นายเฉลิม (ล่องซี) ทองตัน หรือ "นายหัวลา" หรือ "โกลา" ชื่อเรียกติดปากของชาวภูเก็ต ผู้เป็นปูชนียบุคคลของตระกูล "ทองตัน" ตระกูลใหญ่อีกตระกูลหนึ่งของเมืองภูเก็ต และเป็นบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ต

เฉลิม ทองตัน
เทศมนตรีเทศบาลเมืองภูเก็ต
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2511 – พ.ศ. 2515
นายกสโมสรไลออนส์ภูเก็ต
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2519 – พ.ศ. 2520
นายกสมาคมอุตสาหกรรมเหมืองแร่
ดำรงตำแหน่ง
Unknown – พ.ศ. 2522
ถัดไปนายอาทร ต้องวัฒนา
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด30 มกราคม พ.ศ. 2467
จ.ภูเก็ต
เสียชีวิต7 มิถุนายน พ.ศ. 2545 (78 ปี)
ศาสนาศาสนาพุทธ
คู่สมรสนางพร้อมจิต (สอจีด) ทองตัน (แซ่หนา)

ประวัติ แก้

นายเฉลิม ทองตัน เกิดเมื่อวันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2467 ปีชวด ณ บ้านเลขที่ 21 ถนนเทพกระษัตรี ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

ปู่ชื่อ ขุนชนานิเทศ (ตันเซียวเซอะ หรือ เซียวเซอะ แซ่ตัน) ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ "ขุนชนานิเทศ" จากรัชกาลที่ 6[1] และได้ขอตั้งนามสกุลทองตัน เมื่อปีพ.ศ. 2459 ขณะดำรงตำแหน่ง กำนัน สังกัดกระทรวงมหาดไทย

ย่าชื่อ นางชนานิเทศ (นุ้ย ทองตัน)

บิดาชื่อ ขุนตันติวณิชกรรม (ตันเฉ่งเกียด ทองตัน) เป็นบุตรคนสุดท้องของขุนชนานิเทศ มีพี่ชายคนโตชื่อ หลวงชนาทรนิเทศ (ตันเฉ่งห้อ ทองตัน)[2] และพี่ชายคนกลางชื่อ ตันเฉ่งกาง ทองตัน

มารดาชื่อ นางตันติวณิชกรรม (ซุ่ยโถ แซ่อ๋อง หรือ ปรางทอง ทองตัน) (เกิดเมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2449 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2539 สิริอายุ 90 ปี)

นายเฉลิม มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา ทั้งหมด 14 คน ได้แก่

  1. นางอุดมลักษณ์ งานทวี (ถึงแก่กรรม)
  2. นายเฉลิม ทองตัน (ถึงแก่กรรม)
  3. นางทัศนีย์ งานทวี
  4. นางสุรภี สฤษดิพันธุ์
  5. นายกิตติ ทองตัน (ถึงแก่กรรม)
  6. นางดุสิดา กีรติสุทธิโสภณ (ถึงแก่กรรม)
  7. นางสาวสะอาดศรี ทองตัน
  8. นายธนา ทองตัน (ถึงแก่กรรม)
  9. นางมณีรัตน์ พงษ์นริศร
  10. นายธาตรี ทองตัน (ถึงแก่กรรม)
  11. นายธนกิจ ทองตัน (ถึงแก่กรรม)
  12. นายธีระ ทองตัน
  13. นายสมศักดิ์ ทองตัน (ถึงแก่กรรม)
  14. นายสุทัศน์ ทองตัน
  15. นายธนิต ทองตัน

เมื่อขุนตันติวณิชกรรม (บิดาของนายเฉลิม) ผู้บุกเบิกกิจการเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ต[3] ถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ. 2484 ในวัยเพียง 40 กว่าปี ทำให้นายเฉลิมซึ่งเป็นลูกชายคนโต และมีพี่น้องอีก 14 คน จำเป็นต้องหยุดการเรียนจากสหพันธ์รัฐมาลายูอย่างกะทันหัน เพื่อสานต่อกิจการต่างๆของบิดา ตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี และนายเฉลิมต้องรับภาระหน้าที่สำคัญต่างๆแทนบิดา เพื่อกอบกู้และเรียกร้องสิทธิ์ในทรัพย์สินและมรดกต่างๆอันควรได้ของบิดา และดูแลน้อง ๆ ในวัยกำลังศึกษา

นายเฉลิมเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสังคมทั้งในภาคราชการและภาคเอกชนของเมืองภูเก็ต และเคยได้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆมากมาย เคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองภูเก็ตนานถึง 5 สมัย และเป็นเทศมนตรีเทศบาลเมืองภูเก็ตหลายสมัย เป็นนายกสมาคมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ นายกสโมสรไลออนส์ภูเก็ต และยังเป็นประธานสมาคมและชมรมต่าง ๆ อีกหลายแห่ง

ในบั้นปลายชีวิต นายเฉลิม ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา โดยได้รับความไว้วางใจจากท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสวัดมงคลนิมิตร (วัดกลาง) แต่งตั้งให้เป็นกรรมการวัด ในตำแหน่ง "ไวยาวัจกร" ติดต่อกันมาหลายสมัย อีกทั้งยังเป็นประธานกรรมการ ประธานจัดงาน ของวัดต่าง ๆ อีกหลายแห่ง ในระยะหลัง นายเฉลิมเริ่มป่วย เดินไม่ค่อยสะดวก และมีอาการหายใจติดขัดด้วยเสมหะในปอดมาก นายเฉลิมได้ถึงแก่กรรมในเวลา 13:45 น. ของวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2545 รวมอายุได้ 82 ปี[4]

การศึกษา แก้

จบการศึกษาระดับไฮสคูล จากโรงเรียนเซนต์เซเวีย เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่

ตำแหน่งหน้าที่การงาน แก้

นายเฉลิมได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือสนับสนุนทางการศึกษาในพื้นที่รอบนอกที่ได้ไปประกอบการทำเหมืองอยู่ทั้งในเขตอำเภอถลาง และ อำเภอเมือง ช่วงนั้นโรงเรียนประชาบาลยังอยู่ในการดูแลของกระทรวงมหาดไทย และสำหรับในพื้นที่ตามเขตการศึกษาก็เป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะต้องมีงบสนับสนุน นายเฉลิมมีวิธีการทำงานที่ค่อนข้างจะประหยัด คือเลี่ยงความฟุ่มเฟือยในบางรูปแบบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเป้าหมายที่ตั้งไว้

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2511 นายเฉลิมเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองภูเก็ต (ปัจจุบันเรียกว่า เทศบาลนครภูเก็ต[5]) หลายสมัย จนกระทั่งรับหน้าที่เป็นเทศมนตรีฝ่ายโยธา มีส่วนร่วมผลักดันในการพัฒนาสะพานหินในระยะหลัง ท่านมีความคิดโดยใช้เครื่องจักรสูบฉีดของเหมืองแร่ และได้สละเครื่องมือต่างๆให้เทศบาลใช้โดยไม่คิดมูลค่า เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถขยายเนื้อที่ได้กว้างขวางดังที่ปรากฏอยู่ ตีเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่าสิบล้านบาทในสมัยนั้น แทนที่จะนำเรือขุดดูดทรายหรือใช้เครื่องมือต่างๆ วิธีการของท่าน ใช้เครื่องมือใช้แล้วของเหมืองแร่ โดยไม่ต้องมีการลงทุน

ช่วงที่นายเฉลิมได้ดำรงตำแหน่งเป็นเทศมนตรีเทศบาลเมืองภูเก็ตอยู่นั้น เป็นช่วงที่รัฐบาลส่วนกลางได้ปกครองโดยคณะปฏิวัติ และเป็นช่วงที่ทางเทศบาลฯเองก็ได้ประสบภาวะวิกฤตเป็นการภายในอยู่ด้วย แต่นายเฉลิมก็ยังได้ฝากผลงานหลายอย่างไว้ เช่น การปรับปรุงสวนสาธารณะ "เขารัง" การทำถนนคอนกรีตหน้าตลาดสด ถนนระนอง และบางส่วนของถนนเยาวราช เป็นต้น จึงนับได้ว่านายเฉลิมได้มีบทบาททางการเมืองท้องถิ่นในภาวะที่บ้านเมืองมีวิกฤตทางการปกครองประเทศอยู่

ในช่วงปีพ.ศ. 2537 - 2542 นายเฉลิมได้สนับสนุนงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดภูเก็ตต่างๆ เช่น มอบที่ดินให้กับสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดภูเก็ต เพื่อใช้ในการก่อสร้างทาง เป็นต้น เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและบ้านเมือง

ผลงานที่ท่านภูมิใจที่สุด ได้แก่ การจัดซื้ออาคาร 2 คูหาให้กับร้านสหกรณ์จังหวัดภูเก็ต ก่อตั้งชมรมลูกเสือชาวบ้านจังหวัดภูเก็ต และก่อตั้งสมาคมฮกเกี้ยนจังหวัดภูเก็ต

ยศ/ตำแหน่งการงาน แก้

  • เทศมนตรี ฝ่ายการโยธา เทศบาลเมืองภูเก็ต (พ.ศ. 2511 - 2515)
  • สมาชิกสภาเทศบาลเมืองภูเก็ต (พ.ศ. 2511 - 2533)
  • นายกสโมสรไลออนส์ภูเก็ต (พ.ศ. 2519 - 2520)
  • นายกสมาคมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และกรรมการผู้จัดการบริษัทเหมืองแร่ไทยนาประเสริญ จำกัด
  • ประธานผู้ก่อตั้งชมรมลูกเสือชาวบ้านจังหวัดภูเก็ต และประธานลูกเสือชาวบ้านรุ่น 958 วัดพระนางสร้าง อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
  • ประธานคณะกรรมการดำเนินการ ร้านสหกรณ์จังหวัดภูเก็ต
  • กรรมการผู้ก่อตั้งสมาคมฮกเกี้ยนจังหวัดภูเก็ต
  • อุปนายกและกรรมการที่ปรึกษา สมาคมภูเก็ตสามัคคี
  • ประธานกรรมการโครงการบ้านปรางทอง
  • ประธานกรรมการบริษัท ภูเก็ตโภคภัณฑ์ จำกัด (ศูนย์ยาคูลท์ภูเก็ต)
  • ประธานชมรมกล้วยไม้ภูเก็ต (พ.ศ. 2520)
  • กรรมการโรงเรียนพิบูลสวัสดี
  • กรรมการโรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา
  • กรรมการโรงเรียนบ้านตลาดเหนือ (พ.ศ. 2502)
  • ไวยาวัจกร วัดมงคลนิมิตร (วัดกลาง)
  • ไวยาวัจกร และประธานจัดงานประจำปี วัดไชยธาราราม (วัดฉลอง)
  • ประธานกรรมการวัดเทพนิมิตร

การสมรส และครอบครัว แก้

นายเฉลิม ทองตัน สมรสกับนางพร้อมจิต (สอจีด) ทองตัน (นามสกุลเดิม แซ่หนา) เมื่อปี พ.ศ. 2490 (ปัจจุบัน นางพร้อมจิตได้ถึงแก่กรรมแล้ว สิริอายุ 94 ปี ด้วยอาการหัวใจหยุดเต้น เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564) มีบุตรและธิดา รวมทั้งหมด 10 คน ได้แก่

  1. นายนพรัตน์ ทองตัน สมรสกับ นางจารุวรรณ ทองตัน
  2. นายเบญจรงค์ ทองตัน สมรสกับ นางกันยา ทองตัน (มีธิดา 2 คน)
  3. นายแพทย์เบ็ญจพล ทองตัน สมรสกับ นางลัดดา ทองตัน (มีธิดา 3 คน)
  4. นางขวัญ อึ่งตระกูล สมรสกับ นายวีรชัย อึ่งตระกูล (มีบุตร 2 คน ธิดา 1 คน)
  5. นายเบ็ญจพันธ์ ทองตัน สมรสกับ นางอุทัยวรรณ ทองตัน (มีธิดา 2 คน)
  6. นายเบญจวิทย์ ทองตัน สมรสกับ นางสุพัตรา ทองตัน (มีบุตร 1 คน)
  7. นางรักงาม ผลเจริญ สมรสกับ นายกรณี ผลเจริญ (มีบุตร 2 คน ธิดา 1 คน)
  8. นายคมสัน ทองตัน สมรสกับ นางวันดี เสรีดีเลิศ (มีธิดา 2 คน)
  9. นายคมกริช ทองตัน สมรสกับ นางธริสรา ทองตัน (มีบุตร 1 คน ธิดา 1 คน)
  10. นางบุณณดา เสมอมิตร สมรสกับ นายอนันต์ เสมอมิตร (มีบุตร 1 คน ธิดา 1 คน)

ครอบครัวนายเฉลิม ประกอบไปด้วยสมาชิกในครอบครัว (รุ่นลูกและหลาน) รวม 42 คน

สุสาน แก้

สุสานที่ฝังศพของนายเฉลิม อยู่ที่สุสานควนลิ้มซ้าน (ชื่อทางการ: ควนหงิมสั้น) ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จ.ภูเก็ต ตั้งอยู่ด้านขวาของสุสานของขุนตันติวณิชกรรม ไม่ไกลจากสุสานของต้นตระกูลทองตัน ขุนชนานิเทศ

ที่ด้านหน้าของสุสาน ติดแผ่นหินสลักกลอนไว้ มีใจความว่า

"นายหัว มากด้วย บารมี

เฉลิม รัตน์ดั่งรวี ส่องหล้า

ทอง ธรรมชาติเนื้อดี พิสุทธิ์ค่า

ตัน ธนบรรเจิดจ้า สถิตฟ้านิรันดร์เทอญ"

ประพันธ์โดย นายอำนวย สงวนนาม ผู้ว่าราชการจังหวัด พัทลุง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

  • พ.ศ. 2525 -   เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.) รับพระราชทาน 5 ธันวาคม พ.ศ. 2525[6]

อ้างอิง แก้

  1. "ขุนชนานิเทศ (เซียวเชอะ ทองตัน)". www.phuketcity.info.
  2. "หลวงชนาทรนิเทศ (ตันเฉ่งห้อ)". www.phuketcity.info.
  3. กิจการเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ต เก็บถาวร 2016-04-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน
  4. หนังสือที่ระลึกพิมพ์เป็นอนุสรณ์แจกในงานฌาปนกิจศพ นายเฉลิม ทองตัน ในวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2545 ณ วัดไชยธาราราม (วัดฉลอง) จ.ภูเก็ต
  5. พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 เก็บถาวร 2016-03-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน มาตรา 13
  6. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย