สำหรับหอยงวงช้างที่มีรูปร่างเหมือนหมึกผสมกับหอยฝาเดี่ยวดูที่ : หอยงวงช้าง

หอยกูอีดั๊ก
หอยกูอีดั๊กในตลาดปลาซึกิจิในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Mollusca
ชั้น: Bivalvia
อันดับ: Myoida
วงศ์: Hiatellidae
สกุล: Panopea
สปีชีส์: P.  generosa
ชื่อทวินาม
Panopea generosa
Gould, 1850

หอยกูอีดั๊ก (อังกฤษ: geoduck; หรือเรียกสั้น ๆ ว่า กูอี (Gooey) หรือ ดั๊ก (Duck)) เป็นหอยสองฝาที่พบในทะเลชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panopea generosa ในวงศ์ Hiatellidae

เป็นหอยที่มีลักษณะเด่นคือ มีเปลือกสีขาวยาวประมาณ 15–20 เซนติเมตร แต่มีจุดเด่นคือ มีท่อดูดซึ่งตอนปลายมีรู 2 รู แยกเป็นรูดูดอาหารและรูปล่อยของเสียรวมถึงสเปิร์มในตัวผู้ และไข่ในตัวเมีย ยื่นยาวออกมาจากเปลือกอย่างเห็นได้ชัด แลดูคล้ายงวงของช้าง ซึ่งอาจยาวได้ถึง 1 เมตร

หอยกูอีดั๊กจะอาศัยในทะเล โดยการฝังตัวใต้ทรายบริเวณชายฝั่งบริติชโคลัมเบียในมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา หากินโดยการกินสาหร่ายทะเลเป็นอาหาร เมื่อถูกจับขึ้นมา จะพ่นน้ำคัดหลั่งออกมาจากปลายท่อดูด

ขยายพันธุ์ด้วยการที่ตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อออกมาปฏิสนธิพร้อมกับตัวเมียที่ปล่อยไข่ออกมาได้ราวครั้งละ 10 ล้านฟอง ลูกหอยขนาดเล็กจะขุดหลุมฝังตัวใต้ทรายในระดับที่ตื้น ๆ ก่อนที่จะขุดลึกลงไปเรื่อย ๆ ตามวัยที่โตขึ้น ซึ่งอาจลึกได้ถึง 110 เมตร นอกจากนี้แล้ว หอยชนิดนี้ยังมีอายุยืนได้ถึง 146 ปี นับเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีอายุยืนที่สุดของโลก[1] โดยมีฤดูการขยายพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนมิถุนายนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำมีอุณหภูมิค่อนข้างอุ่น [2]

เป็นหอยที่นิยมบริโภคกันทั้งในสหรัฐอเมริกาหรือประเทศทางภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยนิยมทำไปเป็นซูชิในอาหารญี่ปุ่น โดยถูกเฉือนเป็นแผ่นบาง ๆ หรือปรุงเป็นอาหารจีน ซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาจีนเรียกว่า 象拔蚌 (พินอิน: Xiàng bá bàng; หอยงวงช้าง)

ปัจจุบัน หอยชนิดนี้มีการเพาะเลี้ยงเป็นอุตสาหกรรม ลูกหอยที่เพาะออกมาได้ จะถูกนำไปฝังไว้ใต้ทรายบริเวณชายหาดในท่อพลาสติก ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 5 ปี กว่าหอยจะโตเต็มวัยถึงขนาดที่จับขายได้[1]

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Panopea generosa ที่วิกิสปีชีส์