สามเณร
สามเณร และ สามเณรี แปลว่า เหล่ากอของสมณะ, หน่อเนื้อของสมณะ หมายถึงนักบวชชายในพระพุทธศาสนาที่มีอายุน้อย ยังมิได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ถ้าเป็นนักบวชหญิงอายุน้อยเรียกว่า สามเณรี
คำว่า สามเณร สามเณรี เป็นศัพท์เฉพาะในพระพุทธศาสนา เป็นศัพท์บัญญัติที่ใช้เรียกนักบวชในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ไม่สาธารณะทั่วไป
ผู้ที่จะบวชเป็นสามเณรสามเณรีได้นั้นทางพระวินัยกำหนดอายุอย่างต่ำไว้ประมาณ 7 ขวบซึ่งพอช่วยเหลือตัวเองได้ พระวินัยระบุว่าพอจะไล่กาไล่ไก่ได้ ส่วนสูงไม่มีกำหนดไว้ ผู้มีอายุไม่เกิน 20 ปีจะบวชเป็นสามเณรตลอดไป ไม่บวชเป็นภิกษุก็ได้
ศีลของสามเณร
แก้พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ๑๐ ของสามเณรคือ
- เว้นจากการฆ่าสัตว์
- เว้นจากลักทรัพย์
- เว้นจากประพฤติล่วงพรหมจรรย์
- เว้นจากพูดเท็จ
- เว้นจากดื่มสุราเมรัย
- เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (เที่ยงไปแล้ว)
- เว้นจากฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรีและการดูการเล่นที่เป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์
- เว้นจากทัดทรงตกแต่งประดับประดาร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องทา เครื่องย้อมผัดผิว
- เว้นจากที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ (คือเว้นจากนั่งนอนเหนือเตียงตั่งมีเท้าสูงเกินประมาณและที่นั่งที่นอนอันใหญ่มีภายในใส่นุ่นและสำลี)
- เว้นจากการรับเงินทอง
การให้สามเณรสึก
แก้สามเณรของพระอุปนนทะ ศากยบุตร ประทุษร้าย (ข่มขืน) นางภิกษุณี ภิกษุทั้งหลายติเตียน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาตให้นาสนะ (ไล่สึก) สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ คือ
- ฆ่าสัตว์
- ลักทรัพย์
- เสพเมถุน
- พูดปด
- ดื่มสุราเมรัย
- ติเตียนพระพุทธ
- ติเตียนพระธรรม
- ติเตียนพระสงฆ์
- มีความเห็นผิด
- ประทุษร้าย (ข่มขืน) นางภิกษุณี
อ้างอิง
แก้พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
ดูเพิ่ม
แก้วิกิซอร์ซมีงานที่เกี่ยวข้องกับ ประกาศห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2471