สุลต่านมะฮ์มุด มูซัฟฟาร์ ชะฮ์

สุลต่านมะฮ์มุดที่ 4 มูซัฟฟาร์ ชะฮ์ (มลายู: Sultan Mahmud IV Muzaffar Shah; พ.ศ. 2366 – 7 สิงหาคม พ.ศ. 2407) เอกสารไทยเรียก มะหะหมุด หรือ มะหมุด เป็นสุลต่านแห่งรีเยา-ลิงกา (หรือ สิงคา) แต่ภายหลังสุลต่านมะฮ์มุดถูกดัตช์ปลดออกจากตำแหน่ง พระองค์พยายามที่จะกลับคืนสู่บัลลังก์ด้วยการยึดครองอาณาจักรปะหังแต่ไม่ประสบความสำเร็จ

มะฮ์มุด มูซัฟฟาร์ ชะฮ์
สุลต่านแห่งรีเยา-ลิงกา
ครองราชย์พ.ศ. 2385–2400
ก่อนหน้าสุลต่านมุฮัมมัดที่ 2
ถัดไปสุลต่านซูไลมัน
ประสูติพ.ศ. 2366
กัวลาเตอเริงกานู รัฐสุลต่านตรังกานู
ถึงแก่กรรม7 สิงหาคม พ.ศ. 2407
ปากน้ำปะหัง อาณาจักรปะหัง
ราชวงศ์เบินดาฮารา
พระบิดาสุลต่านมูฮัมมัดที่ 2 มูอัซซัม ชะฮ์
พระมารดาเติงกูเกิลซุม เลอบาร์ ปูติฮ์
ศาสนาอิสลาม

พระประวัติ แก้

สุลต่านมะฮ์มุดที่ 4 มูซัฟฟาร์ ชะฮ์ เป็นพระราชโอรสในสุลต่านมูฮัมมัดที่ 2 มูอัซซัม ชะฮ์ ประสูติแต่เติงกูเกิลซุม เลอบาร์ ปูติฮ์ (หรือ ตนกูลีปอ) พระชายาพระองค์แรก และเป็นพระธิดาในสุลต่านอะฮ์มัด ชะฮ์แห่งตรังกานู (หรือ พระยาตรังกานูอามัด) สุลต่านมะฮ์มุดมีพระขนิษฐาพระองค์หนึ่งที่มีชื่อเสียงคือ เติงกูซาฟียะฮ์ (หรือ ตนกูสุเบีย) เป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1][2]

สุลต่านมะฮ์มุดขึ้นเป็นผู้สำเร็จการใน พ.ศ. 2377 และฝ่ายดัตช์ตั้งมะฮ์มุดขึ้นเสวยราชสมบัติสืบพระบิดาใน พ.ศ. 2485 โดยได้รับการสนับสนุนจากสุลต่านโอมาร์ เรียยัต ชะฮ์แห่งตรังกานู (หรือ พระยาตรังกานูอุมา) ซึ่งเป็นเครือญาติ[3] ต่อมาสุลต่านมะฮ์มุดพยายามอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนรัฐปะหังและคุกคามชาวดัตช์ ด้วยเหตุนี้เขาถึงถูกปลดออกจากบัลลังก์ โดยทางดัตช์ให้เหตุผลว่าสุลต่านมะฮ์มุดไม่เอาใจใส่ในราชการ มีแต่เล่นและเที่ยวไกล ๆ อยู่บ่อย ๆ ครอบครัวของสุลต่านมะฮ์มุดกลับหมู่เกาะลิงกาไม่ได้ จึงย้ายครอบครัวไปที่สิงคโปร์ แล้วจึงย้ายไปอยู่รัฐปะหัง และตรังกานู[4] รัฐสุลต่านรีเยา-ลิงกาจึงค่อย ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมดัตช์โดยสมบูรณ์ในเวลาต่อมา[5]

ในช่วงเวลานั้นอาณาจักรปะหัง เกิดการวิวาทกันระหว่างตุนมูตาฮีร์แห่งปะหัง (หรือ โต๊ะบันดาหรา) กับสุลต่านอะฮ์มัด มูอัซซัม (หรือ ชีหวันมะหมัด) สุลต่านมะฮ์มุดที่พยายามอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนปะหังอยู่แล้วจึงไปเข้าฝ่ายอะฮ์มัด มูอัซซัม[4] แล้วทูลขอพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้สนับสนุนตนขึ้นเป็นเจ้าเมืองปะหัง และจะเอาเมืองปะหังมาขึ้นกับกรุงเทพมหานครแทน แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธ เพราะทรงมองว่าปะหังอยู่ในอารักขาของสหราชอาณาจักร และสยามกับสหราชอาณาจักรมีไมตรีสนิทสนมกันมานาน[3] สุลต่านมะฮ์มุดเข้ามาพำนักในกรุงเทพมหานครกับครอบครัว และเดินทางกลับไปตรังกานูเพื่อหวังจะไปยึดเมืองปะหัง ตุนมูตาฮีร์จึงส่งหนังสือฟ้องผู้ว่าการเมืองสิงคโปร์ว่าสุลต่านมะฮ์มุดและอะฮ์มัด มูอัซซัมจะยึดเมืองปะหัง ผู้ว่าการเมืองสิงคโปร์จึงส่งหนังสือไปสถานกงสุลอังกฤษที่กรุงเทพมหานคร เพราะเข้าใจว่าสยามส่งเรือรบไปช่วยสุลต่านมะฮ์มุด ทำให้เมืองปะหังรบพุ่งกัน แต่ทางการสยามปฏิเสธ สหราชอาณาจักรจึงส่งเรือรบไปยิงปืนใหญ่ใส่เมืองตรังกานูในวันที่ 11–17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2405 รวมกว่า 40 นัด เพื่อกดดันให้ฝ่ายตรังกานูส่งตัวสุลต่านมะฮ์มุดแก่สหราชอาณาจักร จนมีหญิงถูกลูกปืนตายหนึ่งคน[6] หลังจากนั้นวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2406 สุลต่านมะฮ์มุดพร้อมไพร่พล 78 คน ถูกนำตัวไปกรุงเทพมหานคร[7] แต่ก็ทรงปลอมตัวเป็นกะลาสีหนีไปเมืองสิงคโปร์เพื่อลอบเข้าเมืองปะหังเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2406[8]

สุลต่านมะฮ์มุดถึงแก่กรรมเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 8 ขึ้น 5 ค่ำ ตรงกับวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2407 มีพิธีฝังตามธรรมเนียมอิสลามที่ปากน้ำปะหัง เอกสารไทยระบุว่าตายเพราะตรอมใจที่ไม่ได้เป็นเจ้าเมืองปะหัง[9] ภายหลังพระยาตรังกานูซึ่งเป็นญาติส่งหนังสือเข้าไปยังกรุงเทพมหานคร ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต นำครอบครัวของสุลต่านมะฮ์มุดที่ยังหลงเหลืออยู่ในกรุงเทพมหานครกลับคืน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดเกล้าพระราชทานให้ไป[10]

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม ในรัชกาลที่ ๑-๗, หน้า 138
  2. อ่านสยามตามแอนนา, หน้า 303
  3. 3.0 3.1 พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4, หน้า 237
  4. 4.0 4.1 พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4, หน้า 236
  5. Mahmud Muzaffar Shah
  6. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4, หน้า 280-282
  7. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4, หน้า 289
  8. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4, หน้า 300
  9. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4, หน้า 313
  10. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4, หน้า 314
บรรณานุกรม
  • กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม ในรัชกาลที่ ๑-๗. กรุงเทพฯ : ยิปซี, 2552. 288 หน้า. ISBN 978-611-7071-05-8
  • ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563. 500 หน้า. ISBN 978-616-514-661-6
  • ลีโอโนเวนส์, แอนนา แฮร์เรียต (เขียน), สุภัตรา ภูมิประภาสและสุภิดา แก้วสุขสมบัติ (แปล). อ่านสยามตามแอนนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562. 448 หน้า. ISBN 978-974-02-1660-5