หอศาสตราคม หรือ หอพระปริตร ตั้งอยู่ในกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ตรงข้ามกับพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเห็นพระที่นั่งโถง ลักษณะเดียวกับพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้รื้อพระที่นั่งองค์เดิมแล้วสร้างหอศาสตราคม เพื่อให้พระสงฆ์ฝ่ายรามัญนิกาย ทำพิธีสวดพระพุทธมนต์สัตปริตรคาถาเสกน้ำพระพุทธมนต์ สำหรับสรงพระพักต์ และ น้ำสรง ตลอดทั่งประพรมรอบพระมหามณเฑียร ในอดีตเมื่อมีการศึกสงครามได้ประกอบพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลัง เพื่อมอบเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ทหารในการรบ ด้วยเหตุนี้จึงเขียนลายเครื่องอาวุธโบราณ ไว้ที่บานประตูหน้าต่างทุกบาน

หอศาสตราคม
ข้อมูลพื้นฐาน
ที่ตั้งพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร
ศาสนาศาสนาพุทธ
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ประเทศประเทศไทย
การสร้าง
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมไทย
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นส่วนหนึ่งของพระมหามณเฑียร
เลขอ้างอิง0005574

รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 มีการสวดทำน้ำพระพุทธมนต์ถวายสรง และนิมนต์พระสงฆ์เข้าประพรมน้ำพระพุธมนต์รอบพระมหามณเฑียรทุกวัน ปัจจุบันนิมนต์พระสงฆ์สวดทำน้ำพระพุทธมนต์ และประพรมรอบพระมหามณเฑียรเฉพาะวันธรรมสวนะเท่านั้น ส่วนการถวายน้ำพระพุทธมนต์สำหรับสรง ยังคงถวายทุกวัน ตามโบราณราชประเพณี และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ครั้ง ได้แก่ 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530, 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542, 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และ 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 หอศาสตราคมแห่งนี้ ใช้ในการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำ และเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ในกรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะนำไปประกอบรัฐพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสดังกล่าว

ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นเดียว ยกพื้นสูง 1 เมตร 50 เซนติเมตร มีบันไดทางขึ้นทางด้านทิศตะวันตก หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเคลือบสี ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลงรักประดับกระจก หน้าบันเป็นไม้จำหลักลายปิดทอง รูปเทวดาประทับยืนบนแท่น หัตถ์ขวาทรงตรี หัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ มีลายกระหนกก้านขดเทพนม เป็นลายประกอบบนพื้นกระจกสี พระทวารมีซุ้มเรือนแก้วลายดอกเบญจมาศ ตัวบานเขียนลายน้ำทอง เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องประกอบพระบรมราชาอิสริยยศ พระแสงอัษฎาวุธ และพระแสงราชศัสตราวุธ ภายในแบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องทางดานทิศเหนือ เป็นห้องสำหรับทำพิธีสวดพระพุทธมนต์ มีพระประธานองค์ใหญ่ที่มีโครงสร้างภายในสานด้วยไม้ไผ่ ในรายการแฟนพันธุ์แท้ 2006 ตอน พระพุทธรูป ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2549 และ 12 พฤษภาคม 2549 ได้มีการระบุชื่อพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว มีชื่อว่า "พระพุทธปริตร" ห้องด้านทิศใต้เป็นห้องเก็บเครื่องเกี่ยวกับพิธี ...

อ้างอิง

แก้
  • สำนักพระราชวัง. พระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, พ.ศ. 2547. 331 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-8274-98-5