หลินปิง (จีน: 林冰; อังกฤษ: Lin Bing) เป็นแพนด้ายักษ์เพศเมียในสวนสัตว์เชียงใหม่ เกิดเมื่อวันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 จากการผสมเทียม ระหว่างช่วงช่วงและหลินฮุ่ย [1][2] นับเป็นแพนด้าตัวแรกของโลกที่เกิดในประเทศเขตศูนย์สูตร ในเดือนนอกฤดูผสมพันธุ์ของหมีแพนด้า[3]

หลินปิง
หลินปิง ถ่ายเมื่อ เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552
สปีชีส์Ailuropoda melanoleuca
สายพันธุ์แพนด้ายักษ์
เพศเมีย
เกิด27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 (14 ปี)
สวนสัตว์เชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2552–2556
เป็นที่รู้จักสำหรับทูตสันถวไมตรีไทย-จีน
เจ้าขององค์การแพนด้าแห่งประเทศจีน
พ่อแม่ช่วงช่วง (พ่อ)
หลินฮุ่ย (แม่)
ทายาท2 ตัว

หลินปิง เป็นชื่อที่ได้รับการลงคะแนนเป็นอันดับ 1 โดยคนไทย ทางจดหมายและไปรษณียบัตร ถึง 13 ล้านฉบับ จาก 4 ชื่อ (อันดับ 2 “ขวัญไทย” 3.5 ล้านฉบับ อันดับ 3 “ไทจีน” 2.5 ล้านฉบับ อันดับ 4 “หญิงหญิง” 2 ล้านฉบับ)[4]

ประวัติ แก้

ความพยายามของสัตวแพทย์ไทย แก้

 
หลินฮุ่ยและช่วงช่วง สวนสัตว์เชียงใหม่

หลังจากที่ประเทศไทยได้รับช่วงช่วงและหลินฮุ่ยในฐานะทูตสันถวไมตรีระหว่างไทยและจีน มาอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2546 องค์กรได้ทำการดูและคู่หมีแพนด้าให้มีคุณภาพที่ดีเป็นเวลา 3 ปี ทางสวนสัตว์ฯ เริ่มพยายามให้คู่แพนด้าได้มีโอกาศผสมพันธุ์เองตามธรรมชาติด้วยการทำให้สิ่งแวดล้อมภายในบริเวณที่เลี้ยงมีบรรยากาศเหมือนธรรมชาติ บริเวณด้านหลังสามารถแยกหมีให้อยู่ตัวเดียวหรือเป็นคู่ได้ ส่วนด้านจัดแสดงด้านหน้า แบ่งพื้นที่ให้ทั้งสองคิดถึงกันมากที่สุด หลินฮุ่ยแสดงอาการเป็นสัดครั้งแรกราววันที่ 16-19 มกราคม พ.ศ. 2549 โดยส่งเสียงร้องคล้ายเสียงแพะ เดินวนกระสับกระส่าย ป้ายกลิ่นตามที่ต่าง ๆ ยกหางและเดินถอยหลังเข้าหาช่วงช่วง แต่ช่วงช่วงแสดงพฤติกรรมคล้ายการขึ้นผสมพันธุ์เท่านั้น[5] แต่ก็ล้มเหลว ต้องรอลุ้นปีถัดไป ต่อมาปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 หลินฮุ่ยแสดงอาการเป็นสัดครั้งที่ 2 ทางทีมงานหากลยุทธ์หลากหลาย อย่างให้ช่วงช่วงดูวิดีโอโป๊เพื่อกระตุ้นพฤติกรรมสืบพันธุ์ ตามคำแนะนำของประเทศจีนและอื่น ๆ หรือการกั้นคอกแยกเพื่อเลียนแบบพฤติกรรมทางธรรมชาติที่มักแยกกันอยู่ตามลำพัง และเปิดให้ทั้งคู่อยู่ด้วยกันเฉพาะช่วงที่หลินฮุ่ยเป็นสัด แต่ผลก็ไม่เป็นที่น่าพอใจ

เดือนเมษายน พ.ศ. 2550 มีการรวมตัวคณะทำงานเฉพาะกิจ ที่มีทีมงานจากหลายฝ่ายทั้งทีมงานของสวนสัตว์เชียงใหม่ ทีมจากส่วนวิชาการ องค์การสวนสัตว์ ทีมงานวิจัยของโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้า ทีมงานคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ข้อมูลการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดคือข้อมูลจากห้องปฏิบัติการฮอร์โมน ที่ทำงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ต่อมาวันที่ 1 เมษายน หลินฮุ่ยตกไข่ ทีมงานปล่อยให้ช่วงช่วงเข้าผสมกับหลินฮุ่ยแต่ไม่สำเร็จ จึงดำเนินการผสมเทียมในวันถัดมา ช่วงช่วงถูกวางสลบในไม่กี่ชั่วโมง การผสมเทียมครั้งแรกนี้มีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนมาช่วยเหลือทีมงาน[6] แต่น่าเสียดายว่า หลินฮุ่ยเกิดภาวะตั้งท้องเทียม ที่เป็นเรื่องทั่วไปที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติในสัตว์หลายชนิด

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 หลังจากนั้นเริ่มเข้าฤดูผสมพันธุ์ของหลินฮุ่ยอีกครั้ง ทั้งสิ่งเปลี่ยนแปลงเรื่องระดับฮอร์โมนและพฤติกรรม ทางทีมงานร่วม 30 ชีวิตวางแผนการทำงานแบบละเอียด ทั้งแผนปฏิบัติการรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ตั้งแต่ผสมพันธุ์จนถึงคลอด หลังจากพิจารณาระดับฮอร์โมนที่ขึ้นถึงสูงสุดและเริ่มลดระดับลงอย่าฮวบฮาบ เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าหลินฮุ่นมีไข่ตกจากรังไข่แน่นอน ทางทีมงานเริ่มวางยาสลบช่วงช่วง ได้น้ำเชื้อคุณภาพเยี่ยมมากพอเพียงสำหรับการผสมเทียมถึง 2 ครั้ง จากนั้นสู่กระบวนการพาตัวอสุจิของช่วงช่วงไปเจอกับไข่ของหลินฮุ่ยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 จากนั้นเริ่มสังเกตพฤติกรรม การตรวจฮอร์โมนจากฉี่ทุกวัน หากตั้งท้องฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่รังไข่จะผลิตออกมา สองเดือนหลังวันผสมเทียม พบว่าพฤติกรรมหลินฮุ่ยเปลี่ยนไป กินอาหารมากขึ้น ท้องและเต้านมขยายใหญ่ นอนเก่งกว่าเดิม รวมทั้งผลตรวจฮอร์โมนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ[7]

เกิด แก้

 
ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีน กำลังตรวจสุขภาพให้หลินปิง

27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 หลังจากเจ้าหน้าที่สังเกตพบพฤติกรรมผิดปรกติของหลินฮุ่ยที่แสดงอาการกระวนกระวาย เดินไปมา เลียบริเวณอวัยวะเพศถี่มากขึ้นหลังเที่ยงคืนวันที่ 26 จึงติดต่อไปที่ศูนย์วิจัยแพนด้า ประเทศจีน ปรึกษาจากผู้รู้ จึงได้รับคำตอบว่า หลินฮุ่ยกำลังจะคลอด คำยืนยันทำให้ทีมงานตื่นเต้นและกระวนกระวายอย่างมาก แพนด้าน้อยคลอดออกมา โดยถูกบันทึกภาพด้วยกล้องวิดีโอของทีมงานสวนสัตว์ฯ หลังจากอุ้มท้อง 97 วัน มีน้ำหนักแรกเกิด 235 กรัม[8]

การตั้งชื่อ แก้

มีการจัดประกวดตั้งชื่อแพนด้าน้อย โดยคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ฯจะเป็นผู้รวบรวมชื่อคัดเลือกให้เหลือ เพียง 4 ชื่อ จากนั้นจะเปิดโอกาสให้ประชาชนลงคะแนนผ่านทางไปรษณียบัตร โดยหลินปิง เป็นชื่อที่ได้รับการลงคะแนนเป็นอันดับ 1 โดยคนไทย ทางจดหมายและไปรษณียบัตร ถึง 13 ล้านฉบับ จาก 4 ชื่อ (อันดับ 2 “ขวัญไทย” 3.5 ล้านฉบับ อันดับ 3 “ไทจีน” 2.5 ล้านฉบับ อันดับ 4 “หญิงหญิง” 2 ล้านฉบับ) โดยหลินปิง มีความหมายว่า ป่าเมืองหนาว หรือป่าแห่งสายน้ำปิง

ส่งกลับจีนเพื่อไปหาคู่ แก้

28 กันยายน พ.ศ. 2556 ได้มีการส่งหลินปิงไปที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้า เมืองเฉิงตู ประเทศจีน เป็นเวลา 1 ปี เพื่อให้จับคู่ผสมพันธุ์กับแพนด้าหนุ่ม[9]

ที่สุดในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 เวลา 18.33 น. หลินปิงก็ได้ตกลูกแฝดออกมาคู่หนึ่ง เป็นตัวเมียทั้งคู่ น้ำหนักประมาณ 200 กรัม หลังจับคู่ผสมพันธุ์กับแพนด้าหนุ่มหลายตัว และตั้งท้องนาน 117 วัน[10]

ในปี 2560 หลินปิง ย้ายไปอยู่หน่วยพิทักษ์เสินซู่ผิง ของศูนย์อนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติว่อหลง และได้ให้กำเนิดลูกแพนด้าแฝดอีกคู่ โดยตัวแรก นามว่า ไหไห่ ได้กำเนิดในช่วงเช้า จากนั้นในตอนบ่ายก็ได้ให้กำเนิดแพนด้าเพศผู้ นามว่า เหลาเหลา จนถึงปัจจุบัน หลินปิงกลายเป็นคุณแม่ลูก 7 เรียบร้อยแล้ว[11]

สิ่งสืบเนื่อง แก้

 
ช้างจาก วังช้างอยุธยา แล เพนียด ถูกทาสีจนมีหน้าตาละม้ายคล้ายหมีแพนด้า

นับตั้งแต่หลินปิงเกิดมา สื่อต่าง ๆ ทุกสื่อ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต่างลงหน้าหนึ่ง ออกรายการโทรทัศน์ทุกช่อง มีการถ่ายทอดสดในลักษณะเรียลลิตี้ผ่านเครือข่ายโทรทัศน์วงจรปิดในสวนสัตว์และอินเทอร์เน็ต ยังส่งผลให้การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังสถานการณ์การเมือง รายรับของสวนสัตว์เชียงใหม่หลังจากหลินปิงเกิด คาดว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น รวมมีรายได้ปีละ 208 ล้านบาท[12]

26 มิถุนายน พ.ศ. 2552 มีช้างพลาย 3 ตัวจากวังช้างอยุธยา แล เพนียด ถูกทาสีจนมีหน้าตาละม้ายคล้ายหมีแพนด้า ออกเดินเรียกร้องความสนใจจากประชาชน จนกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในเช้าวันรุ่งขึ้น "ผลพลอยได้ครั้งนี้คือ พูดในสิ่งที่คนไทยบางคนคิดอยู่ในใจออกมาดัง ๆ"[12] หรือแม้แต่สุนัขที่มีสีขนคล้ายหมีแพนด้า ของแม่ค้าขายข้าวแกงจังหวัดเชียงราย ยังถูกสื่อมวลชนนำเสนอข่าว ก่อนปิดรับไปรษณียบัตรทายชื่อแพนด้าน้อย

ต่อมามีรายการเรียลลิตี้ที่นำเสนอชีวิตครอบครัวหมีแพนด้าทั้ง “หลินปิง” ทางสื่อโทรทัศน์ในช่องทรูวิชั่นส์ตลอด 24 ชั่วโมง ในช่องแพนด้าแชนแนล เริ่มออกฉายวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552[13] และยุติการออกอากาศไปในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ด้วยสาเหตุทางงบประมาณและสิ้นสุดสัญญากับทางทรูวิชั่นส์ รวมระยะเวลาออกอากาศนานถึง 3 ปีเต็ม[14]

อ้างอิง แก้

  1. Casey, Michael (May 27, 2009). "Thai zoo surprised by panda cub birth". Associated Press.
  2. Casey, Michael (May 28, 2009). "China experts say Thailand's panda cub healthy". Associated Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-14. สืบค้นเมื่อ 2009-08-23.
  3. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์, หน้า 12
  4. วันนี้ที่รอคอย แพนด้าน้อยได้ชื่อ “หลินปิง” [ลิงก์เสีย]
  5. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์, หน้า 136
  6. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์, หน้า 137
  7. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์, หน้า 144
  8. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์, หน้า 146
  9. แห่ส่ง"หลินปิง"ไปจีนเลือกคู่[ลิงก์เสีย]
  10. หลินปิงคลอดแฝดเพศเมีย ลุ้นแม่หลินฮุ่ยป่องอีกรอบ!
  11. S, Danita (2024-04-10). "ชีวิตปัจจุบัน 'หลินปิง' แพนด้าขวัญใจชาวไทย หลังถูกส่งกลับจีน ตอนนี้เป็นแม่ลูก 7". Thaiger ข่าวไทย.
  12. 12.0 12.1 สุเจน กรรพฤทธิ์, "ปรากฏการณ์แพนด้าน้อย", นิตยสารสารคดี, สิงหาคม 2552.
  13. "สวนสัตว์เชียงใหม่จับมือ "ทรู" ถ่ายสดชีวิต "หลินปิง" 24 ชม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2009-10-27.
  14. "สวนสัตว์แจงเหตุยกเลิกถ่ายทอดแพนด้าหลินปิงเรียลลิตี้เนื่องจากหมดสัญญากับทรูวิชั่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-09. สืบค้นเมื่อ 2015-07-28.

บรรณานุกรม แก้

  • บริพัตร ศิริอรุณรัตน์, "แพนด้าน้อย หลินปิง", นิตยสารสารคดี, สิงหาคม 2552.