แคว้นเจตี (อักษรโรมัน: Chedi สันสกฤต:चेदी) เกี่ยวกับแคว้นนี้ หลักฐานต่าง ๆ มีอยู่น้อย ที่ตั้งของแคว้นก็ไม่ได้บอกไว้ให้ชัดเจน ชื่อของเมืองหลวงก็ไม่ได้รับการกล่าวถึง อย่างไรก็ตามจากหลักฐานเท่าที่มี ก็พอทำให้นักประวัติศาสตร์ และโบราณคดีลงความเห็นได้ว่า แคว้นนี้ตั้งอยู่ทางใต้ของแคว้นวังสะ และตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นกาสี ในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า บุนเดลขัณฑ์ คือดินแดนเริ่มแต่แม่น้ำยมุนา ทางทิศเหนือ จดแม่น้ำนัมมทา หรือนรมทา ทางทิศใต้ จดแม่น้ำเบตวา ทางทิศตะวันตก จดแม่น้ำโตน หรือเลยออกไปอีกจนถึงแม่น้ำโสณะ หรือโซน ทางทิศตะวันออกหรือเรียกอีกอย่างว่า ได้แก่พื้นที่ในตอนใต้ของรัฐอุตตรประเทศ กับตอนเหนือของรัฐมัธยประเทศในปัจจุบัน[1][2] ขชุราโห อันลือชื่อของอินเดีย ก็อยู่ในเขตที่เรียกว่า บุนเดลขัณฑ์นี้ อาณาเขตของแคว้นเจตีในพุทธสมัย จะครอบคลุมเนื้อที่ประมาณเท่าใด ในบริเวณดังกล่าวนี้ ยังไม่มีการลงความเห็นกันแน่นอน เป็นหนึ่งในมหาชนบท 16 แคว้น[3]

แคว้นเจตี
Chedi Kingdom

600 BCE–300 BCE
แคว้นกาสี และมหาชนบทแคว้นอื่นๆใน ยุคพระเวท ปลาย
แคว้นกาสี และมหาชนบทแคว้นอื่นๆใน ยุคพระเวท ปลาย
เมืองหลวงโสตถิยนคร
การปกครองราชาธิปไตย
ยุคประวัติศาสตร์Ancient India
• ก่อตั้ง
600 BCE
• สิ้นสุด
300 BCE
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย

ในอรรถกถา เวติยชาดก หรือ เจติยราชชาดก มีกล่าวถึงชื่อเมืองหลวงของแคว้นเจตีว่า ชื่อโสตถิวดี หรือ โสตถิยนคร แต่นั่น เป็นการกล่าวถึงเรื่องในอดีตชาติ หรืออดีตสมัย ไม่ใช่สมัยของพระพุทธองค์ ผู้รู้บางคนให้ความเห็นว่า เมืองโสตถิวดีนี้อยู่ในเขตจังหวัดบันดา ทางใต้ของรัฐอุตตรประเทศ ใกล้ ๆ กับจังหวัดอัลลฮาบาด ขณะนี้เมืองสำคัญของแคว้นเจตีอีกเมืองหนึ่ง ซึ่งปรากฏชื่อ คือเมือง สหชาติ พระพุทธองค์เคยเสด็จประทับ และแสดงพระธรรมเทศนาแก่ชาวเจตีเป็นจำนวนมากที่นี่ คราวทำทุติยสังคายนา พระยสเถระกัณฑกบุตรผู้ริเริ่มชักชวนสงฆ์ ได้ติดตามมาพบท่านพระเรวตเถระ ผู้เป็นกำลังสำคัญที่สุดองค์หนึ่งในการสังคายนาดังกล่าวที่เมืองสหชาตินี้ จากการได้พบวัตถุหลักฐานบางอย่างที่หมู่บ้าน ภีตา นอกเมืองอัลลฮาบาดไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 16 กิโลเมตร (10 ไมล์) ทำให้นักโบราณคดีมีความเห็นว่า หมู่บ้าน ดังกล่าวคือที่ตั้งเมืองสหชาติที่ซึ่งควรระบุอีกแห่งหนึ่งของแคว้นเจตีนี้ก็คือ ปาจีนวังสะทายะ หรือ ปาจีนวังสะมิคทายะ ซึ่งในอังคุตตรนิกายและวินัยปิฏกกล่าวว่า เป็นที่สำเร็จพระอรหัตของ ท่านพระอนุรุทธะ พระพุทธองค์ได้เสด็จมาเยี่ยมพระอนุรุทธะที่นี่ ก่อนที่จะเสด็จต่อไปยังป่าปาริไลยกะ ในคราวที่พระสงฆ์เมืองโกสัมพีทะเลาะกัน ดังที่จะได้กล่าวถึงข้างหน้า โอกาสนั้นได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ว่าด้วยมหาปุริสวิตก 8 ประการ แด่ท่านพระอนุรุทธะ ดังที่มีปรากฏในอนุรุทธสูตร หรือ มหาปุริสวิตักกสูตร พระอนุรุทธะได้สดับพระธรรมเทศนาแล้ว ตั้งใจบำเพ็ญเพียรต่อไป ไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตผล นอกจากที่กล่าวแล้วนี้ พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จเยี่ยมปาจีนวังสทายะนี้อีกหลายโอกาสด้วยกันป่าปาริไลยกะ เป็นชื่อหนึ่งที่เรารู้จักกันดี ดูตามระยะการเสด็จของพระพุทธองค์แล้ว ก็น่าจะเห็นว่าอยู่ในเขตเจตี แต่คงเพราะไม่มีที่บอกไว้ชัดว่าอยู่ในแคว้นใด จึงกล่าวกันว่าอยู่ในแคว้นเจตีบ้าง แคว้นวังสะบ้าง ครั้งนั้นพระพุทธองค์เสด็จจากโกสัมพีสู่พาลกโลณการาม ซึ่งกล่าวว่าอยู่ในแคว้นวังสะ จากนั้นจึงเสด็จไปปาจีนวังสทายะ แล้วเสด็จต่อไปยังปาริไลยกะ ประทับจำพรรษาที่ 10 อยู่ ณ ที่นั้นแต่พระองค์เดียว[4]

อ้างอิง แก้

  1. Raychaudhuri, Hem Chandra (1923), Political history of ancient India, from the accession of Parikshit to the extinction of the Gupta dynasty, p. 66
  2. Raychaudhuri, Hem Chandra (1923), Political history of ancient India, from the accession of Parikshit to the extinction of the Gupta dynasty, p. 66
  3. Raychaudhuri, Hem Chandra (1923), Political history of ancient India, from the accession of Parikshit to the extinction of the Gupta dynasty, p. 67
  4. มหาชนบท 16 แคว้น แคว้นสำคัญในชมพูทวีปสมัยพุทธกาล จากเว็บ vichadham.com