์ วิทยา วสุไกรไพศาล กุณฑีรา สัตตบงกช |
กำกับภาพ | ธีระวัฒน์ รุจินธรรม |
ตัดต่อ | สุทธิพร ทับทิม |
ดนตรีประกอบ | Lullaby |
ผู้จัดจำหน่าย | สหมงคลฟิล์ม |
วันฉาย | 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 |
ความยาว | 107 นาที |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
เนื้อเรื่อง
แก้แพรพลอย (พิมพ์พรรณ ชลายคุปต์) เอ.อี.สาวตั้งท้องกับ ป้องภพ (วิทยา วสุไกรไพศาล) ช่างภาพโฆษณาแฟนหนุ่ม โดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งคู่จึงตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยย้ายไปอยู่ที่บ้านแม่ของป้องภพที่ไม่มีใครอยู่ แต่ชีวิตคู่ของทั้งคู่มีปัญหา มักจะทะเลาะกันอยู่บ่อย ๆ เพราะป้องภพทำแต่งาน ไม่มีเวลามาสนใจแพรซึ่งกำลังตั้งท้องแก่ขึ้นทุกที ความกดดันต่าง ๆ จากฝ่ายชาย ทำให้แพรต้องหันหน้าไปปรึกษา และหาอะไรทำเพื่อลดความเครียด ด้วยการวาดภาพประกอบให้กับหนังสือที่ จีน (กุณฑีรา สัตตบงกช) เพื่อนสนิท ดูแลอยู่
คืนหนึ่ง แพรเห็นบ้านน้าเบญซึ่งปลูกอยู่ใกล้ ๆ กับบ้านหลังใหญ่ของแม่ป้องภพมีไฟลุกไหม้ จึงเข้าไปดูและพยายามหาทางช่วยน้าเบญออกมา ในขณะที่แพรเองก็เจ็บท้อง และกำลังจะคลอดลูกพอดี เมื่อคลอดออกมาลูกของแพรเป็นเด็กผู้ชาย จึงให้ชื่อว่า น้องปั้น
หลังจากการคลอดลูกกลับมาไม่นาน น้องปั้น ก็กลับส่งเสียงกรีดร้องออกมาอย่างรุนแรงและน่ากลัว หมอตั้งข้อสงสัยว่า น้องปั้นน่าจะเป็น โรคโคลิค ซึ่งเด็กที่เป็นโรคนี้จะร้องไห้อย่างรุนแรง และตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน โดยไม่สามารถหาสาเหตุและวิธีรักษาได้ แต่โดยปรกติโรคนี้จะหายไปเอง เมื่อเด็กอายุ 3 ถึง 6 เดือน แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป น้องปั้นก็ยังไม่หายจากโรคโคลิค ปั้นยังคงร้องไห้อย่างรุนแรงทุกวัน และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ทุกคนในครอบครัวและจีน ซึ่งเข้ามาช่วยดูแลน้องปั้น ต่างก็พบกับเรื่องราวประหลาด ๆ มากมาย
เบื้องหลังและคำวิจารณ์
แก้โคลิค เด็กเห็นผี เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์ใหญ่เรื่องแรกของ พัชนนท์ ธรรมจิรา ที่เคยอยู่เบื้องหลังของภาพยนตร์หลายเรื่องและมีประสบการณ์ทำภาพยนตร์สั้นมาก่อน โดยเนื้อหาอ้างอิงมาจากอาการโคลิค หรือ อาการร้องไห้ 100 วันของเด็กทารก ที่แม้แต่ปัจจุบันทางการแพทย์ก็ยังไม่รู้สาเหตุของการร้องไห้เหล่านี้ ซึ่งอาการนี้จะหายไปเองเมื่อเด็กอายุได้ 3-6 เดือน จากความเชื่อดั้งเดิมบ้างก็เชื่อว่า ที่เด็กร้องไห้เพราะมีผีมากวน
ได้รับเสียงวิจารณ์ไปในสองทาง ทางหนึ่งเห็นว่าบทภาพยนตร์เขียนได้ดี โดยเฉพาะความขัดแย้งของสองตัวละครหลักอย่าง แพรพลอย และ ป้องภพ ทำให้ดูเหมือนหนังแนวชีวิตครอบครัวเรื่องหนึ่ง แต่ในอีกทางเห็นว่า บทภาพยนตร์ยังหลวมอยู่ โดยเฉพาะในตอนจบที่เฉลยว่า ผีที่มารังควาญน้องปั้นนั้นคือ วิญญาณคนตายจากเหตุการณ์ 14 ตุลา เพราะน้องปั้นในอดีตชาติเคยเป็นนายทหารผู้มีส่วนร่วมในการสังหารผู้ชุมนุมในวันนั้น และเห็นว่าเสียงเด็กร้องไห้ที่น่าจะเป็นส่วนประกอบสำคัญในเรื่อง กลับทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร