แนโบโพแลสซาร์
แนโบโพแลสซาร์ (อังกฤษ: Nabopolassar; แอกแคด: Nabû-apal-uṣur; ประมาณ 658–605 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ทรงเป็นกษัตริย์แห่งบาบิโลเนีย และเป็นบุคคลที่มีส่วนในการล่มสลายของจักรวรรดิอัสซีเรีย[1] และการสถาปนาจักรวรรดิบาบิโลเนียใหม่
แนโบโพแลสซาร์ | |
---|---|
กษัตริย์แห่งบาบิโลน | |
ครองราชย์ | ประมาณ 626 – 605 ปีก่อนคริสต์ศักราช |
ก่อนหน้า | อาชูร์-อูบัลลิตที่ 2 |
ถัดไป | พระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 |
ประสูติ | ประมาณ 658 ก่อนคริสต์ศักราช |
สวรรคต | ประมาณ 605 ก่อนคริสต์ศักราช (53 ปี) |
การสวรรคตของพระเจ้าอาชูร์บานิพัล (Ashurbanipal) ทำให้จักรวรรดิอัสซีเรียเกิดความระส่ำระสาย ชาวบาบิโลนได้ก่อกบฏขึ้นและแนโบโพแลสซาร์ได้ตั้งต้นเป็นกษัตริย์[2] พระองค์เป็นพันธมิตรกับพระเจ้าไซอาซาเรส (Cyaxares) แห่งจักรวรรดิมีเดียน และทำสงครามกับอาชูร์-อิทิล-อิลานี (Ashur-etil-ilani) โอรสของพระเจ้าอาชูร์บานิพัล ในปีที่ 615 ก่อนคริสต์ศักราช พระเจ้าแนโบโพแลสซาร์ได้เข้ายึดเมืองนิปปูร์ (Nippur)[3] และส่งกำลังไปช่วยพระเจ้าไซอาซาเรสในการล้อมเมืองอาชูร์ แต่กองทัพของพระองค์ไปถึงหลังอาชูร์เสียเมืองแล้ว[4]
หลังยึดเมืองอาชูร์ได้ พระเจ้าแนโบโพแลสซาร์และพระเจ้าไซอาซาเรสได้ร่วมกันตีเมืองนิเนเวห์ เมืองหลวงของจักรวรรดิอัสซีเรีย จนในที่สุดในปีที่ 612 ก่อนคริสต์ศักราช พระองค์ก็ทรงยึดเมืองหลวงได้สำเร็จ[2] อาชูร์-อูบัลลิตที่ 2 (Ashur-uballit II) ผู้นำของอัสซีเรียได้ถอนทัพไปที่เมืองฮาร์รัน (Harran) ทางตอนเหนือของซีเรีย ต่อมาในปีที่ 610 ก่อนคริสต์ศักราช พระเจ้าแนโบโพแลสซาร์ได้เข้ายึดเมืองนี้[2] อาชูร์-อูบัลลิตที่ 2 และกองทัพพันธมิตรจากฟาโรห์เนโคที่ 2 (Necho II) ได้ยกทัพกลับมาที่ฮาร์รันอีกครั้ง แต่ไม่สามารถตีเมืองนี้ได้
ในปีที่ 605 ก่อนคริสต์ศักราช พระเจ้าแนโบโพแลสซาร์ได้สละราชสมบัติ พระโอรสของพระองค์ พระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 (Nebuchadnezzar II) รบชนะฟาโรห์เนโคที่ 2 ในยุทธการที่คาร์เคมิช (Battle of Carchemish) และรีบเดินทางไปบาบิโลเนียเพื่อจัดการในเรื่องสิทธิในการขึ้นครองราชย์หลังพระบิดาสวรรคต[5] รัชสมัยของพระเจ้าแนโบโพแลสซาร์และพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 เป็นยุคที่จักรวรรดิบาบิโลเนียใหม่มีการเจริญรุ่งเรือง มีการสร้างศาสนสถาน ซิกกุรัตและปราการต่าง ๆ ในปี ค.ศ. 1921 มีการพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าพระเจ้าแนโบโพแลสซาร์เป็นคนเคร่งศาสนา มีข้อความบางส่วนที่กล่าวถึงความสำเร็จของพระองค์ที่เกิดขึ้นได้จากการสักการะเทพของศาสนาเมโสโปเตเมียโบราณ[6]
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ D. Brendan Nagle, The Ancient World: A Social and Cultural History, 6th ed., Upper Saddle River, N.J.: Pearson, 58.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Lendering, Jona. "Nabopolassar", Livius.org
- ↑ Sack, Ronald Herbert. Images of Nebuchadnezzar, Susquehanna University Press, 2004, ISBN 9781575910796
- ↑ "The fall of Nineveh, capital of the Assyrian Empire", The British Museum
- ↑ Van De Mieroop, Marc. 2007. A history of the ancient near east, Blackwell Publishing.
- ↑ Hanson, K.C., "Nabopolassar Cylinder"
แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ แนโบโพแลสซาร์
- Nabopolassar - Livius