เทียนกิ่งขาว
Lawsonia inermis
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Rosids
อันดับ: Myrtales
วงศ์: Lythraceae
สกุล: Lawsonia
สปีชีส์: L.  inermis
ชื่อทวินาม
Lawsonia inermis
L.

เทียนกิ่งขาว หรือ เฮนนา (Henna; ชื่อวิทยาศาสตร์: Lawsonia inermis)[1] เป็นพืชในวงศ์ Lythraceae และเป็นพืชมีดอกชนิดเดียวในสกุล Lawsonia คำว่าเฮนนาในภาษาอังกฤษมาจาก ภาษาอาหรับ حِنَّاء (ALA-LC: ḥinnāʾ; ออกเสียง ħɪnˈnæːʔ) หรือ حناหรือ /ħinna/ เป็นไม้พุ่มเปลือกเรียบ สีน้ำตาล ใบเดี่ยว รูปรี ออกตรงข้ามกัน โคนใบรูปลิ่ม ดอกช่อออกตามปลายกิ่ง ดอกขาวเรียกเทียนกิ่งขาว ดอกแดงเรียกเทียนกิ่งแดง ผลกลมสีเขียวแก่แล้วสีน้ำตาล

เปลือกต้น ผลและรากเมื่อรับประทานทำให้อาเจียน ท้องร่วง เป็นอัมพาตและแท้งบุตร[2] กระจายพันธุ์ในแอฟริกาและเอเชียใต้ ใบสดของเทียนกิ่งต้มรวมกับเหง้าขมิ้นชันใช้รักษาเล็บขบ ผงใบแห้งใช้ย้อมผมให้เป็นสีแดงส้ม ใบมีสารลอว์โซน เป็นผลึกสีส้มแดง[3]พืชชนิดนี้ใช้ทำสีย้อมที่เรียกเฮนนาเช่นกัน โดยใช้ทาผิวหนัง เส้นผม เล็บ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย และยังมีส่วนสำคัญในการทำสีสำหรับทำปฏิมากรรมต่างๆของอาณาจักรในแอฟริกา [4][5]

มูลค่าทางเศรษฐกิจ แก้

ในปี 2020 ขนาดของตลาดผงเฮนน่าทั่วโลกอยู่ที่ USD million หรือ ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะถึง USD million ภายในปี 2027 โดยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องขึ้น โดยมี CAGR% ระหว่างปี 2564-2570[6]

ลักษณะทางพฤกศาสตร์ แก้

ไม้พุ่ม สูง 3-5 เมตร ทรงพุ่มโปร่ง เปลือกสีน้ำตาลอมเทา กิ่งแก่มีหนาม ใบ เป็นใบเดี่ยว กว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 3-4 เซนติเมตร เรียงตรงข้าม รูปวงรีแกมรูปใบหอก เนื้อใบค่อนข้างแข็ง และหนา ดอก เป็นดอกแบบช่อกระจุก ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีดอกทั้งปี กลีบดอกสีขาว หรือสีแดง ดอกย่อยขนาดเล็ก มี 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ดอกขาว และพันธุ์ดอกแดง กลีบเลี้ยงสีเขียวโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น  ผล ผลแห้งแตก รูปทรงกลมสีเขียว ขนาด 0.5-0.8 เซนติเมตร เมื่อแก่มีสีน้ำตาล[7]

ประวัติการใช้ประโยชน์ แก้

ตำรายาไทย ใบ รสฝาดเฝื่อน ใช้แก้กลากเกลื้อน แก้น้ำเหลืองเสีย พอกสมานบาดแผล รักษาแผลมีหนอง ตำกับขมิ้นและเติมเกลือเล็กน้อยพอกแก้เล็บขบ เล็บถอด เล็บช้ำ หรือเป็นหนอง แก้ปวดนิ้วมือนิ้วเท้า ถอนพิษปวดแสบปวดร้อน ฝี แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลฟกช้ำ ผิวหนังอักเสบ ห้ามเลือด ใช้เป็นเครื่องสำอาง พอกเล็บ เป็นยาย้อมผม และขน ยอดอ่อน รสฝาด ใช้ยอดอ่อนประมาณ 1 กำมือ ต้มดื่มแก้ท้องร่วงในเด็ก ใบและยอดอ่อน รักษาโรคเชื้อราที่เล็บ พอกหุ้มเล็บแก้เล็บขบ กันเล็บถอด เล็บช้ำ แก้ท้องเสีย สารมีสีในใบแห้ง ใช้ย้อมผม ย้อมผ้า และขนสัตว์ ให้สีน้ำตาลแดง ราก ใช้ขับประจำเดือน รักษาตาเจ็บ ขับปัสสาวะ รักษาโรคลมบ้าหมู เปลือก ขับน้ำเหลืองเสียในโรคเรื้อน ดอก ใช้ขับประจำเดือน แก้ปวดศีรษะ รักษาดีซ่าน ผล ใช้ขับประจำเดือน[8]

Etymology แก้

Lawsonia inermis ตั้งชื่อตามแพทย์ชาวสก๊อตที่มีชื่อว่า Isaac Lawson ส่วนคำว่าเฮนนาในภาษาอังกฤษมาจาก ภาษาอาหรับ حِنَّاء (ALA-LC: ḥinnāʾ; ออกเสียง ħɪnˈnæːʔ) หรือ حناหรือ /ħinna/

ตำนาน เรื่องเล่า ความเชื่อ แก้

ชาวมุกัลนำ Henna (Mehendi หรือ เทียนกิ่ง) มายังประเทศอินเดีย ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 มีการใช้ Henna ตามประเพณีต่าง ๆ โดยการนำใบ Henna มาทำให้แห้งและบดให้ละเอียด จากนั้นนำมาใช้ทาหรือตกแต่งเป็นลาดลายบนฝ่ามือ ซึ่ง Henna มีคุณสมบัติในการเป็นสีย้อมให้สีแดงสนิมหรือส้มอิฐ และไม่มีผลข้างเคียงกับผิว ประเพณีของ Henna เกิดขึ้นในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง เชื่อกันว่าใช้เป็นเครื่องสำอางมานับหมื่นปี การใช้เฮนนาทาบนมือและเท้าของผุ้หญิงเป็นที่แพร่หลาย ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องระดับชนชั้นทางสังคมหรือสถานภาพการสมรส โดยความนิยมใช้ Henna เริ่มมาจากชนชั้นคนร่ำรวยและพระราชวงศ์และกลายมาเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในชนชั้นอื่น ๆ

การใช้ Henna ทางทิศตะวันตก มีการแนะนำการใช้ Henna มาสู่วัฒนธรรมยูโรอเมริกัน ซึ่งถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการทำรอยสักของชาวตะวันตก

การใช้ Henna ในศาสนาฮินดู นิยมนำมากทั้งชายและหญิง อีกทั้งถูกแปรรูปเป็นครีมและยาย้อมผม Henna ยังใช้ในช่วง Vratas ต่าง ๆ หรือ Fasts เช่น Karwa Chauth สังเกตได้จากผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว การออกแบบลวดลายของ Henna จุดขนาดใหญ่ตรงกลางมือและจุดเล็ก ๆ สี่จุดที่ด้านข้างบนฝ่ามือของพระพิฆเนศวร และพระลักษมี การใช้ Henna ในงานแต่ง ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญมาก สีน้ำตาลแดงของ Henna หมายถึงความมั่งคั่งที่เจ้าสาวจะได้รับจากครอบครัวใหม่ของเธอ พิธีกรรม Mehendi จะเกิดขึ้นในวันก่อนแต่งงาน โดยฝ่ายหญิงจะรวมตัวกันเพื่อทำพิธี Mehendi คือการทำเครื่องหมายบริเวณข้อมือ ฝ่ามือ และเท้าของพวกเขาด้วยสีแดงจาก Henna รวมไปถึงเจ้าบ่าวก็สามารถทาสีจาก Henna ลงบนฝ่ามือได้เช่นกัน[9]

การใช้ประโยชน์ แก้

สมุนไพร

ใบ

-  มีตัวยาสำคัญชื่อลอร์โซน (Lawsone) มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ใช้ทำยากันเล็บถอด เล็บช้ำ เล็บขบ แก้ปวดนิ้วมือนิ้วเท้า แผลมีหนอง ถอนพิษปวดแสบปวดร้อน ฝี แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลฟกช้ำ ผิวหนังอักเสบ

- รักษากามโรค แก้ปวดท้อง ท้องร่วง ขับปัสสาวะ

- ในสมัยโบราณ ใช้เป็นเครื่องสำอาง พอกเล็บ เป็นยาย้อมผม ขน

ราก

- ใช้ขับประจำเดือน รักษาตาเจ็บ ขับปัสสาวะ และรักษาโรคลมบ้าหมู

เปลือก

- ขับน้ำเหลืองเสียในโรคเรื้อน

ดอก

- ใช้ขับประจำเดือน แก้ปวดศีรษะ รักษาดีซ่าน

ผล

- ใช้ขับประจำเดือน


วิธีและปริมาณที่ใช้:

ยากันเล็บถอด เล็บขบ เล็บช้ำ

วิธีที่ 1  ใช้ใบเทียนกิ่งสด 20-30 ใบ ล้างให้สะอาดตำให้ละเอียด เอาข้าวสุกปั้นเป็นก้อนขนาดเท่าแม่มือ เผาไฟให้บางส่วนดำเป็นถ่านตำรวม ใส่เกลือเล็กน้อย พอกที่เล็บซึ่งถูกของหนักๆ ทับ หรือตรงจมูกเล็บเป็นหนอง หนองก็จะหาย เล็บไม่ถอด

วิธีที่ 2 ใช้ใบเทียนกิ่งสด 20-30 ใบ[10]


วิธีการย้อมผมด้วยเทียนกิ่งหรือเฮนน่า[11]

ผสมผงเฮนน่าปริมาณ 100 กรัม มะนาวครึ่งผล และน้ำชาที่ผ่านการต้มจนเดือดแล้ว 1 แก้ว ในชามแก้ว คนให้เข้ากัน ทิ้งไว้นาน 8 ชั่วโมง เมื่อครบบกำหนดแล้ว นำมาย้อมผมให้ทั่ว หมักทิ้งไว้นานตามที่ต้องการ แล้วสระผมด้วยน้ำสะอาดโดยไม่ต้องใช้แชมพูเช็ดผมให้แห้ง การนำเฮนน่ามาผสมร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ จะทำให้ได้สีย้อมที่แตกต่างกันไป เช่น

- ผงกาแฟ 1-2 ช้อนโต๊ะ ผสมลงในเฮนน่า จะให้สีโทนแดง

- นำดอกอัญชัน (เตรียมโดยใช้ดอกอัญชัน 30-50 ดอก ต้มกับน้ำชาจนสีดอกจางลง แล้วคั้นเอากากออก) ผสมลงในเฮนน่า จะให้โทนสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ

- น้ำส้มไซเดอร์  3 ช้อนโต๊ะ ผสมลงในเฮนน่า จะให้สีประกายทอง

- ผงกานพลู 3 กรัม ผสมลงในเฮนน่า จะทำให้สีเฮนน่าเข้มขึ้น ให้สีใกล้เคียงสีดำ

คุณค่าทางโภชนาการ/คุณสมบัติสำคัญ แก้

องค์ประกอบทางเคมี:

         ใบ พบสาร 2-hydroxy-1, 4-napthoquinone (HNQ;lawsone) 1.0-1.4% ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ให้สีย้อมจากธรรมชาติ, 1, 4dihydroxynaphthalene    1,4-naphthoquinone, 1,2-dihydroxy-glucoyloxynaphthaleneและ 2-hydroxy-1,4-diglucosyloxynaphthalene  สารกลุ่ม flavonoids ได้แก่ luteolins, apigenin    สารกลุ่ม coumarins ได้แก่ esculetin, fraxetin, scopletin    

         เปลือกต้น พบสาร napthoquinone, isoplumbagin,triterpenoids-hennadiol, aliphatics (3-methylnonacosan-1-ol), betulin, betulinic acid, lawsone, lupeol

         ดอก พบน้ำมันหอมระเหย 0.02% ซึ่งประกอบด้วย ionones 90% ซึ่งมีองค์ประกอบหลักคือ β-ionones

         เปลือกผล พบสาร lawsone  (สุนทรี, 2536)[12]

สาระสำคัญที่พบ แก้

สารสีในเทียนกิ่งคือ lawsone หรือ hennotannic acid (2-hydroxy-1, 4- naphthoquinone) พบมากที่สุดในส่วนของใบ นอกจากนี้ยังพบในส่วนของดอก กิ่ง เปลือกต้น และเมล็ด สาร lawsone จะให้สีส้มแดง สามารถละลายได้ในน้ำ ร้อน และจะใช้ย้อมสีผมได้ดีเมื่ออยู่ในสารละลายที่มีสภาวะเป็นกรด สาร lawsone จะยึดติดแน่นกับโปรตีนหรือเคอราตินของเส้นผม ทำให้สีติดแน่นทนนาน โดยส่วนใหญ่จะเคลือบอยู่บนเส้นผม จึงไม่ทำลายโครงสร้างของเส้นผม[11]

อ้างอิง แก้

  1. Bailey, L.H.; Bailey, E.Z. (1976). Hortus Third: A concise dictionary of plants cultivated in the United States and Canada. New York: Macmillan. ISBN 978-0025054707.
  2. เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ไม้มีพิษ. กทม. เศรษฐศิลป์. 2552
  3. ชยันต์ พิเชียรสุนทร และ วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 5 คณาเภสัช. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2548.
  4. Cartwright-Jones, Catherine (2004). "Cassia Obovata". Henna for Hair. สืบค้นเมื่อ 5 May 2013.
  5. Dennis, Brady (26 March 2013). "FDA: Beware of "black henna" tattoos". The Style Blog. The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 5 May 2013.
  6. "Henna Powder Market Size 2022 | No of Pages 143 | SWOT Analysis, Share, Global Research, Development, Business Prospects, Growth Rate and Forecast 2027". MarketWatch (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-10. สืบค้นเมื่อ 2022-05-10.
  7. "เทียนกิ่ง - ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ ม.อุบล : phargarden.com". www.phargarden.com.
  8. "เทียนกิ่ง - ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ ม.อุบล : phargarden.com". www.phargarden.com.
  9. "Mehendi หรือประวัติ Henna Dye และความสำคัญทางศาสนา". th.eferrit.com.
  10. "สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด". www.rspg.or.th.
  11. 11.0 11.1 อรัญญา ศรีบุษราคัม. เทียนกิ่ง..สีย้อมผมจากธรรมชาติ. (2020). สืบค้นจาก http://medherbguru.gpo.or.th/articles/s67_henna.pdf เก็บถาวร 2022-04-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2565.
  12. "เทียนกิ่ง - ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ ม.อุบล : phargarden.com". www.phargarden.com.