สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์

สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ (อังกฤษ: Niger Delta) คือบริเวณปากแม่น้ำไนเจอร์ อยู่ทางตอนใต้ของประเทศไนจีเรีย ติดกับอ่าวกินี ปกคลุมพื้นที่มากกว่า 70,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ราว 7.5% ของพื้นที่ประเทศไนจีเรียทั้งหมด[1] เป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก บางครั้งก็เรียกแถบนี้ว่า แม่น้ำน้ำมัน (Oil Rivers) เพราะในอดีตสามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้เป็นปริมาณมาก

ภาพสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์จากอวกาศ ด้านซ้ายมือคือทิศเหนือ

วิวัฒนาการของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ แก้

เป็นกระบวนการที่เริ่มมีการตกสะสมตัวของตะกอนเกิดเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ในปัจจุบัน โดยเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคพาลีโอซีนซึ่งเป็นยุคที่มีระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด บริเวณชายฝั่งอยู่ลึกเข้าไปบนบกห่างจากชายฝั่งปัจจุบันประมาณ 400 เมตร ต่อมาในยุคอีโอซีนระดับน้ำทะเลเริ่มลดลง มีการตกสะสมตัวของตะกอนเกิดเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์จนถึงปัจจุบัน

ลักษณะทั่วไปของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ แก้

สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ (Niger Delta) เป็นดินดอนสามเหลี่ยมที่เกิดจากแม่น้ำไนเจอร์ ซึ่ง นอกจากนี้ในบริเวณนี้นับว่าเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่มีแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมขนาดใหญ่อันดับ 12 ของโลกที่มีอายุในยุคเทอร์เทียรีเมื่อเทียบกับบริเวณอื่นๆ เช่น ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสสิซิปปี หรือ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมหาคาม แหล่งปิโตรเลียมบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำนี้คิดเป็นปริมาณก๊าซและน้ำมันสำรองของโลกถึง 5% [2]

 
รูปร่างลักษณะของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์

ลักษณะตะกอนบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ แก้

  • ตะกอนที่ตกสะสมตัวในบริเวณนี้เป็นตะกอนในยุคเทอร์เทียรีโดยตะกอนส่วนใหญ่นั้นถูกพัดพามาจากบริเวณบนบกโดยกระบวนการทางน้ำ ลักษณะของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะคล้าย “เท้านก (bird’s foot)” และแสดงลักษณะการตกสะสมตัวของตะกอนเป็นแบบคืบเข้าไปในทะเล [3]
  • ตั้งแต่ยุคอีโอซีนจนถึงปัจจุบัน ลักษณะการคืบของตะกอนเข้าไปในทะเลของตะกอนบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์จะเรียกว่า depobelts ซึ่งแสดงลักษณะของตะกอนในแต่ละขั้นตอนของวิวัฒนาการของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (Doust and Omatsola, 1990) ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่มีระดับน้ำทะเลลดครั้งใหญ่ซึ่งกินอาณาบริเวณถึง 300,000 กิโลเมตร และมีปริมาตรของตะกอนถึง 500,000 กิโลเมตร และมีความหนาของตะกอนมากกว่า 10 กิโลเมตรวัดจากจุดศูนย์กลาง [4]
  • ลักษณะรูปร่างของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์นี้ถูกกระทำโดยปัจจัย 3 ประการดังนี้ คือ จากทางน้ำ, จากปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง และจากคลื่น แต่ปัจจัยที่มีผลมากที่สุดคือปัจจัยที่มาจากคลื่น โดยลักษณะของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์จะเป็นลักษณะของชายหาดที่เรียบขนานไปกับทิศของกระแสคลื่นที่ขนานไปกับหน้าชายหาด[5]

วิวัฒนาการของการเกิดสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ แก้

 

  • ยุคครีเทเชียส เป็นยุคก่อนที่จะเกิดแอ่งตะกอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ ในช่วงนั้นเป็นช่วงน้ำทะเลขึ้นสูงไปยังอยู่บริเวณแอ่งตะกอนอะนันบรา (Ananbra basin) ซึ่งอยู่ขึ้นไปทางทิศเหนือของแอ่งตะกอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ประมาณ 400 เมตร ลักษณะของชายฝั่งได้ค้าเข้าหาทะเล ทำให้คลื่นชายฝั่งเคลื่อนที่เข้าหากัน ในยุคนี้ในช่วงที่ระดับน้ำทะเลขึ้นสูงมีการตกสะสมตัวของตะกอนที่มาจากน้ำขึ้น-น้ำลง ส่วนในช่วงที่ระดับน้ำทะเลลดมีการตกสะสมตัวของตะกอนที่มาจากแม่น้ำ และยังมีการตกสะสมของตะกอนจากทะเลในบริเวณนอกชายฝั่งออกไป [6]
  • ยุคพาลีโอซีน เป็นยุคที่มีน้ำทะเลขึ้นครั้งใหญ่ พวกตะกอนขนาดละเอียดตกสะสมในบริเวณทะเลน้ำตื้นซึ่งเป็นบริเวณของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ในปัจจุบัน ตะกอนขนาดละเอียดเหล่านี้ถูกพัดพามาจากบนบกและตกสะสมตัวในทะเลน้ำลึกที่มีสภาพเป็นน้ำนิ่ง มีพลังงานต่ำ และมีปริมาณแก๊สออกซิเจนต่ำ [7] ตกสะสมตัวเป็นชุดหินที่อยู่ล่างสุดของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ มีชื่อว่า ชุดหินอะกาทา (Akata formation)
  • ยุคอีโอซีน ลักษณะของชายฝั่งเริ่มโค้งเข้าหาบนบก ซึ่งทำให้คลื่นชายฝั่งมีทิศทางการเคลื่อนที่แยกออกจากกัน และในช่วงนี้ ปัจจัยโดยคลื่นเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อการเกิดรูปร่างของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ และในยุคนี้ระดับน้ำทะเลเริ่มมีการลดลง
  • ยุคอีโอซีนตอนต้น - ยุคอีโอซีนตอนกลาง มีการตกสะสมตัวของตะกอนทรายและทรายแป้ง ซึ่งเป็นตะกอนที่มาจาดบริเวณรอยต่อระหว่างบนบกและทะเล เกิดเป็นชุดหินชื่อ ชุดหินแอกบาดา (Agbada Formation) [8]
  • ยุคอีโอซีนตอนปลาย การตกตะกอนเริ่มมีการแสดงลักษณะที่คืบเข้าไปในทะเล
  • ยุคโอลิโกซีน – ยุคไมโอซีนตอนต้น การตกสะสมตัวของตะกอนที่ถูกพัดพามาจากแม่น้ำไนเจอร์เริ่มมีอิธิพลมากขึ้น และกระแสคลื่นมีการพัดพาตะกอนทรายมาตกสะสมตัว

นอกจากนี้ในยุคนี้ยังมีลักษณะการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกที่ทำให้เกิดโครงสร้างต่างๆเช่น รอยเลื่อน เกิดขึ้นด้วย ทำให้ลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาในชั้นชุดหินแอกบาดานี้ค่อนข้างมีความซับซ้อน

  • ยุคไมโอซีนตอนกลาง – ยุคไมโอซีนตอนปลาย ตะกอนจากแม่น้ำไนเจอร์เริ่มมาตกสะสมมากขึ้น ทำให้ตะกอนส่วนใหญ่ที่ตกสะสมเป็นพวกตะกอนทราย รวมทั้งตะกอนทรายที่ถูกพัดพามาโดยคลื่นอีกด้วย ชั้นตะกอนทรายเหล่านี้ได้ถูกจัดเป็นชุดหินชื่อ ชุดหินเบนิน (Benin Formation) [9]
  • ยุคไมโอซีนตอนปลาย – ปัจจุบัน การคืบไปในทะเลของสามเหลี่ยนมปากแม่น้ำไนเจอร์ค่อนข้างคงที่ และมีการตกสะสมของตะกอนในชุดหินเบนินที่หนามากขึ้น

การลำดับชั้นหินของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ แก้

 

สามเหลี่ยมแม่น้ำไนเจอร์สามารถลำดับชั้นหินได้เป็น 3 ชุดหิน คือ

  1. ชุดหินอะกาทา (Akata Formation) มีความหนาประมาณ 6400 เมตร เป็นพวกตะกอนโคลน และ ตะกอนขนาดละเอียด โดยมีทรายแทรกบ้าง โดยมีเปอร์เซนต์ของทรายที่น้อยกว่า 30 % เป็นชั้นตะกอนที่ตกสะสมตัวในสภาพแวดล้อมที่เป็นทะเลน้ำตื้น [10] และยังพบซากดึกดำบรรพที่เป็นแพลงตอนฟอรามินิเฟอรา (Foraminifera)
  2. ชุดหินแอกบาดา (Agbada Formation) มีความหนาของตะกอนประมาณ 3900 เมตร เป็นชั้นที่แทรกสลับกันของตะกอนเนื้อละเอียดและตะกอนทราย ตะกอนทรายในชั้นนี้มีปริมาณถึง 30-70% ลักษณะการตกสะสมตัวของตะกอนเป็นบริเวณสภาพแวดล้อมที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้นน้ำลง[11]
  3. ชุดหินเบนิน (Benin Formation) มีความหนาประมาณ 2500 เมตร ตะกอนส่วนใหญ่เป็นตะกอนทรายโดยมีปริมาณถึง 70-100% ตกสะสมตัวในสภาพแวดล้อมแบบบนบก จากการพัดพาตะกอของแม่น้ำไนเจอร์ [12]

อ้างอิง แก้

  1. Magbagbeola.O.A, 2005, Sequence Stratigraphy of Niger Delta, Robertkiri Field, Onshore Nigeria, Master degree thesis, Texas A&M University, 103 p.
  2. Reijers T .J .A., Petters S.W., and Nwajide C.S.,1997, African Basin : Sedimentary Basins of the World-The Niger Delta Basin, p.151-172.
  3. Magbagbeola.O.A, 2005, Sequence Stratigraphy of Niger Delta, Robertkiri Field, Onshore Nigeria, Master degree thesis, Texas A&M University, 103 p.
  4. Michele L. W. Tuttle, Ronald R. Charpentier, and Michael E. Brownfield,1999 ,The Niger Delta Petroleum System: Niger Delta Province, Nigeria, Cameroon, and Equatorial Guinea, Africa: U.S. Geological Survey Open-File Report 99-50-H < http://pubs.usgs.gov/of/1999/ofr-99-0050/OF99-50H/ChapterA.html >
  5. Magbagbeola.O.A, 2005, Sequence Stratigraphy of Niger Delta, Robertkiri Field, Onshore Nigeria, Master degree thesis, Texas A&M University, 103 p.
  6. Michele L. W. Tuttle, Ronald R. Charpentier, and Michael E. Brownfield,1999 ,The Niger Delta Petroleum System: Niger Delta Province, Nigeria, Cameroon, and Equatorial Guinea, Africa: U.S. Geological Survey Open-File Report 99-50-H < http://pubs.usgs.gov/of/1999/ofr-99-0050/OF99-50H/ChapterA.html >
  7. Stacher, P., 1995, Present understanding of the Niger Delta hydrocarbon habitat, in, Oti, M.N., and Postma, G., eds., Geology of Deltas: Rotterdam, A.A. Balkema, p. 257-267.
  8. Doust, H. and E. Omatsola, 1989, Niger Delta: American Association of Petroleum
  9. Short, K.C., and A.J. Stauble, 1967, Outline of Geology of Niger Delta: American
  10. Doust, H. and E. Omatsola, 1989, Niger Delta: American Association of Petroleum
  11. Doust, H. and E. Omatsola, 1989, Niger Delta: American Association of Petroleum
  12. Short, K.C., and A.J. Stauble, 1967, Outline of Geology of Niger Delta: American