เตโอตีวากาน
เตโอตีวากาน (นาวัตล์: Teōtīhuacān; "สถานที่ที่ซึ่งเทพเจ้าประสูติ"[1] หรือ "สถานที่ที่ซึ่งมนุษย์กลายเป็นเทพเจ้า")[2] หรือ เตโอติวากัน (สเปน: Teotihuacán) เป็นเมืองมีโซอเมริกาโบราณซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาย่อยแห่งหนึ่งของหุบเขาเม็กซิโก ในเขตเทศบาลซานฆวนเตโอติอัวกัน รัฐเมฮิโก ประเทศเม็กซิโก ห่างจากเม็กซิโกซิตีไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 40 กิโลเมตร (25 ไมล์) เป็นที่รู้จักกันในฐานะที่ตั้งของพีระมิดที่มีความสำคัญยิ่งทางสถาปัตยกรรมซึ่งสร้างขึ้นในทวีปอเมริกาสมัยก่อนโคลัมบัส เมื่อถึงจุดสูงสุดซึ่งอาจอยู่ในครึ่งแรกของคริสต์สหัสวรรษที่ 1 (ค.ศ. 1–500) เตโอตีวากานกลายเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาสมัยก่อนโคลัมบัสโดยมีประชากรประมาณ 125,000 คนหรือมากกว่านั้น[3][4] ซึ่งทำให้เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดอย่างน้อยเป็นอันดับที่หกของโลกในสมัยนั้น[5] แหล่งโบราณคดีในปัจจุบันได้รับการกำหนดให้เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งหนึ่งของยูเนสโกใน ค.ศ. 1987[6] และเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในเม็กซิโก โดยมีผู้เยี่ยมชม 4,185,017 คนใน ค.ศ. 2017[7]
นครสมัยก่อนอารยธรรมสเปน แห่งเตโอตีวากาน * | |
---|---|
แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก | |
พีระมิดสุริยัน | |
พิกัด | 19°41′33.0″N 98°50′38.0″W / 19.692500°N 98.843889°W |
ประเทศ | เม็กซิโก |
ภูมิภาค ** | ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน |
ประเภท | มรดกทางวัฒนธรรม |
เกณฑ์พิจารณา | (i), (ii), (iii), (iv), (vi) |
อ้างอิง | 414 |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 1987 (คณะกรรมการสมัยที่ 11) |
พื้นที่ | 250 ha (620 เอเคอร์) |
พื้นที่กันชน | 3,118.15 ha (7,705.1 เอเคอร์) |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
ตัวเมืองเตโอตีวากานมีพื้นที่ 8 ตารางไมล์ ร้อยละ 80–90 ของประชากรทั้งหมดในหุบเขาอาศัยอยู่ในเมืองนี้ นอกจากพีระมิดแล้ว เตโอตีวากานยังมีความสำคัญทางมานุษยวิทยาจากกลุ่มอาคารที่อยู่อาศัยหลายชั้นสำหรับหลายครัวเรือน[3] "ถนนของคนตาย" และจิตรกรรมฝาผนังที่มีชีวิตชีวาและได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี นอกจากนี้เตโอตีวากานยังส่งออกเครื่องมือหินออบซิเดียนคุณภาพดีซึ่งพบได้ทั่วมีโซอเมริกา คาดกันว่าเมืองนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 100 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยเริ่มต้นจากการเป็นศูนย์กลางทางศาสนาในที่สูงเม็กซิโกในช่วงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 1 จากนั้นจึงกลายเป็นศูนย์กลางที่ใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดในทวีปอเมริกาสมัยก่อนโคลัมบัส มีงานก่อสร้างสำคัญ ๆ อยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงราว ค.ศ. 250[3] เมืองนี้อาจดำรงอยู่จนกระทั่งช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึง 8 แต่สิ่งก่อสร้างสำคัญ ๆ ของเมืองถูกปล้นและเผาไปตั้งแต่ประมาณ ค.ศ. 550 การล่มสลายของเมืองยังอาจเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศรุนแรงระหว่าง ค.ศ. 535–536 ด้วย
แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าเตโอตีวากานเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิแห่งใดแห่งหนึ่งหรือไม่ แต่อิทธิพลของเตโอตีวากานทั่วทั้งมีโซอเมริกานั้นก็ได้รับการบันทึกไว้เป็นอย่างดี เราสามารถพบเห็นหลักฐานที่แสดงถึงการดำรงอยู่ของเตโอตีวากานได้ในแหล่งโบราณคดีหลายแหล่งในรัฐเบรากรุซและภูมิภาคมายา ชาวแอซเทกในสมัยหลังเห็นซากปรักหักพังอันยิ่งใหญ่เหล่านี้และอ้างว่ามีบรรพบุรุษร่วมกับชาวเตโอตีวากาน โดยดัดแปลงและนำวัฒนธรรมของพวกเขาไปประยุกต์ใช้ ชาติพันธุ์ของชาวเตโอตีวากานยังคงเป็นประเด็นอภิปราย กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นไปได้ได้แก่นาวา, โอโตมี หรือโตโตนัก นักวิชาการบางคนเสนอว่าเตโอตีวากานเป็นรัฐที่มีชนหลายชาติพันธุ์ เพราะพวกเขาพบแง่มุมทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับชาวมายาเช่นเดียวกับชาวโอโตมี–ปาเม หลังการล่มสลายของเตโอตีวากาน ตอนกลางของเม็กซิโกก็ถูกมหาอำนาจอื่น ๆ ในระดับภูมิภาคเข้าครอบงำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโชชีกัลโกและตูลา
อ้างอิง
แก้- ↑ Snow, Dean R.; Gonlin, Nancy; Siegel, Peter E. The Archaeology of Native North America.
- ↑ Reed, Alma. El remoto pasado de México. México D.F.: Editorial Diana, 1972.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 "Teotihuacan". Heilbrunn Timeline of Art History. Department of Arts of Africa, Oceania, and the Americas, The Metropolitan Museum of Art.
- ↑ Millon, p. 18.
- ↑ Millon, p. 17, who says it was the sixth-largest city in the world in 600 AD.
- ↑ Centre, UNESCO World Heritage. "Pre-Hispanic City of Teotihuacan". whc.unesco.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-02-08.
- ↑ "Estadística de Visitantes" (ภาษาสเปน). INAH. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-21. สืบค้นเมื่อ 25 March 2018.
บรรณานุกรม
แก้- Millon, René (1993). "The Place Where Time Began: An Archaeologist's Interpretation of What Happened in Teotihuacan History". ใน Berrin, Kathleen; Esther Pasztory (บ.ก.). Teotihuacan: Art from the City of the Gods. New York: Thames and Hudson. pp. 16–43. ISBN 978-0-500-23653-6. OCLC 28423003.