เจ้าจอมสว่าง ในรัชกาลที่ 5

เจ้าจอมสว่าง ในรัชกาลที่ 5 ต.จ. เกิดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2399 ปีมะโรง ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นธิดา เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง ณ นคร) มารดา คือ หม่อมราชวงศ์หญิงดาวเรือง นรินทรางกูร ( ธิดา หม่อมเจ้าจันทร์ พระโอรสใน สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงนรินทร์รณเรศ ราชสกุลวังหลัง ) มีพี่น้อง เท่าที่สามารถสืบได้ คือ

  • เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม ณ นคร)
  • พระศิริธรรมบริรักษ์ (ถัด ณ นคร) ปลัดเมืองนครศรีธรรมราช
  • พระยาบริรักษ์ภูเบศร์( เอี่ยม ณ นคร )
  • เจ้าจอมอิ่ม ในรัชกาลที่ 4
  • คุณกลาง ณ นคร
  • เจ้าจอมสว่าง ในรัชกาลที่ 5
  • หลวงอนุสรณ์สิทธิกรรม (บัว ณ นคร)
  • นายเกษ ณ นคร
  • คุณนุ้ยขลิบ ณ นคร
  • คุณนุ้ยทิม ณ นคร
เจ้าจอมสว่าง
เกิด30 มิถุนายน พ.ศ. 2399
เสียชีวิต14 มิถุนายน พ.ศ. 2485 (87 ปี)​
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บิดามารดาเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง ณ นคร)
หม่อมราชวงศ์ดาวเรือง นรินทรางกูร

ได้เข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอม ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อประมาณ พ.ศ. 2414 รับราชการสนองพระเดชพระคุณโดยความซื่อสัตย์ กอปรด้วยกตัญญูกตเวทีตลอดมา จนได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) เป็นเกียรติยศ ตั้งแต่แรกสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าฝ่ายใน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 จากนั้นท่านยังคงรับราชการเรื่อยมา จวบจนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต จึงได้กราบถวายบังคมทูลลาออกจากพระบรมมหาราชวัง มาอยู่ที่บ้านหลังวัดมหาธาตุ

ท่านเจ้าจอมสว่าง เป็นผู้มีนิสัยสุภาพ เยือกเย็น สุขุม มีความเมตตาอารีแก่บุคคลทั่วไป เป็นผู้มีศรัทธาปสาทะ ในพระพุทธศาสนามาก ได้บำเพ็ญการกุศลด้วยการบริจาคทานและรักษาศีลเป็นเนืองนิจ โดยบริจาคเงินทำการปฏิสังขรณ์ปูชนียสถานซึ่งบรรพบุรุษสร้างไว้แต่โบราณกาล ให้ถาวรมั่นคงดีขึ้น และได้สร้างขึ้นใหม่อีกก็หลายอย่าง โดยเฉพาะวัดเขาน้อย ที่ตำบลร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้บริจาคเงินสร้างเป็นส่วนมาก จนเกือบจะนับได้ว่าสร้างวัดเขาน้อยทั้งวัด ถาวรวัตถุ ตามปูชนียสถานต่าง ๆ ซึ่งเจ้าจอมสว่าง ได้ออกเงินกระทำการปฏิสังขรณ์ และสร้างใหม่ มีรายการ ดังนี้

ด้านปฏิสังขรณ์

  • พ.ศ. 2473 ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดประดู่ สิ้นเงิน 1,000 บาท
  • พ.ศ. 2474 ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและซุ้มสีมา วัดท่าโพธิ์เงิน สิ้นเงิน 9,680 บาท และทำหน้าวิหารหลวงวัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช สิ้นเงิน 4,960 บาท

ด้านการสร้างใหม่

  • หล่อพระพุทธรูป 2 องค์ สิ้นเงิน 1,125 บาท โดยองค์หนึ่ง ประดิษฐานอยู่ที่โรงเรียนชมปากคลอง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
  • สร้างกุฎีตึก 2 ชั้น ณ วัดราชาธิวาสวิหาร กรุงเทพฯ โดยรวมค่าสร้างและค่าฉลอง สิ้นเงิน 11,272 บาท
  • ได้สร้างพระเจดีย์ หล่อพระประธาน สร้างพระอุโบสถ โรงธรรมสภา กุฎีไม้ 2 ชั้น กัปปิยกุดี กำแพงแก้ว ศาลาบนเขา หอไว้รูป เขื่อนหน้าอุโบสถ และซุ้มสีมา ทั้งหมดนี้ไว้ ณ วัดเขาน้อย รวมเงินค่าก่อสร้างประมาณ 30,000 บาทเศษ กับฝากเงินให้เป็นมูลนิธิสำหรับบำรุงวัดเขาน้อยอีกเป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท

รวมเงินที่จ่ายในการปฏิสังขรณ์และสร้างใหม่นี้ เป็นจำนวนถึง 64,037 บาท

เมื่อได้กระทำการปฏิสังขรณ์ หรือสร้างถาวรวัตถุสิ่งใดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านเจ้าจอมสว่าง ก็จะออกไปจัดการฉลองประกอบการกุสล ด้วยตนเองอีกเกือบทุกคราว ซึ่งในการนี้ต้องใช้จ่ายเงินและเป็นภาระอยู่มิใช่น้อย แต่ถึงกระนั้นท่านเจ้าจอมสว่าง ก็มิได้ท้อถอยในการที่จะบำเพ็ญกุศลนั้น ๆ เลย

นอกจากนี้ยังเป็นผู้รับอุปการะพระสงฆ์เป็นประจำอยู่หลายรูป และได้เคยส่งเงินบำรุงโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คราวหนึ่งเป็นเงิน 800 บาท และบริจาคเงินสร้างโรงเรียนสตรีเบญจมราชูทิศ ด้วย นับว่าท่านเจ้าจอมสว่างเปนผู้มีใจบุญใจกุศลโดยแท้ผู้หนึ่ง.

เมื่อประมาณวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 ท่านเจ้าจอมสว่างได้ป่วยลง แพทย์ตรวจว่าเป็นโรคหัวใจพิการ ได้ทำการรักษาอย่างดีที่สุด แต่อาการมีแต่ทรงกับทรุดตลอดมา ครั้นวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2485 อาการกำเริบมากขึ้น สุดความสามารถของแพทย์จะทำการรักษาได้ ท่านเจ้าจอมสว่างจึงได้ถึงอนิจกรรมด้วยอาการอันสงบ สิริอายุได้ด้ 87 ปี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๓๗๗, ๒๖ พฤศจิกายน ๑๑๒
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๕ ตอนที่ ๓๙ หน้า ๑๑๕๔, ๒๗ ธันวาคม ๑๒๗