เป็นลป (Dzongkha: དཔོན་སློབ་; Wylie: dpon-slob; also spelled Ponlop, Pönlop) เป็นภาษาภูฏานที่แปลออกมาคร่าวๆได้ว่า "เจ้าหัวเมือง" โดยเป็นตำแหน่งทางการปกครองในสมัยโบราณของภูฏาน ก่อนที่จะมีการรวมประเทศ เจ้าหัวเมืองเหล่านี้จะมีการแบ่งเขตการปกครองตัวเองตามส่วนต่างๆของภูฏาน ตำแหน่งเป็นลปเหล่านี้ค่อยๆถูกลดบทบาทลงภายใต้การขึ้นมามีอำนาจของราชวงศ์วังชุก และถูกแทนที่ด้วยเจ้าหน้าที่ข้าราชการจากรัฐบาลกลางตามรูปแบบการปกครองสมัยใหม่

โดยในสมัยก่อนที่ภูฏานจะรวมชาติเป็นปึกแผ่นนั้น ดินแดนในประเทศภูฏานปัจจุบันถูกปกครองโดยเป็นลปต่างๆ ที่แบ่งพื้นที่ออกเป็นเก้าส่วน ประกอบด้วย ตรองซา พาโร พูนาคา วังดูโพดัง ธากา บัมดัง ทิมพู เคอร์มัด และ เคอร์ธอด ซึ่งแต่ละส่วนก็จะมีเป็นลปคอยบริหารพื้นที่ส่วนนั้นๆเป็นของตัวเอง ในบางครั้งตำแหน่งเป็นลปของแต่ละที่อาจจะถูกเรียกขานว่า "ซองเพ็น" (Dzongpen) แต่ตำแหน่งซองเพ็นจะถูกเรียกขานแก่เป็นลปที่มีอำนาจและบารมีมากเท่านั้น[1]

สำหรับตำแหน่งเป็นลปนั้นถือได้ว่าเป็นผู้มีอำนาจสิทธิขาดเหนือพื้นที่ภายใต้การปกครองของตัวเอง และเป็นลปแต่ละแห่งล้วนแล้วแต่มีสถานะเท่ากัน อย่างไรก็ตามภายใต้การปกครองตามอิทธิพลธิเบต กลุ่มที่มีอำนาจสูงสุดคือกลุ่มลามะ ภูฎานในสมัยก่อนก็เช่นกัน เป็นลปจาก 9 แคว้นนั้นล้วนแล้วแต่ต้องภักดีต่อองค์ซับดรุง อันเป็นองค์ลามะที่มีอำนาจสูงสุดและเป็นดั่งประมุขของภูฏาน

อย่างไรก็ตามรูปแบบการปกครองแบบทิเบตนั้นมีปัญหาอย่างมาก ทำให้อำนาจของส่วนกลางไม่เข้มแข็ง เป็นลปต่างๆจึงพยายามแข็งขันอำนาจกัน โดยมีเป็นลปจากพาโรและเป็นลปจากตรองซาที่พยายามแย่งชิงอำนาจกัน[2] และในที่สุดก็เป็นเป็นลปแห่งตรองซาที่สามารถเอาชนะไปได้ เป็นลปแห่งตองซาต่อมาได้ก้าวขึ้นมาสถาปนาระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้ราชวงศ์วังชุก ทำให้กษัตริย์แห่งภูฏานในปัจจุบันมีตำแหน่งเป็น "เป็นลปแห่งตรองซา" ด้วย

อ้างอิง

แก้
  1. Madan, P. L. (2004). Tibet, Saga of Indian Explorers (1864–1894). Manohar Publishers & Distributors. p. 77. ISBN 978-81-7304-567-7. สืบค้นเมื่อ 2011-08-14.
  2. Zetland (Marquis of), Lawrence John Lumley Dundas; Ronaldsha, E.; Asian Educational Services (2000). Lands of the thunderbolt: Sikhim, Chumbi & Bhutan. Asian Educational Services. p. 204. ISBN 978-81-206-1504-5. สืบค้นเมื่อ 2011-08-10.