เชค มุฮัมหมัด อับดุลเลาะห์

เชค มุฮัมหมัด อับดุลเลาะห์ (Shaikh Muhammad Abdullah;กัศมีร์: शेख़ मुहम्मद अब्‍दुल्‍ला (อักษรเทวนาครี), شيخ محمد عبدالله (อักษรอูรดู)) เป็นมุขมนตรีแห่งรัฐชัมมูและกัษมีระในอินเดียระหว่าง พ.ศ. 2520 – 2525 เขาเป็นผู้ที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของกัษมีระ แต่ก็ถึงแก่อนิจกรรมไปก่อนที่จะทำสำเร็จ

เชค มุฮัมหมัด อัลดุลเลาะห์ ขณะปราศัยเมื่อ พ.ศ. 2518

ประวัติ แก้

อับดุลเลาะห์เกิดเมื่อ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2448 ที่เมืองศรีนครในครอบครัวพ่อค้าชาวมุสลิม สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยอิสลาเมีย ในเมืองลาฮอร์ (ปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน) และจบปริญญาโททางด้านฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งเมืองอาลีการ์ อับดุลเลาะห์เริ่มเล่นการเมืองใน พ.ศ. 2474 โดยตั้งคณะกรรมาธิการแห่งกัษมีระและคัดค้านการยิงฝูงชนของตำรวจที่หน้าศาลระหว่างการพิจารณาคดีของอับดุลกาดีร์เมื่อ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2474 ทำให้ถูกจำคุกเป็นครั้งแรก

แนวคิดของอับดุลเลาะห์นั้น ไม่ต้องการแบ่งแยกผู้นับถือศาสนาฮินดูและอิสลามออกจากกัน และเห็นด้วยกับการแยกศาสนาออกจากการเมือง เมื่อจัดตั้งองค์กรมุสลิมคอนเฟอเรนซ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 ที่กัษมีระ อับดุลเลาะห์ที่เป็นหนึ่งในผู้นำขององค์กรได้นำเสนอระบบการแยกศาสนาออกจากการเมือง ทำให้องค์กรนี้เปลี่ยนชื่อเป็นคอนเฟอเรนซ์แห่งชาติใน พ.ศ. 2482 และมีความใก้ชิดกับคองเกรสแห่งชาติอินเดียที่มีนโยบายแยกศาสนาออกจากการเมืองเช่นกัน ต่อมา ใน พ.ศ. 2487 อัลดุลเลาะห์ได้ตีพิมพ์แผนก่อตั้งกัษมีระใหม่ ซึ่งประกอบด้วยรัฐธรรมนูญของรัฐและแผนเศรษฐกิจของชาติ โดยรัฐธรรมนูญเน้นให้ความเสมอภาคทางศาสนาและเชื้อชาติ ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ภาษาแห่งชาติได้แก่ ภาษาแคชเมียร์ ภาษาโดกรี ภาษาปัญจาบ ภาษาฮินดีและภาษาอูรดู โดยให้ภาษาอูรดูเป็นภาษากลางของรัฐ แผนเศรษฐกิจของชาติเน้นให้ทุกคนมีงานทำ ให้สวัสดิการแก่เด็กและผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม อับดุลเลาะห์มีความขัดแย้งกับมูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ประธานสันนิบาตมุสลิมแห่งอินเดียเพราะเขาหวังจะจัดตั้งปากีสถาน โดยมีกัษมีระเป็นส่วนหนึ่งของประเทศใหม่นี้ และกลายเป็นคู่แข่งกัน นอกจากนั้น มหาราชาหริสิงห์แห่งกัษมีระก็ไม่พอใจแผนกัษมีระใหม่ และพยายามบั่นทอนอำนาจของคอนเฟอเรนซ์แห่งชาติ อับดุลเลาะห์จึงจัดตั้งขบวนการเพื่อขับไล่ราชวงศ์ที่ปกครองกัษมีระใน พ.ศ. 2489 ทำให้เขาถูกจำคุกอีก ชาวกัษมีระที่สนับสนุนอับดุลเลาะห์ออกมาประท้วงจึงถูกปราบปรามอย่างรุนแรง อับดุลเลาะห์ถูกจำคุกอยู่ 3 ปี และมหาราชาสั่งปิดคอนเฟอเรนซ์แห่งชาติ แม้ว่าเนห์รูจะพยายามทักท้วง แต่กลับทำให้มีความแตกแยกระหว่างมุสลิมกับผู้นับถือศาสนาฮินดูมากขึ้น และอับดุลเลาะห์ถูกมองว่าเป็นฝ่ายฮินดู

หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษและให้สิทธิแก่รัฐต่างๆว่าจะเป็นอิสระหรือจะรวมเข้ากับอินเดียหรือปากีสถาน คอนเฟอเรนซ์แห่งชาติเรียกร้องให้มหาราชาสละบัลลังก์เสียก่อน ส่วนมุสลิมนั้นต้องการให้มหาราชาประกาศเอกราช จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2490 อับดุลเลาะห์และสมาชิกคอนเฟอเรนซ์แห่งชาติที่ถูกจับกุมไว้ก่อนหน้านี้ถูกปล่อยตัว ทำให้จลาจลในกัษมีระสงบลง จนกระทั่ง 22 ตุลาคม พ.ศ. 2490 ชาวปาทานได้เคลื่อนกำลังมายังศรีนคร มหาราชาจึงตัดสินใจรวมเข้ากับอินเดีย อินเดียจึงประกาศรวมกัษมีระเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียเมื่อ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2490

หลังจากนั้น อับดุลเลาะห์ได้เข้ามามีบทบาทในการเมืองกัษมีระ แต่เนื่องจากแนวคิดของเขาต้องการให้กัษมีระเป็นเอกราชจึงมีความขัดแย้งกับอินเดียจนถูกจำคุกหลายครั้ง แต่เขาก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจเดิม เขาได้เป็นมุขมนตรีรัฐชัมมูและกัษมีระใน พ.ศ. 2520 จนถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. 2525

อ้างอิง แก้

  • ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์. เชค มุฮัมหมัด อับดุลเลาะห์ ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 8-11

แหล่งข้อมูลอื่น แก้