เทคนิคการสัตวแพทย์

นักเทคนิคการสัตวแพทย์ หรือ นักเทคโนโลยีการสัตวแพทย์ คือ บุคคลที่จบการศึกษา สาขาวิชาเทคนิคการสัตวแพทย์ (Veterinary Technology) ซึ่งทำหน้าที่เชิงบูรณาการในกลุ่มการดูแลสุขภาพสัตว์ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการดูแลและจับบังคับสัตว์ มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการชีวิตทั้งปกติและผิดปกติของสัตว์และสามารถปฏิบัติหน้าที่การจัดการดูแลสัตว์ การตรวจชันสูตรทางปฏิบัติการและสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นพยาบาลสัตว์ได้ ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล (Supervision) ของสัตวแพทย์ผู้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ชั้น 1 เท่านั้น โดยสามารถเป็นผู้สนับสนุนในงานสัตวแพทย์ในหลายประการ แต่ไม่สามารถบำบัดรักษาโรค วินิจฉัยโรค จ่ายยา ผ่าตัด ฉีดยา หรือการกระทำอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนดห้ามได้ โดยปัจจุบันประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายเป็นการเฉพาะสำหรับอาชีพเทคนิคการสัตวแพทย์ (การปฏิบัติหน้าที่ด้านพยาบาลสัตว์ หรือการสนับสนุนช่วยเหลือสัตวแพทย์ด้านบำบัดรักษา นักเทคนิคการแพทย์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เพียงลำพัง ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสัตวแพทย์ผู้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ชั้น 1 เท่านั้น ยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ เช่น นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ด้านสัตว์ทดลอง ฯลฯ นักเทคนิคการสัตวแพทย์สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ และ/หรือ ตามภาระงาน - Job description ทั้งนี้ในอเมริกาเหนือ ผู้จบการศึกษาทุกระดับ ต้องขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับใบอนุญาตทำงาน ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศ และ/หรือรัฐ นอกจากนั้นการทำงานเป็นคณะ - teamwork มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบบบริการสุขภาพสัตว์)

การแบ่งประเภทของสาขาวิชาเทคนิคการสัตวแพทย์ ตามระบบการศึกษาของอเมริกาเหนือ (North America) แบ่งออกตามระดับการศึกษาเป็น 3 ระดับ ตามคุณวุฒิ ดังนี้

1. นักเทคนิคการสัตวแพทย์ หรือ "Veterinary Technologist" หมายถึง ผู้ที่จบการศึกษาทาง Veterinary Technology ในระดับปริญญาตรี (Bachelor Degree) ในสหรัฐอเมริกา สำหรับในแคนาดา จะเรียกว่า "Animal Health Technology" หรือ "เทคโนโลยีสุขภาพสัตว์"

โดยสามารถทำหน้าที่เป็นพยาบาลสัตว์ (Veterinary Nurse) และ สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการคลินิกทางสัตวแพทย์ได้ (Veterinary Clinical Laboratory Scientist) โดยสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หลายประการ อาทิ นักเทคนิคการสัตวแพทย์ในสวนสัตว์หรือสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำได้ (Zoo Veterinary Technologist/Technician) ปฏิบัติหน้าที่นักวิทยาศาสตร์สัตว์ทดลองในหน่วยทรัพยากรสัตว์ทดลอง (Laboratory Animal Technologist/Technician) หรือปฏิบัติงานในฟาร์มปศุสัตว์ หรือ หน่วยวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือวิทยาการอื่นๆ ได้อย่างหลากหลาย

ทั้งนี้ถือว่าสาขาวิชาเทคนิคการสัตวแพทย์ เป็น "พหุวิทยาการ" และนักเทคนิคการสัตวแพทย์ เป็น "พหุวิชาชีพ" สาขาหนึ่งที่มีความสำคัญในระบบบริการสุขภาพมนุษย์และสัตว์เป็นอย่างมาก

ในประเทศไทย มีหลักสูตรเปิดสอนในระดับปริญญาตรี สาขาเทคนิคการสัตวแพทย์ ในหลายสถาบัน และ อาจจะหมายรวมถึง หลักสูตรสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพสัตว์ (Animal Health Science) ด้วย (เป็นข้อสังเกตเท่านั้น) แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีระบบมาตรฐานกลางในการจัดการศึกษาในสาขาวิชานี้ ทั้งนี้แต่ละสถาบันการศึกษามีอิสระในการพัฒนาหลักสูตรของตนเอง

2. เจ้าหน้าที่เทคนิคการสัตวแพทย์ หรือ "Veterinary Technician" หมายถึง ผู้ที่จบการศึกษาทาง Veterinary Technology ในระดับอนุปริญญา (Associate Degree) สำหรับในประเทศไทย อาจจะหมายถึง ผู้ที่จบการศึกษา ปว.ส. หรือ อนุปริญญา สาขาสัตวรักษ์ (เป็นข้อสังเกตเท่านั้น)

โดยสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เหมือนกับนักเทคนิคการสัตวแพทย์ แต่อาจจะได้รับมอบหมายภาระงานที่รับผิดชอบตามกรอบมาตรฐานตำแหน่งที่แตกต่างกัน

3. ผู้ช่วยสัตวแพทย์ หรือ "Veterinary Assistant" หมายถึง ผู้ที่จบการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรทางสุขภาพสัตว์ (Animal Health) หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งนี้สถานศึกษาบางแห่งอาจจะเรียกชื่อหลักสูตรว่าการบริบาลสัตว์ (Animal Care) หรืออาจจะเรียกชื่อหลักสูตรเป็นอย่างอื่น หรืออาจจะจัดให้มีหลักสูตรเป็นการเฉพาะอย่าง รวมทั้งบุคคลที่ได้ฝึกปฏิบัติงานโดยตรง (On-the-Job Training) จากผู้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ชั้น 1 ด้วย โดยต้องขึ้นทะเบียนกับสมาคมหรือองค์กรอาชีพที่เกี่ยวข้อง

(มีข้อสังเกตว่า Veterinary Technologist/Technician เป็นส่วนหนึ่งของ Veterinary Acts/Veterinary Surgeons Act/VETERINARY PRACTICE ACT ไม่ได้แยกวิชาชีพนี้ออกจากวิชาชีพการสัตวแพทย์ การควบคุมทางกฎหมาย อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน)

สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรแบบเดียวกันกับในอเมริกาเหนือ แต่สำหรับการฝึกบุคคลเพื่อทำหน้าที่ผู้ช่วยสัตวแพทย์นั้นขึ้นอยู่กับสัตวแพทย์ประจำสถานพยาบาลสัตว์หรือเจ้าของกิจการสถานพยาบาลสัตว์ สามารถทำการรับสมัครบุคคลที่มีวุฒิการศึกษาต่างๆ กัน เพื่อฝึกบุคคลนั้นให้ทำหน้าที่ผู้ช่วยสัตวแพทย์โดยอิสระ

การจัดการศึกษาและประกอบอาชีพทั้ง 3 ประเภทข้างต้น ในอเมริกาเหนือจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับใบอนุญาตกับสมาคมหรือองค์กรอาชีพด้วย

สำหรับการจัดการศึกษาตามระบบของยุโรป นิยมจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี ในหลักสูตรการพยาบาลสัตว์ (Veterinary Nursing Science) เป็นส่วนใหญ่ โดยเน้นการเป็นพยาบาลสัตว์ (Veterinary Nurse) เป็นสำคัญ แต่สถานศึกษาบางแห่งอาจจะเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี ในหลักสูตรพยาธิวิทยาทางสัตวแพทย์ (Veterinary Pathology) เพื่อผลิตบัณฑิตที่สามารถปฏิบัติหน้าที่การตรวจทางห้องปฏิบัติการคลินิก เป็นการเฉพาะ และสถาบันการศึกษาบางแห่งยังเปิดสอนในระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาวิชาสหเวชศาสตร์ทางสัตวแพทย์ต่างๆ เช่น กายภาพบำบัดทางสัตวแพทย์ เป็นต้น

สำหรับการแปลคำว่า Veterinary Technology ว่า เทคนิคการสัตวแพทย์ นั้น สาขาเทคโนโลยีการสัตวแพทย์ เข้าใจว่าน่าจะแปลผิดศัพท์บัญญัติ คำว่า Technology ควรแปลตรงตัวว่า เทคโนโลยี ดังนั้นควรแปลว่า เทคโนโลยีการสัตวแพทย์ จะเป็นการแปลคำศัพท์ตรงความหมายและศัพท์บัญญัติ

"เทคโนโลยี" และ "เทคนิค" ว่าความหมายที่ครอบคลุมแตกต่างกัน นอกจากนั้นการแปลว่า "เทคโนโลยีการสัตวแพทย์" จึงเป็นการไม่ดูถูกตัวเอง และสามารถสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะถึงความแตกต่างระหว่างสัตวแพทยศาสตร์ และเทคโนโลยีการสัตวแพทย์ ได้ระดับหนึ่ง ดังนั้นสาขาวิชาเทคโนโลยีการสัตวแพทย์ โดยสาขาวิชาฯ จึงแปลคำศัพท์เป็น "เทคโนโลยีการสัตวแพทย์ " แต่โดยความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน นิยมคำว่า เทคโนโลยีสุขภาพสัตว์ อย่างที่ใช้ในแคนาดามากกว่า

บทความนี้อาศัยข้อมูลจากระบบการศึกษาของอเมริกาเหนือ อาจะเหมือนหรือแตกต่างจากระบบการศึกษาของประเทศไทย และกฎหมายที่ใช้บังคับอาจจะแตกต่างกัน และให้ข้อมูลตารมบริบทของต่างประเทศและความทันสมัยของข้อมูลมีเพียงเฉพาะ ณ วันที่เขียนข้อมูลนี้เท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับในปัจจุบันที่ท่านอ่านข้อความนี้ โดย ผศ.ดร.น.สพ.สุรวัฒน์ ชลอสันติสกุล สาขาวิชาเทคโนโลยีการสัตวแพทย์ คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี

ปัจจุบันมีการเรียนการสอนในหลักสูตร วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาเทคนิคการสัตวแพทย์ ในระดับปริญญาตรีเกืดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นมานานแล้วถึง 17 ปี เพราะมีการผลิตนักเทคนิคการสัตวแพทย์มาแล้วเกือบ 17 รุ่น โดยการเรียนดังกล่าวอยู่ที่ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน (อยู่ติดกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ซึ่งเป็นผู้มีความรู้และความสามารถทางด้านห้องปฏิบัติการในสัตว์เกือบทุกชนิดไม่จำเป็นจะต้องจำกัดเพียงสัตว์เล็ก หรือ สัตว์ทดลอง แต่ขยายไปถึงสัตว์เศรษฐกิจด้วย อีกทั้งยังสามารถปฏิบัติงานในหน่วยงานราชการ เป็นเจ้าของกิจการทางแล็ปเอกชน และเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับผู้ที่สนใจในการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และเอกที่ต้องใช้พื้นฐานของความรู้ด้านสัตวศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ สัตวแพทย์ แบบผสมผสานกัน และเป็นคณะที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน และเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในองค์กรต่างๆ ในส่วนของการเปรียบเที่ยบกับ นายสัตวแพทย์นั้น ไม่สามารถกล่าวได้ว่าวิชาชีพต้องอยู่ภายใต้วิชาชีพใด เพราะขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกัน และลำดับการทำงาน ซึ่งบางครั้งอาจเกี่ยวกันมาก และสอดคล้องกัน หรือบางงานอาจแยกออกจากกันอย่างชัดเจน มีความเป็นเอกภาพในวิชาชีพของตนเอง

และในปัจจุบันมีการก่อตั้ง สมาคมเทคนิคการสัตวแพทย์แห่งประเทศไทย เกิดขึ้นแล้ว (VETERINARY TECHNOLOGY ASSOIATION OF THAILAND,VTAT ) มีหน้าที่กำกับดูแลในเนื้อหาของวิชาชีพนี้ เป็นแหล่งข้อมูล และควบคุมส่งเสริมการทำงานในสายงานนี้ให้เป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้น และควมคุมคุณภาพในการผลิตบุคลากรในวิชาชีพนี้ร่วมกับ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีกไม่นาน VTAT จะมีแหล่งข่าวสารผ่านทางเวปไชด์ให้ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมกัน