แพ เลี้ยงประเสริฐ

แพ เลี้ยงประเสริฐ เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2447 ที่บ้านท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพี่น้อง 7 คน โดยเป็นชาย 6 คน หญิง 1 คน โดยพี่น้องที่เป็นชาย 5 คนคือ แก้ว เลี้ยงประเสริฐ, โต๊ะ เลี้ยงประเสริฐ, โพล้ง เลี้ยงประเสริฐ, ฤทธิ์ เลี้ยงประเสริฐ และพลอย เลี้ยงประเสริฐ เป็นนักมวยมีชื่อเสียงทั้งหมด

แพ เลี้ยงประเสริฐ
นายแพ เลี้ยงประเสริฐ นักมวยไทยชาวไทยยุคคาดเชือก แห่งบ้านคุ้งตะเภา ถ่ายในคราวชกชิงตำแหน่งแชมป์นักมวยฝีมือเอก ของสนามมวยหลักเมือง
ชื่อจริงแพ เลี้ยงประเสริฐ
เกิดพ.ศ. 2447
บ้านท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์
เสียชีวิตพ.ศ. 2520
บ้านคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์
เทรนเนอร์ครูเอม บ้านท่าเสา

เข้ากรุง แก้

นายแพฝึกมวยกับครูเอม บ้านท่าเสาเช่นเดียวกับพี่ชาย เข้ามาชกในกรุงเทพฯพร้อมกับนายโพล้ง ผลงานการชกที่มีชื่อเสียงคือชกชนะบังสะเล็บ ศรไขว้ ที่เคยเสมอกับนายฤทธิ์

ชกกันถึงตาย แก้

ครั้งนั้น นายเจียร์ นักมวยชาวเขมรจากพระตะบองซึ่งมีชื่อเสียงในด้านคงกระพันชาตรี เคยชกคนตายมาแล้ว เข้ามาเปรียบมวยในกรุงเทพฯ พระชลัมภ์พิสัยเสนีย์จึงเสนอนายแพ เลี้ยงประเสริฐขึ้นชกด้วย นายแพขึ้นชกกับนายเจียร์ที่สนามหลักเมืองเมื่อ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471[1] ผลการชกปรากฏว่า นายแพ ชนะน็อค นายเจียร์ในยกที่ 3 โดยขณะที่นายเจียร์ชกหมัดเหวี่ยงเข้าหา นายแพได้ปล่อยหมัดคู่แบบหมัดหงายที่เรียกหนุมานถวายแหวนถูกบริเวณลูกกระเดือกของนายเจียร์ นายเจียร์ชะงักอยู่กับที่ ทำท่าจะล้มเข้าหานายแพ นายแพไม่ทิ้งนาทีทองเข้าชกกระหน่ำใส่นายเจียร์จนทรุดลงนั่งบนเชือก นายแพถอยออกมาปรากฏว่านายเจียร์ทรุดลงกับพื้นหมดสติ พี่เลี้ยงพยายามประคองไปปฐมพยาบาลแต่ไม่ฟื้นขึ้นมาอีกเลยจนเสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาล

การตายของนายเจียร์ทำให้นายแพถูกจับด้วยข้อหาฆ่าคนตายและถูกขัง จนกระทั่งถูกปล่อยตัวใน 4 ทุ่มของวันเดียวกัน[2] พระยาเทพหัสดินทร์ นายสนามในครั้งนั้นได้วิ่งเต้นช่วยเหลือ ในที่สุดนายแพถูกปล่อยตัวเพราะกฎหมายที่ใช้อยู่ในครั้งนั้นระบุว่า การตายที่เกิดขึ้นจากการชกมวยที่ต่างฝ่ายต่างสมัครใจมาชกกันเองนั้น ถือว่าไม่มีความผิด ดังที่เคยทีบัญญัติไว้ในกฎหมายตราสามดวงว่า[3]

ชนทั้งสองเป็นเอกจิตเอกฉันท์ตีมวยด้วยกัน และผู้หนึ่งต้องเจ้บปวดหักโข้นถึงแก่มรณภาพ ท่านว่าหาโทษมิได้ ตลอดจนผู้ยุยงตกรางวัล เพราะเหตุจะได้มีจิตเจตนาให้สิ้นชีวิตก็หามิได้ เป็นกรรมของผู้ถึงมรณภาพเองแล

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุให้กระทรวงมหาดไทยสั่งห้ามการชกมวยคาดเชือกทั่วราชอาณาจักร ให้สวมนวมแทน

กลับบ้านเกิด แก้

หลังจากทางตำรวจปล่อยตัวแล้ว นายแพและพี่ชายทั้ง 5 คนจึงกลับไปชกมวยที่อุตรดิตถ์บ้านเกิด ไม่กลับมาชกในกรุงเทพอีกเลย นายแพเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2520 รวมอายุได้ 73 ปี

อ้างอิง แก้

  1. สมพงษ์ แจ้งเร็ว. ตำนานมวยมุสลิม. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 36 ฉบับที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 หน้า 138 – 155
  2. สมพงษ์, 2527 กล่าวว่าถูกขังไว้ 2–3 วัน ในที่นี้ถือตามเขตร, 2550
  3. เขตร, 2550
  • เขตร ศรียาภัย. ปริทัศน์มวยไทย. กทม. มติชน. 2550. หน้า 219–224
  • สมพงษ์ แจ้งเร็ว. 5 ใบเถาแห่งอุตรดิตถ์ ศิษย์ร่วมสำนักพระยาพิชัยดาบหัก. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 5 (11). กันยายน 2527. หน้า 44 - 53