อักษรแอกแคด

(เปลี่ยนทางจาก อักษรอัคคาเดีย)

อักษรแอกแคด (อังกฤษ: Akkadian scripts) หลังจากชาวซูเมอร์ประดิษฐ์อักษรรูปลิ่มขึ้นใช้ อักษรแบบนี้ได้แพร่หลายไปยังกลุ่มชนใกล้เคียงเมื่อประมาณ 1,957 ปีก่อนพุทธศักราช ชาวแอกแคดที่พูดภาษาตระกูลเซมิติก และอยู่ทางเหนือของซูเมอร์ได้นำอักษรรูปลิ่มไปใช้เขียนภาษาของตน การที่ชาวแอกแคดเข้ามามีอำนาจเหนือซูเมอร์เมื่อราว 1,757 ปี ก่อนพุทธศักราชและตั้งราชวงศ์แอกแคดน กำหนดให้ภาษาแอกแคดเป็นภาษาทางการในเมโสโปเตเมีย ทำให้ภาษาซูเมอร์ค่อย ๆ ลดความสำคัญลงจนกลายเป็นภาษาตาย ส่วนภาษาแอกแคดยังใช้ต่อมาอีก 2,000 ปี โดยพัฒนามาอยู่ในรูปแบบที่เรียกภาษาบาบิโลเนียและภาษาอัสซีเรีย

ระบบอักษรพยางค์

แก้

ภาษาซูเมอร์กับภาษาแอกแคดแตกต่างกันมาก ภาษาซูเมอร์เป็นภาษารูปคำติดต่อซึ่งไม่มีการผันคำแต่ใช้การเติมปัจจัยหรืออนุภาคเข้ามาทำให้คำกลายเป็นวลีที่มีความหมายซับซ้อนขึ้น ภาษาแอกแคดเป็นภาษาที่มีการผันคำจากรากศัพท์ เพื่อสร้างคำใหม่ที่ใกล้เคียงกับคำเดิมแต่ความหมายเปลี่ยนไป โดยทั่วไป ภาษาตระกูลเซมิติก (รวมทั้งภาษาแอกแคด) รากศัพท์จะเป็นลำดับของพยัญชนะ 3 ตัว การผันคำใช้การเติมเสียงสระเข้าไประหว่างพยัญชนะ หรือโดยการลงอาคมและวิภัติปัจจัย ตัวอย่างจากภาษาอาหรับ รากศัพท์ ktb แสดงแนวคิดของการเขียน เมื่อผันคำนี้จะได้คำที่หมายถึงการเขียนมากมายเช่น /kitāb/ "หนังสือ", /kutub/ "หนังสือหลายเล่ม", /kātib/ "นักเขียน", /kataba/ "เขาเขียน" และอื่นๆ ในขณะที่ภาษาซูเมอร์ การวางรูปอักษรต่อเนื่องกันเพื่อสร้างประโยคจึงทำได้แต่ภาษาแอกแคดไม่อาจใช้วิธีเดียวกันนี้เพื่อกำหนดความหมายของคำให้ถูกต้อง เพื่อสร้างแบบการผันคำ จึงกำหนดสัญลักษณ์บางตัวใช้แสดงเสียงของคำมากกว่าความหมายจึงทำให้อักษรแอกแคดเป็นอักษรพยางค์

ในภาษาซูเมอร์ สัญลักษณ์หลายตัวเขียนต่างกันแต่แทนเสียงเดียวกัน เพราะมีคำโดดเป็นจำนวนมาก เมื่อชาวแอกแคดนำระบบของชาวซูเมอร์มาใช้ คำพ้องเสียงเหล่านี้จึงติดมาด้วย มีสัญลักษณ์สำหรับพยางค์โครงสร้าง พยัญชนะ-สระ-พยัญชนะ (CVC) อีกวิธีหนึ่งใช้การเขียนพยางค์ที่เริ่มด้วยเสียงพยัญชนะแล้วต่อด้วยพยางค์ที่ลงท้ายด้วยเสียงพยัญชนะ (Cv-VC) โดยพยางค์ทั้งสองต้องมีเสียงสระเหมือนกัน

อักษรคำและศัพท์กำหนด

แก้

อักษรคำเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนคำหรือหน่วยย่อยของภาษา ศัพท์กำหนดเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่ออกเสียงใช้แสดงความหมายโดยทั่วไปของคำที่ตามมา ทั้งอักษรคำและศัพท์กำหนดจัดเป็นกลุ่มเดียวกัน ศัพท์กำหนดเกือบทั้งหมดมาจากอักษรคำ แต่บางสัญลักษณ์อาจทำหน้าที่ได้มากกว่า 1 อย่าง

สัญลักษณ์ตัวเดียวกันอาจแสดงคำต่างกันได้ ลักษณะนี้เริ่มพบในภาษาซูเมอร์ เมื่ออักษรคำเดียวกันใช้เขียนแทนคำที่เกี่ยวข้องกันแต่ออกเสียงต่างกัน การบ่งชี้ถึงความแตกต่างนี้ บริบทของคำจะมีความสำคัญมาก วิธีการหนึ่งที่ใช้บ่งชี้คำที่อักษรนั้นอ้างถึงคือส่วนเพิ่มของเสียง เป็นสัญลักษณ์ที่บอกถึงเสียงของอักษรนั้นๆและช่วยให้ผู้อ่านจำแนกคำได้ ตัวอย่างเช่น สัญลักษณ์ AN-ú แสดงว่าเป็นคำ šamû, ไม่ใช่ Anum อีกวิธีหนึ่งคือศัพท์กำหนด เช่น ลำดับ KÁ-DINGIR-RA ตามด้วยศัพท์กำหนด KI แสดงว่านี่เป็นชื่อเมือง มีเมืองเดียวที่เขียนว่า KÁ-DINGIR-RA, คือเมืองบาบิโลน ที่จริงแล้วอักษร KÁ แสดงคำ babu ("ทางเข้า"), DINGIR หมายถึง ilum ("พระเจ้า"), และ RA แสดงการกแสดงความเป็นเจ้าของในภาษาซูเมอร์ใช้กับพระเจ้าลำดับข้างต้นจึงหมายถึง Babilum, หรือ "ทางเข้าของพระเจ้า", เทพเจ้าควรเป็นเทพมารดุคซึ่งเป็นเทพเจ้าของกรุงบาบิโลน

ด้วยธรรมชาติของการผันคำในภาษาแอกแคด อักษรคำจะแสดงรากศัพท์ของคำ เมื่อมีการผันจะเพิ่มส่วนเพิ่มของเสียงเข้าไปเพื่อแสดงคำที่ได้จากการผัน

อักษรแอกแคดเป็นระบบอักษรที่ซับซ้อนมาก สัญลักษณ์ที่ใช้มีราว 200 – 400 ตัว (ทั้งหมด 700 -800 ตัว) คำพ้องเสียงและการใช้สัญลักษณ์ที่มีหลายหน้าที่ ทำให้อักษรแอกแคดมีหลายวิธีในการสะกดเสียงเดียวกัน อักษรนี้เป็นระบบการเขียนที่สำคัญระบบหนึ่งในตะวันออกกลางยุคโบราณ ทำให้ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศาสตร์ต่าง ๆ ของเมโสโปเตเมียเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน

อ้างอิง

แก้