เซาดาดึ (โปรตุเกส: saudade) หรือ เซาดาเด (กาลิเซีย: saudade) คือภาวะทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งของความเศร้าโศกโหยหาอดีต สิ่งของที่ขาดหายไป หรือคนที่อยู่ห่างไกล โดยแฝงนัยว่าอาจไม่ได้พบเจอสิ่งของหรือคนที่โหยหานั้นอีกแล้ว เซาดาดึเป็นการระลึกถึงความรู้สึก ประสบการณ์ สถานที่ หรือเหตุการณ์ที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างความตื่นเต้น ความพึงพอใจ และความผาสุกซึ่งตอนนี้กระตุ้นผัสสะต่าง ๆ และทำให้รู้สึกเจ็บปวดที่ต้องพลัดพรากจากความรู้สึกรื่นเริงเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้มีภาวะเซาดาดึก็ยอมรับว่าการโหยหาอดีตจะลดทอนความตื่นเต้นหรือความสุขที่มีต่ออนาคต เซาดาดึหมายรวมถึงความสุขและความเศร้าในเวลาเดียวกัน บางครั้งจึงอาจบรรยายได้อย่างคร่าว ๆ ว่าเป็นความรู้สึก "หวานปนขม"

ภาพเขียน เซาดาดึ (ค.ศ. 1899) โดยอัลเมย์ดา ฌูนีโยร์

ตัวอย่างหนึ่งของความรุ่มรวยและความลึกซึ้งทางความหมายของเซาดาดึคือการเคลื่อนไหวทางสุนทรียศาสตร์และวรรณกรรมในโปรตุเกสช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเรียกว่า เซาดูซิชมู (saudosismo) และได้รับการส่งเสริมจากนักเขียนต่าง ๆ โดยเฉพาะไตไชรา ดึ ปัชกูไวช์ (Teixeira de Pascoaes) นักเขียนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวดังกล่าวในกาลิเซียได้แก่ บิเซนเต ริสโก (Vicente Risco), อันโตง บิลยาร์ โปนเต (Antón Villar Ponte) และมานูแวล อันตอนีโย (Manuel Antonio) เป็นต้น ผู้เข้าร่วมเซาดูซิชมูชาวโปรตุเกสและชาวกาลิเซียเคยพัฒนาความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในวารสาร นอส (Nós) จากกาลิเซีย ส่วนในบราซิล วันที่ 30 มกราคมของทุกปีถือเป็นวันระลึกถึงเซาดาดึอย่างเป็นทางการ[1][2]

อ้างอิง แก้

  1. "Portoweb - Datas Comemorativas". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 July 2011. สืบค้นเมื่อ 30 January 2010.
  2. "Dia da Saudade. Origem e curiosidades sobre o Dia da Saudade - Brasil Escola". Brasil Escola. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 February 2010. สืบค้นเมื่อ 30 January 2010.