ฮิลเดอการ์ทแห่งวินทซ์เกา

ฮิลเดอการ์ทแห่งวินทซ์เกา (อังกฤษ: Hildegard of the Vinzgau) เป็นพระมเหสีคนที่สองของพระเจ้าชาร์เลอมาญและเป็นพระมารดาของพระเจ้าหลุยส์ผู้ศรัทธา

ต้นกำเนิด แก้

พระองค์เป็นบุตรสาวของเคานต์ชาวเจอร์แมนิก เกร็อลท์แห่งไครช์เกา กับภรรยา เอ็มมา บุตรสาวของดยุคเนบี (ฮนาบี) แห่งอาเลมันเนีย บิดาของฮิลเดอการ์ทครอบครองที่ดินมากมายในดินแดนของการ์ลอม็อง พระอนุชาของพระเจ้าชาร์เลอมาญ การแต่งงานกับฮิลเดอการ์ทจึงสำคัญอย่างมากต่อพระเจ้าชาร์เลอมาญ เพราะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งของพระองค์ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไรน์และยังดึงขุนนางของอาเลมันเนียมาอยู่ฝั่งพระองค์[1]

ชีวประวัติ แก้

ไม่มีใครรู้ว่าชาร์เลอมาญคิดเรื่องการแต่งงานครั้งนี้ก่อนหน้าที่การ์ลอม็องจะสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันหรือมันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการฮุบอาณาจักรของพระอนุชา บั่นทอนสิทธิ์ของพระภาติยะ[2] ไม่ว่าจะเพราะเหตุใด พิธีแต่งงานของชาร์เลอมาญกับฮิลเดอการ์ทก็ถูกจัดขึ้นที่แอ็กซ์-ลา-ชาแปล ก่อนวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 771 หลังจากทอดทิ้งเดซีเดราตา พระมเหสีคนเก่าซึ่งเป็นเจ้าหญิงชาวลอมบาร์ด

ความสัมพันธ์ทางกายที่ร้อนแรงของสองสามีภรรยาพิสูจน์ได้จากการที่ในช่วง 12 ปีของการแต่งงาน ฮิลเดอการ์ทตั้งครรภ์ 8 ครั้ง (หนึ่งในนั้นเป็นลูกแฝด) ไม่นับที่แท้งหรือสิ้นพระชนม์ตอนคลอด พระองค์ติดตามพระเจ้าชาร์เลอมาญไปสู้รบทางทหารหลายครั้ง ทรงให้กำเนิดพระโอรสธิดาคนที่สองซึ่งเป็นพระธิดาคนแรก คือ อาเดลาอีด ในช่วงการปิดล้อมโจมตีปาวีอา เมืองหลวงของอาณาจักรลอมบาร์ด แต่เด็กน้อยสิ้นพระชนม์ระหว่างเดินทางกลับฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 778 ฮิลเดอการ์ทติดตามพระสวามีไปไกลถึงอากีแตน ที่ซึ่งพระองค์ได้ให้กำเนิดฝาแฝด คือ หลุยส์และลอแตร์[3] ในปี ค.ศ. 780/781 พระองค์เดินทางไปโรมพร้อมกับพระเจ้าชาร์เลอมาญและพระราชบุตรสี่คน พระโอรสสองคน คือ หลุยส์และการ์ลอม็อง (ได้ชื่อใหม่ว่าเปแป็งหลังพระสันตะปาปาอาเดรียนที่ 1 ทำพิธีศีลล้างบาปให้) ได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกษัตริย์แห่งอากีแตนและอิตาลีตามลำดับ ทำให้สัมพันธไมตรีระหว่างชาวการอแล็งเฌียงกับพระสันตะปาปาแข็งแกร่งยิ่งขึ้น[4]

ฮิลเดอการ์ทสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 783 จากการคลอดพระโอรสธิดาคนสุดท้าย[5] พระองค์ถูกฝังเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมในอารามนักบุญอาร์นูลในแม็ส พระเจ้าชาร์เลอมาญมีพระประสงค์ให้จุดเทียนข้างหลุมฝังศพของพระองค์และสวดมนต์ให้กับดวงวิญญาณของพระองค์ทุกวัน[6]

อ้างอิง แก้

  1. Matthias Becher: Karl der Große, München 1999, p. 108.
  2. Martina Hartmann: Die Königin im frühen Mittelalter, Stuttgart 2009, p. 97.
  3. Martina Hartmann: Die Königin im frühen Mittelalter, Stuttgart 2009, p. 100.
  4. Wilfried Hartmann: Karl der Große, Stuttgart 2010, pp. 50-51.
  5. Pauli Gesta Episcop. Mettensium, Monumenta Germaniæ Historica Scriptorum II, p. 267.
  6. Klaus Schreiner: "Hildegardis regina". Wirklichkeit und Legende einer karolingischen Herrscherin, in: Archiv für Kulturgeschichte 57 (1975), p. 10.