ออสุต พะโค

นักธุรกิจหญิงชาวมอญในกรุงศรีอยุธยา

ออสุต พะโค (อักษรโรมัน: Osoet Pegua; ค.ศ. 1615?–1658?), เจ้าสุต (Tjau Soet) หรือ ออสุต (Osoet) เป็นหญิงสามัญเชื้อสายมอญที่อาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาช่วงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เธอมีความสัมพันธ์เป็น "เมียลับ" กับพ่อค้าชาวดัตช์สามคน และมีบทบาทด้านการค้ากับบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ในสยาม โดยมีอิทธิพลจากราชสำนักฝ่ายในของกรุงศรีอยุธยาหนุนหลังเธอ

ออสุต พะโค
เกิดค.ศ. 1615
กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
เสียชีวิตค.ศ. 1658 (ราว 43 ปี)
กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
อาชีพนักธุรกิจ
คู่รักยาน ฟาน เมียร์ไวค์ (? –1633)
เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (1633–1641)
ฟาน เมาเดน (1645–1650)
บุตร4 คน

ประวัติ แก้

ชีวิตตอนต้น แก้

ออสุตเกิดในครอบครัวชาวมอญที่ต่ำต้อย ตั้งบ้านอยู่ในชุมชนวิลันดาใกล้บ้านพักของหัวหน้าสถานีการค้าและอาคารอื่น ๆ เช่น โกดังและคอกม้าของบริษัท เข้าใจว่าครอบครัวของเธอเข้ามาอาศัยที่บ้านวิลันดาเพราะหวังจะถูกจ้างงานจากบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ซึ่งตั้งอยู่ภายในหมู่บ้าน

เมียลับ แก้

ออสุตเริ่มการเป็น "ภรรยาลับ" ของยาน ฟาน เมียร์ไวค์ (ดัตช์: Jan van Meerwijck) วานิชเอกชน มีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคน ต่อมานายเมียร์ไวค์มีปัญหากับราชสำนัก กรณีที่เขายึดเรือกำปั่นหลวงของราชสำนักลำหนึ่ง โดยอ้างว่ามีขุนนางมุสลิมคนหนึ่งโกง ผลคือนายเมียร์ไวค์ต้องออกจากกรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ. 1633 ออสุตถูกจำคุก ส่วนบุตรคนชายครั้นจำเริญวัยได้เป็นพนักงานของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์

ต่อมาเมื่อเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (ดัตช์: Jeremias van Vliet) พ่อค้าชาวดัตช์ของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ เข้ามากรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ. 1633 ก็ได้ออสุตเป็นภรรยาลับ มีลูกสาวด้วยกันสามคน คนโตชื่อมาเรีย ฟาน ฟลีต (ดัตช์: Maria van Vliet) ส่วนคนหลัง ๆ ไม่ปรากฏนาม ภายหลังฟาน ฟลีตย้ายไปประจำการที่ปัตตาเวียในปี ค.ศ. 1641 ความสัมพันธ์จึงยุติลง พร้อมกับการแย่งชิงบุตร เพราะฟาน ฟลีตต้องการเลี้ยงดูบุตรเองที่ปัตตาเวีย แต่ผลคือออสุตได้ใช้อำนาจจากเครือข่ายในราชสำนัก บุตรทั้งสามของเธอที่เกิดกับฟาน ฟลีตจึงอยู่กับออสุตจนกระทั่งเธอเสียชีวิต

หลังยุติความสัมพันธ์กับฟาน ฟลีต เธอเป็นเมียลับของฟาน เมาเดน รักษาการหัวหน้าสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (ค.ศ. 1644–1689) ต่อมาได้เลื่อนเป็นหัวหน้าสถานีการค้าในปี ค.ศ. 1647 แต่ภายหลังเขาถูกย้ายไปปัตตาเวียในปี ค.ศ. 1650 เพราะปล่อยให้ออสุตบริหารงานเสียเอง หลังยุติความสมพันธ์กับฟาน เมาเดน ออสุตก็ไม่เป็นเมียลับของใครอีก

ออสุตเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1658 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มาเรีย ฟาน ฟลีต บุตรสาวได้แต่งงานกับลูกจ้างบริษัทอินเดียตะวันออกคนหนึ่งที่อยุธยา ภายหลังได้ย้ายตามสามียังเมืองปัตตาเวีย

การทำงาน แก้

จากการที่เธอเป็นเมียลับของเยเรเมียส ฟาน ฟลีตตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1633 ออสุตเริ่มมีบทบาทเป็นตัวเชื่อมระหว่างบริษัทเอเชียตะวันออกกับราชสำนักราวปี ค.ศ. 1636 เธอเริ่มมีการติดต่อกับพระมเหสีพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองผ่านนางพระกำนัล รวมทั้งยังมีความสนิทสนมกับภรรยาคนโปรดของออกญาสมบัติธิบาลผู้มีอำนาจ ผ่านการมอบของขวัญอย่างงาม แล้วพัฒนากลายเป็นเครือข่ายการค้าในราชสำนัก นอกจากนี้เธอยังมีเครือข่ายการค้ากับผู้ค้าท้องถิ่นและต่างถิ่นอย่างล้านช้าง เมื่อนายฟาน ฟลีตย้ายไปประจำการที่ปัตตาเวีย (จาการ์ตา อินโดนีเซีย) ในปี ค.ศ. 1641 ออสุตยังคงดำเนินธุรกิจส่วนตัวกับบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์กับราชสำนักต่อไป

ต่อมาเมื่อเธอเป็นเมียลับของฟาน เมาเดน ออสุตได้จัดหาสินค้าต่าง ๆ แก่บริษัทกลับมีราคาแพงกว่าท้องตลาดถึงร้อยละ 40 นายฟาน เมาเดนคงได้ส่วนต่างไปไม่น้อย จากการที่สามีปล่อยให้ออสุตได้ทำหน้าที่เปรียบดังหัวหน้าสถานีการค้าในอยุธยา จึงได้มีการร้องเรียนไปยังสำนักงานใหญ่ ส่งผู้แทนมาสอบสวน หลังจากนั้นจึงย้ายนายฟาน เมาเดนไปปัตตาเวียในปี ค.ศ. 1650 แม้บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์จะทราบถึงการทุจริตของเธอ แต่ทางบริษัทก็ไม่มีมาตรการสำหรับจัดการเธอแต่อย่างใด และไม่กล้าที่จะตัดเธอออกจากการค้าของบริษัท รวมทั้งยังรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเธอและบริษัท หลังนายฟาน เมาเดนถูกย้ายไปแล้ว ทางบริษัทยังให้หัวหน้าสถานีการอยุธยาคนใหม่เอาอกเอาใจออสุต เพราะเธอเป็นคนเดียวที่สามารถหาสินค้าผูกขาดของหลวงมาขายให้บริษัทได้ อาทิ ดีบุก งาช้าง และช้างโดยไม่ต้องอาญาแผ่นดิน ในปี ค.ศ. 1655 ออสุตส่งช้างไปให้ข้าหลวงใหญ่เมืองปัตตาเวียสองเชือก

อ้างอิง แก้