ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู)

(เปลี่ยนทางจาก ห้างขายยาอังกฤษตรางู)

ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) หรือปัจจุบันคือ กลุ่มบริษัทอังกฤษตรางู (อังกฤษ: British Dispensary Group) เป็นกลุ่มบริษัทยาและเครื่องสำอางของไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ตรางู ก่อตั้งเป็น ห้างขายยาอังกฤษตรางู ในปี 2435 โดยแพทย์ชาวตะวันตก 2 ท่าน คือ ปีเตอร์ โกแวน และโธมัส เฮย์เวิร์ด เฮส์ และต่อมาถูกซื้อกิจการโดยหมอล้วน ว่องวานิช ในปี 2471 ต่อมาธุรกิจได้เติบโตภายใต้กรรมสิทธิ์ของครอบครัวว่องวานิช

กลุ่มบริษัทอังกฤษตรางู
ประเภทบริษัทจำกัด
อุตสาหกรรมอุปโภคบริโภค
ก่อตั้งพ.ศ. 2435
ผู้ก่อตั้งโธมัส เฮย์เวิร์ด เฮส์
สำนักงานใหญ่100/105-108 อาคารว่องวานิช บี ชั้น 31 ถ.พระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10320
บุคลากรหลัก
อนุรุธ ว่องวานิช (ประธานกรรมการบริหาร)
ผลิตภัณฑ์กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล
เว็บไซต์www.britishdispensary.com

ประวัติ แก้

กำเนิด แก้

 
ห้างขายยาอังกฤษตรางู ที่ถนนเจริญกรุงมุมถนนสุรวงศ์

โธมัส เฮย์เวิร์ด เฮส์ หรือหมอเฮส์ ได้เริ่มเปิดร้านขายยาของตนเองเมื่อ พ.ศ. 2435 โดยร่วมทุนกับนายแพทย์ ปีเตอร์ กาแวน ชาวอังกฤษ ใช้ชื่อว่า British Dispensary มีสัญลักษณ์เป็นรูปงูถูกศรปักที่หัว แต่เนื่องจากเป็นชื่อร้านภาษาอังกฤษ จึงเรียกตามสัญลักษณ์ของห้างว่า ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ร้านแรกตั้งอยู่ที่ปากตรอกโรงภาษีที่ถนนเจริญกรุงมุมถนนสุรวงศ์ กิจการดําเนินมาได้ด้วยดี จนถึง พ.ศ. 2440 จึงได้ขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่งที่สี่กั๊กพระยาศรี หลังจากนั้นหมอกาแวน ผู้ร่วมหุ้นคนสำคัญมีความจำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศอังกฤษ จึงได้ขายหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมดให้แก่หมอเฮส์

จนกระทั่ง พ.ศ. 2449 หมอเฮส์ได้ขายกิจการทั้งหมดให้แก่คนปรุงยาในร้าน ชื่อ มร.แมกเบท (Mr. Mcbeth) มีการเปิดสาขาใหม่ที่หัวมุมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนสี่พระยาโดยปิดกิจการที่ร้านปากตรอกโรงภาษีลง ในยุคนั้นนอกจากผลิตยาเองแล้วยังเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเซนลุกซ์ของประเทศอังกฤษ เช่น สบู่เซนลุกซ์ น้ำมันเซนลุกซ์ รวมไปถึงน้ำมันตับปลา (Scott’s Emulsion) ยาแก้ปวดเพอร์รีเดวิส (Perry Davis’s Painkiller)

ภายใต้การบริหารของตระกูลว่องวานิช แก้

ต่อมา มร.แมกเบท เดินทางกลับประเทศของตนจึงขายกิจการทั้งหมด ตลอดจนตำรับยาต่าง ๆ พร้อมลิขสิทธิ์ในการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เซนลุกซ์ เป็นเงินทั้งสิ้น 100,000 บาท ให้กับนายล้วน ว่องวานิช ดำเนินการต่อ[1]

เมื่อ พ.ศ. 2471 โดยหมอล้วนมิได้เปลี่ยนแปลงกิจการแต่อย่างใด เพียงแต่ปรับสูตรแป้งน้ำที่ชื่อ มะโนลา เสียใหม่ ซึ่งภายหลังได้พัฒนาสูตรและเปลี่ยนชื่อมาเป็น แป้งฝุ่นเด็กเซนลุกซ์ และ แป้งเย็นปริกลีฮีทตรางู (แป้งเย็นตรางูในปัจจุบัน) แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หมอล้วนต้องประสบอุปสรรคถึงขนาดต้องเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศ เหตุเพราะหมอล้วนได้จัดส่งยาจากห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) ไปช่วยเหลือประชาชนชาวจีน ทำให้รัฐบาลขณะนั้นไม่พอใจอย่างยิ่ง เนื่องจากรัฐบาลไทยในขณะนั้นอยู่ฝ่ายเดียวกับประเทศญี่ปุ่น หมอล้วนจึงส่งบุตรชาย บุญยง ว่องวานิช เดินทางจากกฮ่องกงเข้ามายังประเทศไทย เพื่อคอยดูแลกิจการแทน และเปลี่ยนชื่อห้างเป็น ห้างขายยาตรางู ตัดคําว่า "อังกฤษ" เป็นการชั่วคราว

หลังจากหมอล้วนอาศัยอยู่ที่ฮ่องกงนาน 10 ปี จึงเดินทางกลับมายังประเทศไทย ดำเนินกิจการต่อไป โดยออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น ยาหยอดตาสว่างเนตร ยาหยดทองใช้แก้อาการท้องเสีย ยาธาตุเซนลุกซ์ ยาบำรุงโคนาโตน ยาหม่อง น้ำมันใส่ผมเปโตร[2]

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2506 ก่อตั้งบริษัท แอล.พี.แสตนดาร์ด แลบบอราทอรี่ส์ จำกัด โรงงานผลิตเวชภัณฑ์ และเครื่องสำอาง จนเมื่ออนุรุธ ว่องวานิชทายาทรุ่น 3 ที่เริ่มเข้ามาดูแลบริหารงานเมื่อ พ.ศ. 2528 ได้ขยายตลาดสินค้าใหม่ เช่น ผลิตภัณฑ์เด็กเซนลุกซ์, แชมพูเซนลุกซ์ สูตรเย็น, สบู่เย็นตรางู และวางตลาดผลิตภัณฑ์เด็กเซนลุกซ์ แป้ง สบู่ แชมพู โลชั่นเด็ก

พ.ศ. 2540 บริษัทได้ควบรวมกิจการด้านการจัดจำหน่ายและโรงงานผลิต ภายใต้ชื่อ บริษัท อังกฤษตรางู (แอล.พี.) จำกัด ทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท ดำเนิน ธุรกิจด้านการผลิต รับจ้างผลิต จัดจำหน่าย นำเข้า และส่งออก

พ.ศ. 2551 ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท ฟาร์มาคอสเม็ท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สกินแคร์ภายใต้แบรนด์ Tea Tree และ Scacare[3]

กลุ่มบริษัท แก้

จากข้อมูลในปี 2555 กลุ่มบริษัทอังกฤษตรางูประกอบไปด้วย

  • บริษัท ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) จำกัด
  • บริษัท อังกฤษตรางู (แอล.พี.) จำกัด
  • บริษัท บริทิช ดิสเพนซารี่ คอนซูมเมอร์ จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท บริทิช ดิสเพนซารี่ เฮลท์แคร์ จำกัด
  • บริษัท อังกฤษตรางู (แอล.พี.) สาย 5 จำกัด

อ้างอิง แก้

  1. "เปิดใจ 'อนุรุธ ว่องวานิช' ทายาทอังกฤษตรางู กับพันธกิจบุกตลาดเอเชีย". ฐานเศรษฐกิจ.
  2. "กำเนิด "แป้งเย็นตรางู" จากห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) เก่าแก่สมัยร.5 ถึงผู้ปรับสูตรแป้งเย็น". ศิลปวัฒนธรรม.
  3. "เปิดตำนาน "อังกฤษตรางู" ที่ยืนหยัดมาจนวันนี้ 130 ปี ผู้สร้าง "แป้งเย็น" รายแรกของโลก พร้อมยุทธศาสตร์เดินหน้า "โปรดักส์อินโนเวชั่น" สู่ผู้นำตลาดอาเซียน". ฐานเศรษฐกิจ.