ฮินจ์ (อังกฤษ: stamp hinge) เป็นกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแผ่นเล็ก ๆ พับครึ่ง และฉาบด้วยกาวบาง ๆ เป็นอุปกรณ์การสะสมแสตมป์ในสมัยก่อน ซึ่งค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยอัลบั้มแสตมป์แบบเสียบซึ่งถูกคิดค้นในเวลาต่อมา[1]

รอยฮินจ์ด้านหลังแสตมป์

อัลบั้มแสตมป์ในสมัยแรก ๆ มีลักษณะเหมือนสมุด คือ เป็นหน้ากระดาษว่าง ๆ เวลาเก็บแสตมป์ต้องติดแสตมป์บนหน้ากระดาษ การใช้ฮินจ์จะช่วยให้สามารถดึงแสตมป์ออกจากอัลบั้มได้ง่ายขึ้น กล่าวคือแทนกาวทาด้านหลังแสตมป์และแปะลงไปบนอัลบั้ม ก็นำฮินจ์ที่พับแล้วมาลูบน้ำ เอาด้านที่สั้นติดบนแสตมป์ และด้านที่ยาวติดบนอัลบั้ม ปัจจุบันไม่นิยมใช้อัลบั้มแสตมป์แบบนี้จะมีบ้างใช้ติดแสตมป์ในสมุดสำหรับจำหน่ายเป็นของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยว

ฮินจ์ในอดีตกาวของฮินจ์จะติดแน่นอยู่กับแสตมป์ สำหรับแสตมป์ใช้แล้วสามารถลอกเอาฮินจ์ออกโดยการแช่น้ำให้กาวละลายและลอกเอาฮินจ์ออกมา แต่สำหรับแสตมป์ที่ยังไม่ได้ใช้การแช่น้ำจะทำให้กาวแสตมป์ละลายออกมาด้วย จึงมักปล่อยฮินจ์ส่วนที่ติดด้านหลังแสตมป์ทิ้งไว้ แสตมป์ไม่ใช้ส่วนใหญ่รุ่นเก่า ๆ มักพบรอยฮินจ์นี้

ฮินจ์ที่มีคุณภาพดีที่ผลิดในปัจจุบันจะสามารถลอกออกจากแสตมป์และอัลบั้มโดยไม่ทำให้แสตมป์เสียหายเวลาที่ดึงแสตมป์ออกมาจากอัลบั้ม แต่อย่างไรก็ดีบนด้านหลังของแสตมป์ โดยเฉพาะแสตมป์ที่ยังไม่ใช้และมีกาวแสตมป์อยู่ครบ มักมีรอยตำหนิบาง ๆ ปรากฏให้เห็น การลอกฮินจ์ออกมาไม่ดีอาจทำให้กระดาษของแสตมป์บางส่วนหลุดลอกออกไปได้ ปัจจุบันฮินจ์ไม่เป็นที่นิยมแล้ว เนื่องจากนักสะสมต้องการแสตมป์ที่มีสภาพสมบูรณ์ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง คงมีแต่แสตมป์เก่า ๆ เท่านั้นที่ยังมีร่อยรอยฮินจ์ และแสตมป์เก่าไม่ใช้ที่มีกาวอยู่ครบและไม่มีรอยฮินจ์มักมีราคาสูงกว่าแสตมป์ปกติ ทำให้มีการปลอมแสตมป์ให้มีค่าสูงขึ้นโดยเอาแสตมป์ไปแช่น้ำลอกเอาฮินจ์ออกและฉาบกาวใหม่ลงไป เรียกว่าการทำ regum

อ้างอิง

แก้
  1. Mackay, James. Stamp Collecting: Philatelic Terms Illustrated. 4th edition. London: Stanley Gibbons, 2003, p.68. ISBN 0-85259-557-3