พะยี่น หรือ พะรี่น (พม่า: ဖရင်း, มาจากคำว่า เพลง ในภาษาอยุธยา) หรืออาจรู้จักในชื่อ เอเอชูเย่ไช (ဧဧခြူရေးချိုက်) เป็นเพลงพม่าเพลงหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มเพลงสำเนียงอยุธยา (​ယိုးဒယားသီချင်း) ซึ่งชาวพม่าให้การยอมรับว่าเป็นเพลงอยุธยามาแต่ดั้งเดิม รวมทั้งมีเนื้อเพลงเป็นภาษาไทยสมัยอยุธยา อย่างไรก็ตามเนื้อร้องดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดสู่ชาวพม่าในรูปแบบมุขปาฐะ ทำให้ปัจจุบันนี้ทั้งชาวไทยและพม่าเองไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาและความหมายของเพลงนี้ได้เลย ในเวลาต่อมาอูซะ เจ้าเมืองมยะวดี ได้แต่งเนื้อร้องเป็นพม่าใหม่ แต่ยังคงทำนองเพลงอย่างอยุธยาไว้ดังเดิม

ประวัติ แก้

หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองใน พ.ศ. 2310 มีการกวาดต้อนเชลยชาวอยุธยาจำนวนมากไว้ในขอบขัณฑสีมากษัตริย์พม่า เชลยเหล่านี้ถูกเรียกว่าโยดะยา (ယိုးဒယား) ตามแหล่งที่มา หลายคนที่ถูกกวาดต้อนเป็นศิลปินในราชสำนักอยุธยามาก่อน จึงมีการนำดนตรีและนาฏศิลป์อย่างอยุธยาเข้าไปยังราชสำนักพม่าอย่างแพร่หลาย[1][2] ก่อให้เกิดเพลงพม่าสำเนียงอยุธยาหลายเพลง และจากการศึกษาพบว่าทำนองเพลงอยุธยาของพม่ากับทำนองเพลงไทยมีจังหวะและทำนองสม่ำเสมอเชื่อมโยงกัน[3]

อู้นุ เจ้ากรมมหรสพ ได้กล่าวถึงเรื่องราวมุขปาฐะของแม่นมชาวโยดะยาที่อาศัยอยู่กับชนชั้นมูลนายชาวพม่าครวญเพลงเป็นภาษาพื้นถิ่น คือเพลง เอเอชูเย่ไช ความว่า[4]

 
วงดนตรีและนักแสดงยามะซะตอช่วงศตวรรษที่ 19

"...วันหนึ่งในจวนของเสนาบดี หญิงชาวโยดะยามีอายุคนหนึ่งกำลังดูแลเด็กด้วยการอุ้มขึ้นแนบอก หันไปทางฟากตะวันตกแหงนหน้ามองท้องฟ้าสีหม่น อันมืดครึ้มไปด้วยเมฆฝนที่กำลังรวมตัวกันในเวลาเย็น ภายใต้ใบหน้าอันหมองเศร้า พร้อมกับครวญเพลงภาษาโยดะยาที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า 'เอยฉุยฉาย' ขณะนั้นเสนาบดีได้เห็นเข้าก็เรียกแม่นมเข้าไปถามว่าเจ้าเป็นอะไรหรือเปล่า แม่นมตอบว่า 'ข้าฯ มาจากอยุธยาก็ช้านานแล้ว จะได้กลับไปเวลาไหนก็มิทราบ บนท้องฟ้าโน่น เมฆฝนกำลังมาเจ้าค่ะ ฝนกำลังจะตกแล้วนะเจ้าคะ เมื่อนึกถึงอยุธยา มันทำให้ข้าฯ อยากร้องไห้เจ้าค่ะ' เสนาบดีจึงถามต่ออีกว่า 'แม่นม แล้วเพลงที่เจ้าพึมพำออกมาจากปากนี่มันอะไร' แม่นมตอบ 'เพลงภาษาโยดะยาเจ้าค่ะ' เสนาบดีถาม 'แล้วคำอธิบายล่ะ ว่าอย่างไร' แม่นมตอบกลับ 'เป็นเพลงที่กล่าวว่า การตามติดคิดถึงนั้นเป็นดั่งไอหมอกที่กระตือรืนร้นจากทิศตะวันตกเฉียงใต้โน่นเจ้าค่ะ' เสนาบดีถามอีกว่า 'แล้วเจ้าน่ะไปได้เพลงนี้มาจากไหน' แม่นมตอบ 'โอพระคุณฯ เจ้าคะ การแสดงมหรสพของชาวโยดะยานั้นช่างยิ่งใหญ่มากเจ้าคะ แสดงติดต่อไปถึง 45 วันเลยเจ้าค่ะ อย่างเรื่อง รามลักขณะเอย เรื่องอิเหนาเอยก็ดีมากเจ้าค่ะ อย่างเรื่องอิเหนานั้น เจ้าหญิงบุษบาได้ถูกลมหอบไป เจ้าชายอิเหนาไม่พบเจ้าหญิงบุษบาก็เที่ยวออกตามหา เมื่อเจ้าชายมองท้องฟ้าเห็นเมฆ และฝนตกลงมาก็ทำให้หวนคิดถึงเจ้าหญิงบุษบาเจ้าค่ะ' เสนาบดีกล่าว 'โอ้ ช่างน่าสนใจจริง ๆ เออนี่ แล้วนักแสดงเหล่านั้นน่ะเราจะพบเขาได้ที่ไหนหรือ' แม่นมตอบ 'พุทโธ่เอ๋ย เจ้าพระคุณเจ้าขา ก็คนที่ถูกกวาดมาในตอนนี้ไงเจ้าคะ มีทั้งนักดนตรี นักแสดงตามติดมาทั้งหมดแหละเจ้าค่ะ ตอนนี้คนเหล่านี้ประกอบอาชีพขายอาหารอยู่เจ้าค่ะ' จากนั้นเสนาบดีจึงนำความจากแม่นมชาวโยดะยาขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบรมวงศานุวงศ์พม่า เจ้านายก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระเจ้าช้างเผือก พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการให้ทำการรวบรวมนักแสดงโยดะยาตั้งขึ้นเป็นกรม เพื่อแสดงละครถวายพระราชสำนัก นับแต่นั้นมาก็มีการแสดงแบบโยดะยาทั้งการบรรเลง ท่วงท่า และเนื้อเรื่อง..."

ในวัฒนธรรมเพลงพม่ามีทำนองเพลงอยุธยาที่ยังหลงเหลือร่องรอยการใช้ภาษาไทยในการขับร้อง คือ พะยี่น (ဖရင်း) หรือ เพลง ในภาษาอยุธยา ส่วนชื่อ เอเอชูเย่ไช (ဧဧခြူရေးချိုက်) มาจากเนื้อร้องขึ้นต้น[3] ซึ่งเนื้อร้องเป็นภาษาอยุธยาโบราณที่ถูกถ่ายทอดในรูปแบบมุขปาฐะแก่ชาวพม่านานกว่าศตวรรษ ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการออกเสียง และชาวพม่าเองก็ไม่สามารถถ่ายทอดคำร้องได้ถูกต้องอย่างต้นฉบับ ทำให้ปัจจุบันไม่มีใครเข้าใจความหมายของเพลงนี้ได้เลย[3][5][6] เข้าใจว่า พะยี่น นี้คงเป็นเพลงหน้าพาทย์[7] ที่สื่อถึงนางสีดา ในฉากที่หนุมานเดินทางไปกรุงลงกาเพื่อตามนางสีดาซึ่งอยู่ท่ามกลางหญิงงามคนอื่น ๆ แต่หนุมานกลับพบนางสีดาโดยง่าย เพราะงามโดดเด่นยากจะหาสตรีนางใดมาเปรียบ[5] แต่เนื้อเพลงก็มีส่วนคล้าย เพลงฉุยฉาย และ เพลงแม่ศรี ในการแสดงโขน ตอนทศกัณฑ์ลงสวน ของประเทศไทยในยุคปัจจุบัน[8]

พ.ศ. 2347 อูซะ เจ้าเมืองมยะวดี ได้แต่งคำร้องเพลง พะยี่น เป็นภาษาพม่า ตามพระราชบัณฑูรของรัชทายาทผู้สนพระทัยในศิลปะและการละครอย่างสยาม แต่ยังคงทำนองอยุธยาไว้ดังเดิม[3] โดยเพลงนี้ถูกจัดให้เป็นเพลงอยุธยาประเภทระทมรัก มีเนื้อหาชมความงามของธรรมชาติตามชนนิยม มีการตัดทอนพยางค์จากเดิมเป็นภาษาไทยมี 75 พยางค์ เหลือเพียง 50 พยางค์เมื่อเป็นภาษาพม่า เพื่อแปลงคำร้องให้เข้ากับทำนองเพลงอยุธยา[5]

ในช่วงเวลาต่อมาเพลง "เอเอชูเย่ไช" ถูกบรรจุลงในหมวดเพลงที่สะกดด้วยอักษรพม่าแต่ไม่มีความหมาย ในหนังสือ มหาคีตา กระทั่งอู้นุ นายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่า ตั้งข้อสังเกตกับเพลงเอเอชูเย่ไช ว่าแม้จะใช้เครื่องดนตรีพม่าบรรเลง แต่ท่วงทำนองและจังหวะกลับคล้ายกับทำนองเพลงไทยมาก จึงทำให้เกิดการศึกษาอย่างจริงจัง จนพบว่าเพลงดังกล่าวตกทอดมาจากบทเพลงของชาวโยดะยาผู้พลัดถิ่นในอังวะ[6]

เนื้อเพลง แก้

อักษรพม่า อักษรโรมัน อักษรไทย ถอดคำร้อง เทียบ ฉุยฉาย และ แม่ศรี[8]
  • ဧဧခြူရေးချိုက်
  • ကျပါ ရာနော
  • ကောလော ဟေဟေရိုင်
  • ယဉ်ရာယိုင် ကလိုင်
  • ချာဟေး ပါဟေးဝါ
  • ကွတ်ကာယွန်းရာ
  • လွန်းခွတ်ရာ
  • ဗွေတာရပိုက်
  • တျာတျာယိမ်း ယိမ်းယိုင်ယိုင်
  • ကျောက် ဖွဲ့လောဟေ
  • တျာတျာယိမ်းယိုင်ယိုင်
  • မယ်ဆီရေ မယ်ဆီ ဆံခါ
  • နောမြနားမော
  • ဝမ်းကောဝမ်းတွေးတာရပိုတ
  • ဘွေကြရံဝိုက်
  • တျာတျာ ဒိန်းဒိန်း နာနာ
  • ei ei chu yei chai
  • ja pai ya nor
  • kor lor hei hei rai
  • yin ya yai klai
  • za hei pa hei wa
  • gairwa ka yun ya
  • lun khairwa ya
  • pawei ta ya bai
  • thaya thaya yin yin yai yai
  • chock paweilerhei
  • thaya thaya yin yai yai
  • mair zee yei mair zee zung kha
  • nor mayor na mor
  • wan kor wan thawei ta yabai
  • pawei jara wai
  • thya thay tin tin na na
  • เอเอชูเย่ไช
  • จะปา ยานอ
  • กอลอ เฮเฮไยง์
  • ยีนยาไยง์ กะไลง์
  • ชาเฮ่ ปาเฮ่วา
  • กุกายู่นยา
  • ลู่นคุยา
  • บเวตายะไป
  • ตยา-ตยาเย่น เย่นไยง์ไยง์
  • เชาะ พแหว่ลอเฮ
  • ตยา-ตยาเย่นไยง์ไยง์
  • แมซีเย แมซี ซานคา
  • นอ-มยะน่ามอ
  • ว่านกอว่าน-ตเว่ตายะไป
  • บเวจะยานไว
  • ตยา-ตยา เด้นเด้น นานา
  • เอย ฉุยฉาย
  • จะไปไหนหน่อย
  • ก็ลอยชาย
  • เยื้องย่างกราย
  • จะ (เอย) ไป (เอย) มา
  • ?
  • ?
  • ?
  • ?
  • ?
  • ?
  • แม่ศรีเอย แม่ศรีสังขา (หรือ แม่ศรีแสนคม)
  • หนอแม่หน้ามน
  • วันใดก็วันใด
  • ?
  • ?
  • ฉุยฉายเอย
  • จะไปไหนหน่อยเจ้าก็ลอยชาย
  • เยื้องย่างเจ้าช่างกราย
  • หล่อนไม่เคยพบชายนักเลงเจ้าชู้
  • จะเข้าไปเกี้ยวแม่ทรามสงวน
  • เจ้าช่างกระบวนหนักหนาอยู่
  • ฉุยฉายเอย จะไปไหนนิดเจ้าก็กรีดกราย
  • เยื้องย่างเจ้าช่างกราย
  • หล่อนมิเคยพบชายนักเลงเก่งแท้
  • จะเข้าไปเกี้ยวแม่ทรามสงวน
  • เจ้าช่างกระบวนเสียจริงเจียวแม่
  • ยักษีเอย ยักษีโสภณ
  • เจ้าช่างแต่งตน
  • เลิศล้นหนักหนา ห้อยไหล่แดงฉาด
  • งามบาดนัยน์ตา
  • ช่างงามสง่า จริงยักษีเอย

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. "รอยเวลา...มัณฑะเลย์". กรุงเทพธุรกิจ. 8 สิงหาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "ไทย-พม่า กับความสัมพันธ์ด้าน "นาฏกรรม" ที่หยิบยืมกันไปมา". ศิลปวัฒนธรรม. 16 เมษายน 2563. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Suradit Phaksuchon, Panya Rungrueang. "Yodaya: Thai Classical Music in Myanmar Culture". MANUSYA : Journal of Humanities (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. สิทธิพร เนตรนิยม (Jan–Jun 2019). ฟ้อนม่านมุ้ยเซียงตา : อิทธิพลนาฏกรรมพม่าในสังคมไทย ศึกษาวิเคราะห์ความหมายของชื่อชุดการแสดง บทขับร้อง และโครงสร้างของทำนองเพลง. วารสารไทยคดีศึกษา (16:1). p. 61-63.
  5. 5.0 5.1 5.2 เมี้ยนจี (เขียน), สุเนตร ชุตินธรานนท์ และธีรยุทธ พนมยงค์ (แปลและเรียบเรียง). "บทเพลงโยธยาสามเพลงอันแสดงถึงลักษณะไทยในประเทศพม่า ดนตรีพม่ายุคจารีต". พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า, หน้า 145-147
  6. 6.0 6.1 PLOY (25 มกราคม 2565). "นาฏศิลป์และการละครที่ปรากฎอยู่ใน "จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี"". ALTV. สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง : นาฏศิลป์และดนตรี". Thai PBS. 15 กรกฎาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 ไพโรจน์ ทองคำสุก. "พัดในการแสดงนาฏศิลป์โขน ละคร". กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
บรรณานุกรม
  • สุเนตร ชุตินธรานนท์, รศ. ดร. (บรรณาธิการ). พม่าอ่านไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะไทยในทรรศนะพม่า. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555. 220 หน้า. ISBN 978-974-322-352-5