แก่นพุทธศาสน์ เป็นหนังสือที่รวบรวมปาฐกถาของพุทธทาสภิกขุที่แสดง ณ โรงพยาบาลศิริราช รวม 3 ครั้ง ระหว่าง พ.ศ. 2504 - 2505 ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ในปีพ.ศ. 2508 ได้รับยกย่องเป็นหนังสือดีเด่นประจำปี จากองค์การยูเนสโก แห่งสหประชาชาติทำให้มีการเผยแพร่หนังสือนี้สู่สาธารณชนอย่างกว้างขวาง และยังมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย

เนื้อหาในหนังสือแก่นพุทธศาสน์กล่าวถึงหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาคือ ความว่าง วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง หรือ สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น มาจากคำที่พระพุทธเจ้าตอบแก่ผู้ทูลถามว่าหากจะสรุปพระพุทธวจนะทั้งหมดที่ตรัสไว้ เป็นประโยคสั้นเพียงประโยคเดียวได้หรือไม่. พระพุทธองค์ตรัสว่า "สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย" ซึ่งแปลว่า "สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น" (ปรากฏอยู่ในพระบาลี มัชฌิมนิกาย)

แก่นพุทธศาสน์ เป็นหนังสือที่รวบรวมปาฐกถาของพุทธทาสภิกขุที่แสดง ณ โรงพยาบาลศิริราช รวม 3 ครั้ง ได้แก่:

  1. ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา หัวใจของพุทธศาสนา คือ สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น (17 ธันวาคม พ.ศ. 2504)
  2. ความว่าง ธรรมที่เป็นประโยชน์แก่ฆราวาส คือ เรื่องสุญญตา (7 มกราคม พ.ศ. 2505)
  3. วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง การปฏิบัติเพื่อความว่างมี ๓ โอกาส...ปรกติ กระทบ จะดับจิต (21 มกราคม พ.ศ. 2505)
  4. ยอดปรารถนาของมนุษย์ จิตวุ่นทำการงานเป็นทุกข์ จิตว่างทำการงานสนุกไปหมด[1]

ข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือ แก้

(จากเล่มพิมพ์ครั้งที่ ๓)

  • ชื่อหนังสือ: แก่นพุทธศาสน์
  • ผู้แต่ง: พุทธทาสภิกขุ
  • ผู้จัดพิมพ์: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, กรุงเทพมหานคร
  • หมวด: ธรรมเทศนา
  • ISBN 974-409-102-9[2]

ความเป็นมา แก้

หนังสือเล่มนี้เป็นการถอดเทปคำบรรยายของท่านพุทธทาสภิกขุ 3 ครั้ง ณ ชุมนุมศึกษาพุทธธรรม ตามการนิมนต์ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ในเดือนธันวาคม 2504 และมกราคม 2505 คำบรรยายทั้ง 3 ครั้ง ว่าด้วย เรื่อง ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ความว่าง และวิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง ต่อมา ทางคณะแพทยศาสตร์ได้ดำเนินการถอดเทป และจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ชื่อ แก่นพุทธศาสน์ เพื่อนำรายได้ไปร่วมบริจาคในการสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ ซึ่งท่านพุทธทาสกำลังดำเนินการอยู่ และมีการจัดพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง

สามปีต่อมา คือ ในปี 2508 (ค.ศ.1965) องค์การด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และ วัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ( UNESCO of United Nations) ได้ตัดสินมอบรางวัลชนะเลิศหนังสือดีประจำปี 2508 ให้แก่หนังสือเล่มนี้

หนังสือเล่มนี้ มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรก ในปี 2527(ค.ศ.1984) หรือ 22 ปี หลังจากการบรรยายธรรมเรื่องดังกล่าวของท่านพุทธทาสฯ โดย พระธรรมวิจจโย (Dhammavicayo) ภิกษุชาวอังกฤษแห่งสวนโมกข์ฯเป็นผู้แปล เพื่อร่วมในการฉลองวันล้ออายุ ครบ 79 ปีของท่านพุทธทาสฯ และมูลนิธิสวนอุสม เป็นผู้ดำเนินการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มในปี 2528 ในครั้งนั้นได้มีการแจกจ่ายหนังสือเป็นธรรมทาน หนังสือแปลฉบับนี้ ใช้ชื่อว่า Heart-wood from the Bo Tree

ประมาณ 10 ปีต่อมา ท่าน สันติกโร (Santikaro) ภิกษุชาวอเมริกัน แห่งสวนโมกข์ฯ ได้เป็นบรรณาธิการดำเนินการปรับปรุงและจัดพิมพ์หนังสือนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยได้รับอนุญาตและความร่วมมือจากผู้แปล รวมทั้งในระหว่างนั้นก็ได้รับความกรุณาจากท่านพุทธทาสในการอธิบายขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ครั้งนี้ใช้ชื่อว่า Heartwood of the Bodhi Tree พิมพ์โดย Wisdoms Publications สหรัฐอเมริกา พิมพ์ครั้งแรกแล้วเสร็จในปี 2537 และครั้งที่สองในปี 2557 ( ค.ศ.1994 และ 2014)

เนื้อหา แก้

หนังสือแก่นพุทธศาสน์ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพสุขภาพใจ และได้รับยกย่องเป็นหนังสือดีเด่นประจำปี จากองค์การยูเนสโก แห่งสหประชาชาติในปีพ.ศ. 2508 ทำให้มีการเผยแพร่หนังสือนี้สู่สาธารณชนอย่างกว้างขวาง และยังมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย เนื้อหาในหนังสือแก่นพุทธศาสน์กล่าวถึงหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาคือ สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น มาจากคำที่พระพุทธเจ้าตอบแก่ผู้ทูลถามว่าหากจะสรุปพระพุทธวจนะทั้งหมดที่ตรัสไว้ เป็นประโยคสั้นเพียงประโยคเดียวได้หรือไม่. พระพุทธองค์ตรัสว่า "สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย" ซึ่งแปลว่า "สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น" (ปรากฏอยู่ในพระบาลี มัชฌิมนิกาย)

แก่นพุทธศาสน์ เป็นหนังสือที่รวบรวมปาฐกถาของพุทธทาสภิกขุที่แสดง ณ โรงพยาบาลศิริราช รวม 3 ครั้ง ได้แก่:

  1. ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา หัวใจของพุทธศาสนา คือ สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2504
  2. ความว่าง ธรรมที่เป็นประโยชน์แก่ฆราวาส คือ เรื่องสุญญตา เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2505
  3. วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง การปฏิบัติเพื่อความว่างมี ๓ โอกาส...ปรกติ กระทบ จะดับจิต เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2505
  4. ยอดปรารถนาของมนุษย์ จิตวุ่นทำการงานเป็นทุกข์ จิตว่างทำการงานสนุกไปหมด..

๑. ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา แก้

(เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2504: หัวใจของพุทธศาสนา คือ สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านพุทธทาสภิกขุได้เข้ามากรุงเทพฯเพื่อประกาศธรรมะ คณะนายแพทย์แห่งโรงพยาบาลศิริราช ร่วมด้วยนักศึกษาวิชาแพทย์ ณ โรงพย่าบาลนั้น ได้นิมนต์ท่านแสดงปาฐกถา รวม ๓ ครั้ง ปรากฎว่า ข้อความที่ท่านแสดงนี้คือ ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา อันเป็นเรื่องย่อ เอาแต่แก่นของพุทธธรรมมากล่าว เหมือนกับบอกว่า สิ่งสำคัญที่ชาวพุทธควรศึกษา ควรปฏิบัติ อยู่ที่ตรงนี้เป็นการตัดปัญหายุ่งยาก มีประการต่างๆ ที่ขอบถกเถียงกัน ในเรื่องหลักพุทธธรรม ท่านนำพระพุทธดำรัสมาบอกให้ทราบว่า "ใจความแท้ๆ " นั้นคืออะไร?

๒. ความว่าง แก้

(เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2505: ธรรมที่เป็นประโยชน์แก่ฆราวาส คือ เรื่องสุญญตา) ต่อมาท่านแสดงอีกครั้งหนึ่ง เรื่อง ความว่าง อันเป็น ใจความสำคัญที่ควรสนใจมากเราได้ยินพุทธภาษิตบทหนึ่งว่านิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ อันแปลว่า พระนิพพาน เป็นความว่างอย่างยิ่ง แต่ยังไม่ทราบชัดว่า ว่างอย่างไร ความว่างอยู่ที่ตรงไหน ถ้าได้ฟังกัณฑ์นี้อันว่าด้วยความว่างแล้ว จะชัดเจนขึ้นและมองเห็นว่า "พระนิพพาน" เป็นสิ่งที่ทุกคนอาจจะเข้าถึงได้ในชีวิตนี้

๓. วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง แก้

(เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2505: การปฏิบัติเพื่อความว่างมี ๓ โอกาส...ปรกติ กระทบ จะดับจิต) ครั้งต่อมา ท่านพูดถึงเรื่อง วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง เป็นการชี้ทางให้เดินตรงไปตามแนวนี้ เป็นเรื่องที่ชาวโลกผู้หมกมุ่นในการงานควรศึกษาพึงนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพราะการปฏิบัติตนตามวิธีเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่างจะช่วยให้อยู่อย่างสงบป้องกันโรคทางวิญญาณได้เป็นอย่างดี

ปาฐกถาทั้งสามครั้งนี้ เป็นที่พอใจของคณะนายแพทย์เป็นอย่างมาก จึงได้ถอดจากเครื่องอัดเสียงมาเป็นตัวหนังสืออ่านแล้วก็พอใจใคร่จะให้ได้อ่านกันทั่วถึงจึงคิดกันว่าควรจะพิมพ์เป็นเล่มให้แพร่หลาย ประจวบกับท่านพุทธทาส กำลังสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ อยู่ นายแพทย์ ผู้หนึ่งได้นำความเรื่องนี้ไปหารืออาตมา อาตมาเห็นด้วย หนังสือเล่มนี้จึงได้เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ หนังสือเรื่องนี้ เป็นธรรมส่วนลึกในพระพุทธศาสนา ย่อมยากบ้างเป็นธรรมดาผู้อ่านจึงต้องอ่านด้วยความตั้งใจ อ่านช้าๆ คิดตามไปด้วย อย่าทิ้งเสียเมื่ออ่านบทแรกแล้วไม่เข้าใจจงพยายามอ่านแล้วอ่านอีก อ่านด้วยจิตใจที่เยือกเย็น สงบ จนเข้าใจชัด ท่านจะได้รับประโยชน์ตามควรอย่างคุ้มค่ากับที่ท่านได้พบพระพุทธศาสนา อย่างน้อยๆ ท่านก็รู้เองว่า "แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา" นั้นอยู่ตรงนี้เอง.

สรุปสาระสำคัญ เรื่อง ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา แก้

เรื่องนี้ท่านพุทธทาสฯบรรยายเมื่อ 17 ธันวาคม 2504 ท่านเตรียมการบรรยายมาอย่างดี มีการเรียงลำดับขั้นตอน เหตุผล และ เนื้อหา สาระสอดคล้อง กับผู้ฟัง และยังทันสมัยอยู่จนถึงปัจจุบัน[3] แต่เนื่องจากท่านบรรยายอย่างต่อเนื่อง ทุกประเด็นที่ท่านกล่าวถึงล้วนน่าสนใจ มีที่มาและมีเหตุผลสนับสนุน บางตอนหากเลือกตัดเฉพาะสาระสำคัญมาโดยไม่นำเหตุผลมาประกอบ อาจทำให้เข้าใจเจตนารมณ์ของท่านผิดไปได้ จึงขอสรุปสาระสำคัญในการบรรยายพร้อมเหตุผลตามความจำเป็น รวมทั้งเรียบเรียงบางตอนใหม่เพื่อจะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ตามลำดับ ดังนี้

อารัมภบทนำที่สำคัญยิ่ง แก้

ท่านแจ้งว่าในโอกาสการบรรยายครั้งเดียวเป็นพิเศษ จึงเห็นสมควรกล่าวถึง ใจความสำคัญทั้งหมดของพระพุทธศาสนา โดยหวังว่าเมื่อผู้ฟัง ท่านใดจับใจความสำคัญได้แล้ว ก็จะสะดวกในการศึกษาออกไปได้อย่างกว้างขวาง แต่ถ้าท่านใด จับใจความสำคัญไม่ได้ ก็จะสับสน รู้สึกว่าพระพุทธศาสนาช่างมีเรื่องมากมายเกินกว่าที่จะจำได้ เข้าใจ หรือนำไปปฏิบัติ ท่านขยายความว่า ความรู้ทางพุทธศาสนาที่ไม่ใช่หลักขั้นมูลฐาน มีอยู่ไม่น้อย และจะพาให้ค่อยๆเขวไปทีละน้อยจน กลายเป็นพุทธศาสนาใหม่ หรือกลายเป็นพุทธศาสนาเนื้องอก ที่งอกออกไปเรื่อยๆ เช่น เรื่องประวัติศาสตร์พุทธศาสนา พิธีรีตองต่างๆ เป็นต้น จากนั้นท่านได้กล่าวถึงความหมายของหลักพุทธศาสนาขั้นมูลฐาน ว่า ประกอบด้วยสองสิ่ง คือ จุดมุ่งหมายและความมีเหตุผลอยู่ในตัวเอง

จุดมุ่งหมายและเหตุผลของพุทธศาสนา แก้

  • จุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา คือ มุ่งเฉพาะไปยังความดับทุกข์ เท่านั้น ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านทรงปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องด้วย เช่น เรื่องตายแล้วเกิดหรือไม่ อะไรไปเกิด ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มุ่งไปสู่การดับทุกข์ หลักพุทธศาสนาขั้นมูลฐาน มีส่วนที่เป็นหลักอยู่ไม่มาก โดยพระพุทธเจ้าได้เปรียบเทียบระหว่างใบไม้ทั้งป่ากับใบไม้ในกำมือของพระองค์ว่า สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้นั้นมีมาก เปรียบได้กับใบไม้ทั้งป่า แต่เรื่องที่จำเป็นที่ควรรู้ ควรนำมาสอน และนำมาปฏิบัติเพื่อดับทุกข์นั้น มีไม่มาก เปรียบได้เท่ากับใบไม้กำมือเดียว
  • ส่วนเหตุผลของพุทธศาสนา คือ คำสอนในพุทธศาสนาเพื่อมุ่งไปสู่การดับทุกข์ นั้น ล้วนมีเหตุผลอยู่ในตัวเอง ซึ่งทุกคนสามารถเห็นและเข้าใจได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเชื่อตามใครอื่น

โรคทางร่างกาย โรคทางจิต และ โรคทางวิญญาณ แก้

  • โรคทางร่างกาย(physical disease) คือ โรคภัยไขัเจ็บ เป็นกับคนบางคนและบางเวลา
  • โรคทางจิต(mental disease) คือ โรคทางจิตที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกาย เป็นกับคนบางคนและบางเวลา
  • โรคทางวิญญาณ (spiritual disease) คือโรคด้วยอำนาจของกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อวิชชา (ความไม่รู้) และ มิจฉาทิฎฐิ (ความเห็นผิด) เป็นกันทุกคน ไม่มีการยกเว้น

คำที่ใช้เกี่ยวกับโรคภัยไขัเจ็บ เนื่องจากเป็นการบรรยายในโรงพยาบาล ท่านพุทธทาสฯ จึงนึกถึงชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกพระพุทธเจ้ามาแต่โบราณ คือ แพทย์ในทางฝ่ายวิญญาณ เพราะ ในสมัยพุทธกาล แยกโรคภัยไข้เจ็บเป็น 2 ประเภทเท่านั้น คือ โรคทางกายกับ โรคทางจิต

โรคทางจิตสมัยนั้นหมายถึง โรคทางความคิด หรือ ทางกิเลสตัณหา ดังนั้นพระพุทธองค์จึงได้รับการเรียกขานว่าเป็น แพทย์ทางฝ่ายวิญญาณ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบัน ความหมายของคำว่า โรคทางจิต หมายถึง โรคทางจิตที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกาย จึงต่างไปจากสมัยพุทธกาล ท่านอธิบายเพิ่มให้ชัดเจนขึ้นว่า โรคทางกาย กับ โรคทางจิต นั้น เป็นกับคนบางคน และ เป็นบางเวลา เมื่อเป็นโรคทางกาย (physical disease) เราควรไปโรงพยาบาลทั่วไป แต่ถ้าเป็นโรคทางจิต (mental disease) เราควรไปโรงพยาบาลที่รักษาโรคจิตโดยตรง เช่น โรงพยาบาลบ้านสมเด็จฯ เป็นต้น ทั้งสองโรคนี้จึงไม่เกี่ยวกับโรคทางจิต ตามความหมายในสมัยพุทธกาล

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ท่านจึงขอบัญญัติคำใหม่ที่ใช้เฉพาะสำหรับศาสนาพุทธเท่านั้น จากคำ โรคทางจิต เป็น โรคทางวิญญาณ เพื่อแบ่งแยกคำให้แตกต่างกัน และตรงกับความหมายที่แท้จริง โดยขอใช้คำภาษาอังกฤษกำกับแยกไว้ให้ชัดเจนด้วยว่า spiritual disease ทั้งนี้ ท่านได้ให้ความหมายของคำที่ท่านบัญญัติใหม่ ว่า โรคทางวิญญาณ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง วิญญาณภูตผีปีศาจ หรือ การถูกผีสิง แต่หมายถึง วิญญาณหรือจิตในส่วนลึก ที่ถือได้ว่าเป็นโรคด้วยอำนาจของกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อวิชชา (ความไม่รู้) และ มิจฉาทิฎฐิ (ความเห็นผิด)

ความแตกต่างสำคัญ ระหว่าง 3 โรค แก้

ท่านเน้นถึงความแตกต่างสำคัญ ระหว่าง 3 โรค นี้ ว่า โรคทางวิญญาณ เป็นกันทุกคน ไม่มีการยกเว้น ส่วน โรคทางกาย กับ โรคทางจิต เป็นกับคนบางคนและบางเวลา และ ไม่ได้ทำให้ใครเป็นทุกข์อยู่ได้ทุกลมหายใจเข้าออก เหมือนกับโรคทางวิญญาณ โดยเหตุที่ โรคทางวิญญาณ หมายถึง โรคทางความคิด หรือ ทางกิเลสตัณหา และ ทุกคนต่างก็มีกิเลส ตัณหา จึงกล่าวได้ว่า ทุกคนในโลกนี้ เป็นโรคทางวิญญาณ

การรักษาโรคทางวิญญาณ แก้

การรักษาโรคนี้ จึงต้องไปหาแพทย์ทางวิญญาณ ซึ่งในสมัยพุทธกาลถือกันว่า พระพุทธเจ้า คือ แพทย์ในทางฝ่ายวิญญาณ และพระองค์ได้ใช้ธรรมะ (ซึ่งหมายถึงใบไม้กำมือเดียวตามที่พระองค์ได้เปรียบเปรยไว้) ในการเยียวยารักษาโรค และในขณะเดียวกัน ผู้เป็นโรคก็ต้องนำธรรมะมาใช้กับตัวเอง จึงจะหายจาก โรคทางวิญญาณ

อย่างไรก็ตาม คนสมัยนี้ไม่สนใจเรื่องโรคทางวิญญาณ และไม่รู้สึกว่าตัวเองและทุกคนในโลกล้วนป่วยเป็นโรคนี้ จึงไม่นำธรรมะ( ซึ่งก็คือยา) ไปใช้กับตัวเอง ทั้งๆที่ปัจจุบันมีการศึกษาพุทธศาสนากันมากและเข้าใจกันมากขึ้น ดังนั้น การศึกษา จึงเหมือนกับเป็นเรื่องเห่อยา ศึกษาเพียงสำหรับเก็บไว้ให้รกรุงรัง หรือเอาไว้พูดเถียงกันเล่น จนกลายเป็นทะเลาะวิวาทไปก็มี

จากเหตุผลข้างต้น ธรรมะจึงยังไม่เป็นที่พึ่งให้แก่โลกได้เต็มตามความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา ตัวอย่างเช่น เรื่องสันติภาพ แม้จะพยายามดำเนินการให้เกิดความสงบในโลกเพียงใดก็ตาม ก็ยังไม่เป็นสันติภาพถาวรไปได้ เพราะต่างฝ่ายต่างเป็นโรคทางวิญญาณ แต่ไม่รู้ตัวว่าเป็น และไม่ได้นำยา คือ ธรรมะของพระพุทธเจ้าไปใช้ในการรักษาโรคของตัวเอง

โรคทางวิญญาณนั้นเป็นอย่างไร และจะรักษาด้วย“ธรรมะกำมือเดียว”ได้อย่างไร แก้

เมื่อทำความเข้าใจกับผู้ฟังให้เข้าใจความหมายในภาพรวมเรื่องโรคทางวิญญาณแล้ว ท่านจึงเริ่มการวินิจฉัยในรายละเอียดว่า โรคทางวิญญาณนั้นเป็นอย่างไร และจะรักษาด้วย “ ธรรมะกำมือเดียว” ได้อย่างไร

โรคตัวกู ของกู แก้

ท่านขยายความว่า “โรคทางวิญญาณ” คือ โรคที่มีเชื้ออยู่ที่ความรู้สึกว่าตัวเรา ว่าของเรา หรือ ตัวกู ของกู นั่นเอง ความรู้สึกนี้มีอยู่ในใจ ประจำอยู่ที่ใจ แล้วก็ทำไปตามอำนาจความเห็นแก่ตัว และต่อเนื่องเป็นความโลภ ความโกรธ และความหลง ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อตัวเองและผู้อื่น

ท่านจึงขอเรียก โรคทางวิญญาณ สั้นๆง่ายๆว่า โรคตัวกู-ของกู และเน้นอีกครั้งหนึ่งว่า เราเป็นโรคนี้กันทุกคน แล้วเราก็ได้รับเชื้อ นี้เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ได้ เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางผิวหนัง และ คิดในใจไปตามประสาคนที่ไม่รู้ หรือถ้าเรียกตามภาษาทางธรรมะก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและ ธรรมารมณ์ โดยผ่านทางสื่อในร่างกาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

“เชื้อ” โรค “อุปาทาน” หมายถึง ความยึดมั่นถือมั่น แก้

“เชื้อ” ที่ว่านี้ภาษาบาลี เรียกว่า “อุปาทาน” หมายถึง ความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งมี 2 อย่าง ยึดมั่นว่าเรา และยึดมั่นว่าของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นพิษร้ายกาจที่สุด เรียกว่า โรคทางวิญญาณ

“สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” การที่จะหายจาก โรคทางวิญญาณ ได้โดยเด็ดขาด คือ การว่างจากการยึดถือใน เรา และ ของเรา และมุ่งไปสู่ “ความว่างที่สุด” (นิพพาน) ท่านพุทธทาสเห็นว่า อำนาจต้านทานโรค (Immunity) อย่างสูงสุด หรือ หัวใจของพุทธศาสนา ที่จะทำลายพิษร้าย และ นำจิตเราไปสู่ความว่างที่สุด หรือ นิพพาน นั้น คือประโยคสั้นๆว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” (สัพเพ ธรรมา นาลัง อภินิวาสายะ)

ท่านให้เหตุผลว่า แม้คำสอนทางพุทธ จะมีเรื่องสำคัญๆหลายเรื่อง เช่น เรื่อง อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุท้ย นิโรธ มรรค) เรื่อง ไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) เรื่องการไม่ทำความชั่ว ทำดี และ ทำจิตให้บริสุทธิ์ ฯลฯ และทุกเรื่องก็ล้วนถูกต้อง แต่ไม่ครอบคลุมทุกเรื่อง ท่านจึงมีความเห็นดังกล่าวว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” เพราะมีที่มาจากข้อมูลในพระบาลี มัชฌิมนิกาย เรื่องหนึ่ง ที่มีผู้ถามพระพุทธเจ้าว่า พุทธวจนะทั้งหมดของพระองค์ ถ้าจะสรุปให้สั้นๆ เพียงประโยคเดียวได้หรือไม่ และพระพุทธเจ้าได้ตอบเป็นภาษาบาลี ว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” (สัพเพ ธรรมา นาลัง อภินิวาสายะ) โดยพระพุทธเจ้าได้ย้ำว่า ถ้าใครได้ฟังข้อความข้อนี้ ก็คือได้ฟังทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ถ้าได้ปฏิบัติตามข้อนี้ ก็คือ ได้ปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ถ้าได้รับผลจากการปฏิบัติตามข้อนี้ ก็คือได้รับผลทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ท่านพุทธทาสเห็นว่าคำตอบของพระพุทธเจ้า ได้รวมทั้งเรื่องวิชา(ปริยัติ) ปฏิบัติ และ ผลของการปฏิบัติ(ปฏิเวธ) ไว้อย่างครบถ้วนแล้ว จึงถือได้ว่า เป็นหัวใจของพุทธศาสนา

ท่านพุทธทาส สรุปสาระในช่วงนี้ว่า เมื่อเข้าใจ คำว่า โรคทางวิญญาณ หรือแพทย์ผู้รักษาโรค ว่าหมายความอย่างไร และใครเป็นผู้ได้รับผลดี เมื่อใดที่เห็นว่าพวกเราเป็นผู้ได้รับผลดี เมื่อนั้นเราก็จะกระตือรือร้นกันอย่างยิ่ง และ จะรักษาโรคของเราอย่างถูกต้อง ต่อจากนั้น ท่านได้อธิบายรายละเอียด ของ ความยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นทั้ง ตัวโรคและเชื้อโรคได้อย่างไร ท่านให้ข้อสังเกต หากสังเกตสักนิด ก็จะเห็นได้ด้วยกันทุกคน ว่า ความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น ในตัวกู ของกูนี่แหล่ะ คือ แม่บทของกิเลส

แม่บทของกิเลส แก้

กิเลส สามารถจำแนกได้หลายแบบ เช่น โลภะ โทสะ โมหะ ก็ได้  ราคะ โกธะ โมหะก็ได้ หรือจะซอยย่อยๆเป็น 16 อย่างก็ได้ แต่สุดท้าย ก็ต้องมาลงที่ โลภ โกรธ หลง และ เมื่อรวมทั้ง 3 อย่างก็มาลงที่ ความรู้สึกว่าตัวกู ของกู นั่นเอง ท่านเน้นว่า ความรู้สึกว่าตัวกู ของกู  นั้นเป็นศูนย์กลาง (Neucleus) ที่รู้สึกอยู่ภายใน แล้วก่อให้เกิดกิเลสทั้งหลาย ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ความรู้สึกว่าตัวกู ของกู เป็นมูลเหตุของความทุกข์ทั้งปวง หรือ อีกนัยหนึ่ง คือ เป็นมูลเหตุของโรคทั้งปวง 

ประเด็นนี้ ท่านอ้างอิงมาจากคำกล่าวสรุปของพระพุทธเจ้าในเรื่องความทุกข์ที่ว่า “สังขิตเตน ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา” ซึ่งแปลว่า เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น) นั่นแหล่ะเป็นตัวทุกข์ ท่านอธิบายขยายความคำแปลนี้ว่า หมายความว่า สิ่งใดมีความยึดถือ หรือ ถูกยึดถือว่า ตัวกูของกูแล้ว สิ่งนั้น คือ ตัวทุกข์ ถ้าในสิ่งใดไม่มีความยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวกู ของกูแล้ว สิ่งนั้นไม่มีทุกข์ ท่านยกตัวอย่างว่า ร่างกายและจิตใจของผู้ที่เราถือกันว่าเป็นพระอรหันต์ เป็นร่างกายและจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ล้วนๆ ไม่เจือด้วยความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกู ไม่เจือด้วยกิเลส จึงไม่เป็นทุกข์ ไม่รู้สึกเป็นทุกข์

จากนั้นท่านได้เชื่อมโยงระหว่าง ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกู กับ สติปัญญา ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ถ้าเรามีความว่างจากการยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกู แล้ว สติปัญญาแท้ที่จะดับทุกข์ หรือ เป็นยาแก้โรคทางวิญญาณ ก็จะเข้ามาแทนที่ โรคทางวิญญาณที่เกิดอยู่ก่อน จะหายไปทันทีเหมือนถูกปลิดทิ้ง แม้เพียงแค่มีสติสัมปชัญญะเท่านั้น ธรรมะต่างๆก็จะเกิดตามมามากมาย ตั้งแต่ขั้นต้น ไปจนถึงระดับสูงที่จะทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ เช่น หิริโอตัปปะ ขันติโสรัจจะ ความซื่อส้ตย์ ยถาภูตญาณทัสนะ ฯลฯ

ว่าง กับ วุ่น แก้

  • ว่าง หมายถึง ว่างจากตัวกู
  • วุ่น หมายถึง ไม่ว่างจากตัวกู

ท่านได้ปรับคำพูดยาวๆ ทั้งจากภาษาบาลีและภาษาไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้เป็น ภาษาพูดง่ายๆ เพื่อให้เข้าใจความหมายต่างๆได้ง่ายขึ้น โดยใช้คำว่า ว่าง กับ วุ่น ว่าง หมายถึง ว่างจากตัวกู..... วุ่น หมายถึง ไม่ว่างจากตัวกู เมื่อใช้คำสั้นๆ ทุกคนจะเข้าใจได้ทันทีว่า ไม่มีใครชอบ วุ่น ใครๆก็ชอบ ว่าง เช่น ว่างไม่ต้องทำงาน ว่างไม่มีอะไรมารบกวน ฯลฯ

ว่าง และ วุ่น ในแง่ธรรมะ แก้

ตัวอย่างตามข้างต้นเป็น การว่างภายนอก แต่ ว่าง ในแง่ธรรมะ นั้น คือ ว่างภายใน มีใจคอปกติ ไม่ระส่ำระสาย วุ่นวาย และถ้าว่างยิ่งขึ้นไปอีก คือ ว่างจากความรู้สึกที่เป็นตัวตน ( Egoism) ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวเรา ของเรา ถ้าว่างได้ในระดับนี้ ถือว่า เป็นนิพพาน

ส่วน วุ่น คือ วุ่นทั้งกาย ใจ และวิญญาณ วุ่นอยู่กับความรู้สึกถึงตัวกู—ของกู จนไม่มีความสงบสุขเลย แม้จะสวดมนต์ รับศีล ทำบุญทำทานก็เป็นเพียงพิธีการเท่านั้น แต่ถ้า ว่างจากความรู้สึกถึงตัวกู—ของกูได้แม้เพียงชั่วครู่ ก็ถือได้ว่า มีพุทธะ ธัมมะ และสังฆะที่แท้จริงเกิดขึ้นแล้ว

ท่าน สรุปว่า ดังนั้น ขอให้ทุกคนเพียรพยายามปรับให้จิตใจว่างจากตัวกู-ของกู อยู่เรื่อยๆ จะได้มีพุทธะ ธัมมะ และ สังฆะ ในระดับหนึ่งเป็นประจำ และ ค่อยเพิ่มขึ้นจนกว่าจะว่างอย่างเต็มที่สมบูรณ์ หากทำได้ดังที่ท่านสรุป ก็ถือได้ว่า เราได้รับธรรมะที่เป็นยาแก้โรค และ เป็น เชื้อต้านทานโรค เข้าไปไว้ในจิตวิญญาณแล้ว และจะไม่มีทางเกิดโรคทางวิญญาณ ( Spiritual Disease) ขึ้นมาได้

วิธีการปฏิบัติเพื่อให้ว่างจากตัวกู ของกู แก้

หลังจากนั้น ท่านได้ขยายความว่า พระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ว่างจากตัวกู ของกูไว้มากมาย เพื่อให้เหมาะสมแก่บุคคล เวลา และ สถานที่ ตามที่เคยได้ยินกันว่ามีถึง 84,000 เรื่อง ซึ่งหากพิจารณาตามตัวเลขแล้วจะทำให้ท้อถอย แต่จริงๆแล้ว หลักสำคัญ มีเพียงสั้นๆ ตามที่พระพุทธเจ้า ได้สรุปไว้ให้แล้ว คือ “สิ่งทั้งปวงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น” และ ทุกวิธีจะสามารถขจัดความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูได้เหมือนกันทั้งหมด แล้วแต่ว่าใครจะเลือกปฏิบัติตามวิธีใด

ท่านพุทธทาส ได้ยกตัวอย่างวิธีการรักษาโรคทางวิญญาณไว้เพียง 3 วิธี พอให้เข้าใจได้ชัดขึ้นและเหมาะสมกับเวลาในการบรรยาย คือ 1)วิธีการตามหลักปฏิจจสมุปบาท 2)วิธีการตามหลักไตรลักษณ์ และ 3)วิธีการตามหลักขันธ์ 5

วิธีการตามหลักปฏิจจสมุปบาท แก้

ตัวอย่างวิธีปฏิบัติตามหลักปฎิจจสมุปบาท (ความหมาย คือ การที่สิ่งต่างๆอาศัยสิ่งหนึ่งปรุงอีกสิ่งหนึ่งเป็นวงจรต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตามที่เคยได้ยินกัน เช่น เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ทุกข์ เป็นต้น) ท่านพุทธทาส อธิบายว่า การขจัดความรู้สึกตัวกูของกู ตามหลักการนี้ คือ พิจารณาเสมอว่าตัวกูของกูเป็นเพียงมายา เป็นภาพลวงตา แล้วหมั่นปฏิบัติในการ ตัดตอนการปรุงแต่งเสียแต่แรกๆ เช่น ตัดตอนไม่ให้เกิดความรู้สึกพอใจ/ไม่พอใจ ตัดตอนไม่ให้เกิดความรู้สึกอยากมี อยากได้ เป็นต้น

วิธีปฏิบัติตามหลักไตรลักษณ์ แก้

ตัวอย่างวิธีปฏิบัติตามหลักไตรลักษณ์ หรือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ การหมั่นพิจารณาให้เห็นว่า รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสเป็นเพียงมายา เป็นภาพลวงตา และ อย่าตกเป็นทาสของอารมณ์รัก หรือ เกลียด หากปฏิบัติได้เช่นนี้ เราก็จะมีชีวิตอยู่อย่างเกษม คือ อิสระและสงบเย็น

วิธีปฏิบัติตามหลักขันธ์ 5 แก้

ตัวอย่างวิธีปฏิบัติตามหลักขันธ์ 5 ( รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ ) ซึ่งท่านพุทธทาส นำมากล่าวถึงเฉพาะ สุขเวทนา คือ ความรู้สึกสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ฯลฯ ท่านแนะให้หมั่นพิจารณาว่า ความรู้สึกสุขเป็นเหมือนลูกคลื่นที่เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ไม่ใช่ตัวจริง ท่านเห็นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกมีค่าอยู่ตรงที่ก่อให้เกิด ความรู้สึกเป็นสุข เช่น การเรียน การทำงาน การสะสมสมบัติ ฯลฯ ดังนั้น หากเราจัดการกับเรื่องสุขเวทนาให้ถูกต้องเพียงเรื่องเดียว ทุกเรื่องก็ถูกหมด การจัดการที่ถูกต้อง ก็เช่นเดียวกับวิธีอื่นๆ คือ ควรหมั่นพิจารณาว่า สุขเวทนาเป็นมายา ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ หมายความว่า เมื่อเกิดความรู้สึกเป็นสุข ก็มองให้เห็นว่า เดี๋ยวมันก็จะแตกกระจายไปเช่นเดียวกันลูกคลื่น เมื่อเห็นเช่นนี้ เราก็จะไม่ตกเป็นทาสของสุขเวทนา ซึ่งจะรวมถึงการไม่เป็นทาสของทุกขเวทนา เช่นกัน

สรุปปิดท้ายการบรรยาย แก้

ท่านย้ำเตือนว่า ในการปฏิบัติตามแนวทางต่างๆนั้น ต้องระมัดระวังให้ดี มีสติสัมปชัญญะให้มากขณะที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกระทบตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ซึ่งประเด็นนี้พระพุทธเจ้าได้กำชับพระพาหิยะ พระสงฆ์รูปหนึ่งว่าให้เห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักว่าได้ยิน อย่าให้ปรุงเวทนา หรือ ถ้าปรุงเป็นเวทนาแล้ว ก็อย่าให้ปรุงเป็นตัณหาก็ได้ ยังได้อีกทีหนึ่ง แล้วก็ไปสนใจเรื่องว่างเรื่องวุ่นให้มากที่สุด

ท่านพุทธทาสได้กล่าวถึง นิพพาน ว่า เมื่อเราพอเข้าใจเรื่อง ว่าง และ วุ่น และหมั่นสังเกต ก็จะจับได้ว่า แท้จริงแล้ว เราก็มี ช่วงเวลา ‘ว่าง’ หรือ ‘มีสติปัญญา’ อยู่มาก  ในขณะที่ ช่วงเวลา ‘วุ่น’ หรือ ‘ความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกู’ นั้น ก็มาเป็นพักๆ เกิดข้นทีไรก็เป็นทุกข์ ทุกที แต่ในขณะที่ไม่เกิด ก็ไม่เป็นทุกข์ และเราก็มีช่วงเวลานั้นอยู่มาก แต่เรามักมองข้าม คือ มองข้ามนิพพานที่มีอยู่เองไปเสีย จึงมองไม่เห็นว่ามี ‘นิพพาน’ 

ท่านพุทธทาส เห็นว่า ความว่าง ที่มีอยู่เอง นั้น เป็น นิพพานน้อยๆ หรือ นิพพานชิมลอง ซึ่งเป็นอย่างเดียวกับนิพพานถาวร เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นอย่างถาวร เพราะเรายังไม่สามารถป้องกันโรคหรือทำลายโรค ซึ่งจะแทรกเข้ามาเป็นพักๆได้ ท่านพุทธทาสเห็นว่าคนที่ฉลาด หรือมีบุญจะรู้ว่า จิตโดยพื้นฐานแล้ว ‘ว่าง’ หรือ ‘นิพพาน’ อยู่เอง แล้ว ดังนั้น เราจึงควรระวังอย่าให้มีของใหม่เข้ามาแทรกแซง เพียงแค่นี้เราก็’ ว่าง’ ได้แล้ว แต่ต้องมีความรู้สึกตัวอยู่เสมออย่าประมาท คอยจับให้พบความว่าง และ วุ่น ที่เกิดอยู่เป็นประจำวัน ท่านพุทธทาส สรุปปิดท้ายการบรรยาย เรื่อง ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนาว่า ขอให้ทุกคนรู้จักโรค ทั้งทางกาย ทางจิต และ ทางวิญญาณ ให้ครบถ้วน แล้วแก้ไขเยียวยาทุกโรค ให้เป็นผู้ไม่มีโรค และได้ชื่อว่า อโรคยา ปรมา ลาภา ที่แท้จริง

หนังสืออ่านเพิ่ม แก้

  • สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ลายสือไทย, 2522.
  • โดแนลด์ เค. สแวเรอร์ และ เสรี พงพิศ, พุทธทาสภิกขุนักปฏิรูปพุทธศาสนาในเมืองไทย / ท่านพุทธทาสกับสังคมไทย, แสงรุ้งการพิมพ์, 2526.
  • พุทธทาสภิกขุ และ ปัญญานันทภิกขุ, แม่ / ความรักของแม่, ธรรมสภา.
  • พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ, มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2546. ISBN 9747233541.
  • ภาพชีวิต 80 ปี พุทธทาสภิกขุ : มิติใหม่ของพระพุทธศาสนา, มูลนิธิเสฐียรโกเศศ - นาคะประทีป, 2529.
  • ชีวิต หลักธรรม การงาน พุทธทาสภิกขุ, มูลนิธิเผยแพร่ชีวิตอันประเสริฐ, 2536.
  • พุทธทาสภิกขุ, สิบปีในสวนโมกข์ อัตชีวประวัติในวัยหนุ่มของพุทธทาสภิกขุ, ปาจารยสาร, 2529.
  • พุทธทาส สวนโมกขพลาราม กำลังแห่งการหลุดพ้น อาจาริยมรณานุสรณ์, ภาพพิมพ์, 2537.
  • ห้าสิบปีสวนโมกข์, สวนอุศมมูลนิธิ, 2525.
  • ตามรอยปณิธานแห่งธรรม, ธรรมสภา, 2538.
  • พ.ศ. 2476 เริ่มจัดทำ หนังสือพิมพ์พุทธสาสนา

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

อ้างอิง แก้