สื่อส่งผ่านสัญญาณต่อเนื่อง

(เปลี่ยนทางจาก สื่อสัญญาณต่อเนื่อง)

สื่อส่งผ่านสัญญาณต่อเนื่อง (อังกฤษ: streaming media) เป็นสื่อประสมที่ผู้ใช้ขั้นปลายได้รับตามลำดับอย่างต่อเนื่องในขณะที่ผู้ให้บริการกำลังส่งมอบเนื้อหาทั้งหมดไปให้ ตัวเล่นสื่อลูกข่ายอาจเริ่มเล่นข้อมูล (เช่น ภาพยนตร์) ก่อนที่ไฟล์เนื้อหาจะถูกส่งมาทั้งหมดก็ได้ การรับ-ส่งสื่อแบบต่อเนื่องเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรับชมนอกเหนือจากการดาวน์โหลดสู่อุปกรณ์ส่วนบุคคล

คำกริยา stream ในภาษาอังกฤษหมายถึงกระบวนการส่งมอบเนื้อหาในลักษณะดังกล่าว ศัพท์นี้จึงสื่อถึงวิธีการส่งสื่อมากกว่าจะสื่อถึงลักษณะของตัวสื่อเอง การจำแนกวิธีส่งสื่อออกจากตัวสื่อที่ถูกส่งนั้นใช้โดยเฉพาะกับเครือข่ายโทรคมนาคม เนื่องจากระบบการส่งมอบข้อมูลโดยทั่วไปมีทั้งระบบที่ส่งต่อเนื่องในตัว (เช่น วิทยุ, โทรทัศน์) และระบบที่ไม่สามารถส่งต่อเนื่องได้ในตัว (เช่น หนังสือ, ตลับวีดิทัศน์, แผ่นซีดีเสียง) ตัวอย่างเช่น ในคริสต์ทศวรรษ 1930 ดนตรีลิฟต์ (elevator music) เป็นหนึ่งในบรรดาสื่อแบบส่งต่อเนื่องยุคแรกสุดที่เป็นที่นิยมกัน แต่ทุกวันนี้ โทรทัศน์อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นรูปแบบสามัญรูปแบบหนึ่งของสื่อแบบส่งต่อเนื่องไปแล้ว

ศัพท์ "สื่อแบบส่งต่อเนื่อง" สามารถใช้กับสื่ออื่น ๆ นอกเหนือจากวีดิทัศน์และข้อมูลเสียง เช่น คำบรรยายแบบซ่อนได้สด, ทิกเกอร์เทป และข้อความสด (real-time text) ซึ่งเราถือว่าทั้งหมดเป็น "ข้อความแบบส่งต่อเนื่อง" อนึ่ง วลี "แบบส่งต่อเนื่อง" ได้รับการนำมาใช้เป็นครั้งแรกในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 เนื่องจากเป็นคำอธิบายที่ดีกว่าสำหรับวีดิทัศน์ตามคำขอบนเครือข่ายไอพี โดยในขณะนั้นวีดิทัศน์รูปแบบดังกล่าวมักถูกเรียกว่า "วีดิทัศน์แบบเก็บข้อมูลแล้วส่งต่อ" (store and forward video)[1] ซึ่งเป็นการตั้งชื่อที่อาจทำให้เข้าใจผิดได้

การถ่ายทอดสดผ่านสัญญาณต่อเนื่อง (live streaming) ซึ่งสื่อถึงการส่งมอบเนื้อหาผ่านอินเทอร์เน็ตตามเวลาจริงนั้นจำเป็นต้องใช้สื่อต้นทางรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง (เช่น กล้องวีดิทัศน์, ตัวต่อประสานเสียง, ซอฟต์แวร์จับภาพหน้าจอ), ตัวเข้ารหัสเพื่อแปลงเนื้อหาเป็นดิจิทัล, ตัวจัดพิมพ์สื่อ และเครือข่ายการส่งมอบเนื้อหา (content delivery network) เพื่อแจกจ่ายและส่งเนื้อหา ตัวอย่างโปรแกรมประยุกต์ที่ใช้ในการส่งต่อเนื่องสด เช่น เฟซบุ๊กไลฟ์, บีโกไลฟ์ เป็นต้น

อ้างอิง แก้

  1. "On buffer requirements for store-and-forward video on demand service circuits". IEEE.